ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“อิลราชคำฉันท์” เรื่องราวของ ท้าวอิลราช ตัวเอกที่เป็นชายหนุ่มและหญิงงามในร่างเดียว แต่งงานมีลูก ใกล้เคียงกับความเป็น “กะเทย” ในพจนานุกรม
กะเทย ในความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 และฉบับมติชน พ.ศ. 2547 เป็นคำนามหมายถึง “คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง, คนที่มีจิตใจและกิริยาตรงข้ามกับเพศของตน; ผลไม้ที่เมล็ดลีบ เช่น ลิ้นจี่กะเทย”
จากความหมายของพจนานุกรมที่ว่า คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง เป็นคำจำกัดความที่อาจพอกล่าวได้ว่าใกล้เคียงกับตัวละครในวรรณคดีไทยเรื่องหนึ่ง เป็นตัวละครเอกของเรื่องที่มีเพศสภาพชายและหญิงอยู่ในร่างเดียวกัน (แต่กรณีตัวละครนี้ อวัยวะและสรีระเปลี่ยนวนสลับกันตามระยะเวลา) แน่นอนว่าเป็นตัวละครที่แปลกและแตกต่างไปจากวรรณคดีไทยเรื่องอื่น ๆ อีกทั้งเนื้อหาของเรื่องก็พิสดารไม่แพ้วรรณคดีเรื่องดัง ๆ ของไทย เรื่องที่ว่านี้คือวรรณคดีเรื่อง “อิลราชคำฉันท์”
อิลราชคำฉันท์ เป็นวรรณคดีสันสกฤตเรื่องหนึ่ง มีที่มาจากเรื่อง รามายณะ (รามเกียรติ์) ตัวเรื่องปรากฏในไทยครั้งแรกจากหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในอุตตรกัณฑ์ ภาคที่ 14 – พิธีอัศวเมธของพระราม และรับสีดาคืนนคร ซึ่งเป็นนิทานซ้อนนิทานที่พระรามเล่าให้พระภรตและลักษณ์ฟัง ก่อนที่จะมีการนำไปแต่งขยายเป็นเรื่องราวในรูปแบบคำฉันท์ โดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) เมื่อ พ.ศ. 2456
อิลราชคำฉันท์ เป็นเรื่องราวของ ท้าวอิลราช กษัตริย์แห่งแคว้นพลหิ ที่ออกไปล่ากวางในป่าพร้อมกับเหล่าข้าราชบริพาร ได้ล่วงล้ำเข้าไปในเขตเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของ พระอิศวร และ พระอุมา ซึ่งในขณะนั้นพระอิศวรกำลังหยอกล้อกับพระอุมา โดยแปลงกายเป็นผู้หญิง และเนรมิตให้ทุกสิ่งที่อยู่ ณ บริเวณเขาไกรลาสเป็นเพศหญิงหมด รวมทั้งท้าวอิลราชและเหล่าข้าราชบริพารที่อยู่แถวนั้น ทำให้ท้าวอิลราชต้องไปขอโทษพระอิศวร เพื่อขอให้พระอิศวรถอนคำสาปกลับมาเป็นดังเดิม
ทว่าพระอิศวรไม่ให้ พระอุมา จึงให้พรครึ่งหนึ่งเฉพาะท้าวอิลราช โดยให้เดือนหนึ่งเป็นหญิงที่งดงาม แล้วกลับมาเป็นผู้ชายในเดือนต่อมาสลับกัน และในขณะที่เป็นหญิงนั้นก็จำเรื่องราวตอนเป็นผู้ชายไม่ได้ เช่นเดียวกับตอนที่กลับคืนมาเป็นผู้ชายก็จำตอนเป็นผู้หญิงไม่ได้เช่นกัน ตั้งแต่นั้นมาท้าวอิลราชก็สลับร่างกลายเป็นผู้หญิงที่ชื่อว่า นางอิลา ไปมาคนละเดือน
อย่างที่ได้กล่าวในเนื้อเรื่องตอนต้นจะเห็นได้ว่า ตัวละครเอกคือ ท้าวอิลราช เป็นตัวละครที่ถูกสาปให้เป็นผู้หญิงจากพระอิศวร และได้รับพรจากพระแม่อุมาให้กลับกลายเป็นผู้ชายได้ แต่จะกลับมาเป็นผู้หญิงในเดือนต่อมา (เป็นผู้ชายเดือนหนึ่งเป็นผู้หญิงเดือนหนึ่ง)
บ มิเป็นอิลราช วิปลาสอิลา
คณะราชบริพา- รประดาจรดล
