“น้ำ” ในวรรณคดีทำให้เรื่อง “เพศ” ที่เป็นมุมปกปิด กลายเป็นเรื่องไม่ลับได้อย่างไร?

น้ำ วรรณคดี หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา ภาพจิตรกรรม วัดพระแก้ว
หนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

“น้ำ” ใน วรรณคดี ทำให้เรื่อง “เพศ” ที่เป็นมุมปกปิด กลายเป็นเรื่องไม่ลับได้อย่างไร? ทั้งในเรื่อง รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน

เมื่อกล่าวถึงน้ำ ก็จะนึกถึงสิ่งที่นำมาใช้ดื่ม ใช้ชำระล้างร่างกายให้สะอาด รวมถึงสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ให้อยู่รอด เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของการกำเนิดและการดำรงอยู่ของมนุษย์ ทั้งนี้วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับสายน้ำมาเป็นเวลานานจนกลายเป็นสัญลักษณ์ เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม อันสะท้อนให้เห็นได้จากพิธีกรรม นาฏศิลป์ ศิลปะพื้นบ้าน จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรมหรือแม้กระทั่งวรรณคดี

ใน “วรรณคดี” นอกจากกวีจะใช้น้ำเป็นส่วนประกอบในการพรรณนาถึงพิธีกรรมหรือพระราชพิธีต่างๆ แล้ว อีกนัยหนึ่งยังใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องที่มิอาจกล่าวโดยตรงได้ คือ กิจกรรมทางเพศ ซึ่งกวีจะใช้ “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศและพฤติกรรมทางเพศในบทอัศจรรย์หรือบทแสดงความรักของคู่พระนางในวรรณคดี โดยถ่ายทอดผ่านศิลปะการใช้ภาษาและชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีของไทยหลายๆเรื่อง เช่น

วรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”

เกิดพยับพยุห์พัดอัศจรรย์   สลาตันเป็นละลอกกระฉอกฉาน

ทะเลลึกดังจะล่มด้วยลมกาฬ   กระทบดานกระแทกดังกำลังแรง

สำเภาจีนเจียนจมด้วยลมซัด   สลุบลัดเลียบบังเข้าฝั่งแฝง

ไหหลำแล่นตัดแหลมแคมตะแคง   ตลบตะแลงเลาะเลียบมาตามเลา

ถึงปากน้ำแล่นส่งเข้าตรงร่อง   ให้ขัดข้องแข็งขืนไม่ใคร่เข้า

ด้วยร่องน้อยน้ำอับคับสำเภา   ขึ้นติดหลังเต่าอยู่โตงเตง

พอกำลังลมจัดพัดกระโชก   กระแทกโคกกระท้อนโขดเรือโดดเหยง

เข้าครึ่งลำหายแคลงไม่โคลงเคลง   จุ้นจู๊เกรงเรือหักค่อยยักย้าย

บทประพันธ์ข้างต้น เป็นฉากคืนแต่งงานของ พลายแก้วกับนางบัวคลี่ กวีใช้ “น้ำ” กับ “เรือ” เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการมีเพศสัมพันธ์ของตัวละคร กล่าวคือใช้ “ทะเลลึกดังจะล่มด้วยลมกาฬ” แทน “อารมณ์กำหนัดทางเพศ” ที่รุนแรง และ “ปากน้ำ” เป็นสัญลักษณ์แทนอวัยวะเพศหญิงและใช้ “เรือสำเภา” แทนอวัยวะเพศชาย

วรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์”

ว่าพลางอิงแอบแนบชิด   จุมพิตปรางเปรมนาสา

ค่อยประคองต้องเต้าสุมณฑา   วายุพัดพัดมาอึงอล

พระสมุทรตีฟองนองระลอก   คลื่นกระฉอกฟัดฝั่งกุลาหล

เมฆมัวทั่วทิศโพยมบน   ฝนสวรรค์พรอยพรมสุมาลี

อันดวงโกสุมปทุมมาลย์   ก็แบ่งบานคลี่คลายเกสรศรี

สองสมชมรสฤๅดี   ต่างเกษมเปรมปรีดิ์ทั้งสองรา ฯ

บทประพันธ์ข้างต้น ตอนหนุมานได้นางสุพรรณมัจฉา กวีได้เปรียบกิจกรรมทางเพศเป็น “พระมหาสมุทรตีฟอง” เมื่อคลื่นกระฉอก “ฝนสวรรค์” ก็พรอยพรมสุมาลี ในบทนี้กวีใช้สัญลักษณ์ฝนแทน “น้ำกาม ” และใช้ “พระมหาสมุทรตีฟองนองระลอก” แทนการขับน้ำหล่อลื่นของเพศหญิง เมื่อผู้อ่านได้รับรู้ถึงบทอัศจรรย์บทนี้  ผู้อ่านย่อมเข้าถึงความงดงามของศิลปะผ่านถ้อยค้าที่กวีได้กล่าวเปรียบไว้

วรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” 

ดังกำลังมังกรสำแดงฤทธิ์   ให้มืดมิดกลางทะเลและเวหา

ลงเล่นน้ำดำดึ่งถึงพสุธา   สะท้านกระทั่งหลังปลานอน

ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว   เมรุไกรโยกยอดจะถอดถอน

มัดติมิงกลิ่นเล่นชโลธร   คงคาคลอนคลื่นคลั่งฝั่งสินธู

บทประพันธ์ข้างต้น ตอนศรีสุวรรณได้นางเกษรา กวีใช้ “ทะเล” แทน “อวัยวะเพศหญิง”และใช้ “มังกร” “ปลามัดติมิงค์” แทน “อวัยวะเพศชาย” ใช้กริยาเพื่อสื่อพฤติกรรมทางเพศคือ “ดำดึ่งถึงพสุธา”และใช้กริยาเพื่อขยายให้เห็นถึงความรุนแรงคือ “ทวีปไหว” “เมรุไกรโยก” “คลื่นคลั่ง”

จากวรรณคดีทั้ง 3 เรื่อง ที่ยกมาข้างต้น จะสังเกตเห็นว่า กวี ใช้ “ทะเล” “ปากน้ำ” “ฝน” “มหาสมุทร” เป็นสัญลักษณ์ทางเพศขณะร่วมรสกามาของคู่พระนางในวรรณคดี ซึ่งสามารถเชื่อมโยงธรรมชาติกับอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์เข้าด้วยกัน ด้วยการใช้ “น้ำ” เป็นสัญลักษณ์แทนเรื่องที่ละเอียดอ่อนในสังคมไทย คือ เรื่องเพศ อันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกล่าวโดยตรงได้ กวีจึงต้องใช้สัญลักษณ์เพื่อทำให้ผู้อ่านรับรู้และเข้าถึงงานศิลปะที่กวีได้บรรจงสร้างขึ้น

กล่าวได้ว่า กวีสามารถใช้ธรรมชาติถ่ายทอดเรื่องเพศได้อย่างแยบยลผ่านความงามทางภาษาและวรรณศิลป์อย่างมีศิลปะ ทำให้เรื่อง “เพศ” ที่ควรปกปิด กลายเป็นเรื่องไม่ลับอีกต่อไป โดยนำเสนอผ่านพื้นที่ทางวรรณคดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


แหล่งอ้างอิง :

กัยจณ์ปภัสส์ สุวรรณวิหค. “น้ำ” ในวรรณกรรมนิทานสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่1-3). ปริญญานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558.

http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/cgi-bin/mcp/main_php/print_informed.php?id_count_inform=27050


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2561