มละเพศบุรุษ ดำริสุดจะพิกล
ยลแล้วก็ฉงน เอะประหลาดละซิเรา
ในส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ จากท้าวอิลราชที่เป็นผู้ชาย กลับกลายมาเป็นผู้หญิงที่ชื่อว่า อิลา แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาอย่างกะทันหัน และเป็นสิ่งที่ตนเองไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นผลลัพธ์จากความบังเอิญ จากการอยู่ผิดที่ผิดเวลา
อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของท้าวอิลราชเป็นนางอิลา ก็เป็นไปในแบบที่ชายชาติกษัตริย์ยอดนักรบประสบเหตุแปรเปลี่ยนเพศเป็นหญิงงามอันทรงเสน่ห์ดึงดูดเพศตรงข้าม (ในกรณีที่เป็นนางอิลา) ดูได้จากบทประพันธ์ที่ว่า
อิลาเลอพิลาสลักษณ์ กำเริบฤทธิเรรวน
พระพรหมจรรยรัญจวน จำนงแนบถนอมโฉม
ตระบัดจรประจากห้วง ละหานล่วงประลองโลม
สมรแม่เสมือนโสม สำรวยร่างสำอางองค์
บทดังกล่าวที่ยกมาเป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกของพระพุธ เมื่อได้เห็นนางอิลาขณะที่ตนนั่งบำเพ็ญพรตอยู่แถวบริเวณสระน้ำที่นางอิลาพาพวกพ้อง (อดีตคือเหล่าข้าราชบริพาร) ลงเล่นด้วยความสนุกสนาน (แน่นอนว่า อิลาเองก็อยู่ในฐานะคนความจำเสื่อมที่ไม่สามารถระลึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อครั้งเป็นท้าวอิลราชเนื่องจากพรที่ได้รับ) นั่นทำให้นางอิลาได้อยู่กินกับพระพุธ โดยที่พระพุธเองก็รู้ว่าต้นเค้าของนางอิลาคือใคร จนมีลูกด้วยกัน
อิลราชคำฉันท์ สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการความคิดของมนุษย์ว่าด้วยเรื่องเพศ ที่นำความแตกต่างทางด้านสรีระเข้ามาไว้ด้วย โดยมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวกำหนด (ในกรณีของท้าวอิลราชเป็นคำสาปที่ผสมกับพรที่ได้รับ) ซึ่งเรื่องราวของคนที่มีสองเพศในร่างเดียวกัน ไม่ได้มีแค่ในวรรณคดีไทยอย่างเรื่องอิลราชคำฉันท์เพียงอย่างเดียว
ในเทวปกรณัมของกรีกก็มีเทพ Aphroditus ผู้มีความพิเศษตรงที่มีลักษณะทางสรีระแบบเพศหญิง แต่มีส่วนหนึ่งของอวัยวะเพศชายในร่างเดียวกัน
หากเทพ Aphroditus เป็นสัญลักษณ์ของการมีลักษณะสรีระของทั้งสองเพศในร่างเดียว อิลราชคำฉันท์เองก็เป็นวรรณคดีไทยที่มีตัวละครใกล้เคียงกับลักษณะนั้นเป็นตัวเด่นเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- คำสาปแช่งในวรรณคดีไทย ที่ทำให้เกิดพระราม-ทศกัณฐ์
- “เซ็กซ์หมู่” ในลิลิตพระลอ “บทอัศจรรย์” วิจิตรกามาแห่งวรรณคดีไทย
- “นางประเเดะ” จากเรื่อง “ระเด่นลันได” งามแหวกขนบนางในวรรณคดีไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กรมศิลปากร. (2525) . อิลราชคำฉันท์และสามัคคีเภทคำฉันท์. ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก ผล ศรีสมพงษ์ ตม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
พจนานุกรม ฉบับมติชน (2547) . กรุงเทพ : มติชน.
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2563