ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2535 |
---|---|
ผู้เขียน | ภาษิต จิตรภาษา |
เผยแพร่ |
“สนทนากับเทวดา” วัตรปฏิบัติประจำวันของ “พระพุทธเจ้า” หมายถึงกิจอะไร?
“พระสมณโคดมบรมศาสดา” หรือ “พระพุทธเจ้า”เมื่อครั้งยังทรงทรมานอยู่ในโลกนั้น ท่านมีวัตรปฏิบัติประจําวันอยู่ 5 ประการ ซึ่งนักเรียนฝ่ายพุทธศาสนาเราเรียกกันว่า “พุทธกิจ”
พุทธกิจ 5 ประการนั้นมีมาในพระบาลีว่า …..
1. ปุพ.พัณเห ปิณฑปาตัญจะ
2. สายัณเห ธัมมเทสนัง
3. ปโทเส ภิกขุโอวาทัง
4. อัฑฒรัตเต เทวปัญหะนัง
5. ปัจจูเสวะ คเตกาเล ภัพพาภัพ เพ วิโลกนัง
(หมายเหตุ : ที่เขียนแบบนี้ก็เพื่อผู้ไม่สันทัดในภาษาบาลีจะได้อ่านถูก. แต่แล้วในภาษาไทยปัจจุบันก็มีปัญหาคือ พ ตัวเดียวเสือกเป็นได้ทั้งตัวสะกดและออกเสียง เช่น บุพกิจ เป็นต้น เช่นนั้นผมจึงต้องใส่จุดภาษาบาลีที่ใต้ตัว พ เข้าไปด้วยเพื่อกันอ่าน บุบ-พะ-พัน)
แปลความเป็นไทยได้ว่า
1. เวลาเช้า ออกบิณฑบาต
2. เวลาเย็น แสดงธรรม
3. เวลาค่ำ ให้โอวาทพระภิกษุสาวก
4. เวลากลางแห่งราตรี (midnight) ตอบปัญหา—หรือ สนทนากับเทวดา
5. เวลาใกล้รุ่ง ตรวจดูภัพพสัตว์ (คือผู้ที่อยู่ในวิสัยจะบรรลุธรรม) เพื่อจะได้โปรดให้พ้นทุกข์
นี่เป็นความที่แปลกันมา
ใน 4 ข้อ คือ 1, 2, 3 และ 5 นั้น ถูกต้อง, ไม่มีปัญหา แต่ในข้อที่ 4 นั้น ยังเป็นที่คลางแคลง
จริงอยู่ ตามพยัญชนะนั้นแปลได้ว่า ตอบปัญหา–หรือ สนทนากับเทวดา แต่ความโดยถ่องแท้นั้นคืออะไร. พระพุทธเจ้าสนทนาอะไร, และเทวดาคือใคร. เป็นเทวดาจริงๆ หรือ, หรือว่าเป็นเทวดาโดยสมมุติ
เทวดาในคติพุทธศานา (ขุททก นิกาย จูฬนิทเทส) นั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ :-
1. สมมติเทวะ เทวดาโดยสมมุติ
2. อุบัตติเทวะ เทวดาโดยกําเนิด
3. ปริสุทธิเทวะ เทวดาโดยความบริสุทธิ์
เท่าที่อธิบายกันมามักอธิบายกันไปว่า คือพระราชาที่ไปเฝ้าถามปัญหาพระพุทธเจ้า และขยายความต่อไปว่า ที่พระราชาไปเฝ้ากลางคืนเช่นนั้นก็เพราะ เหม็นสาบพวกสามัญชนจึงต้องหลีกไปเฝ้าในเวลากลางคืน, นี่เข้าในข้อ 1 คือ เทวดาโดยสมมติ
แต่แท้จริงแล้ว ไม่มีพระราชาพระองค์ใดไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาเที่ยงคืนเช่นนั้นเลย อนึ่ง ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า กิจนี้เป็นพุทธกิจ คือ ข้อปฏิบัติประจําวันของพระพุทธเจ้า หากจะมีพระราชาองค์ใดองค์หนึ่งแผลงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในเวลาอันไม่สมควรเช่นนั้นก็คงไม่ทุกคืน จึงตัดข้อนี้ออกไปได้
ข้อที่ 2 เทวดาโดยกำเนิด ข้อนี้เป็นเรื่องที่เชื่อยากสำหรับคนสมัยนี้ อนึ่ง เทวดาประเภทนี้แม้จะมีจริงตามคัมภีร์โบราณ แต่ก็เป็นเทวดาประเภทเป็นด้วยบุญ เมื่อสิ้นบุญแล้วก็ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ปุถุชน (ชนผู้มีกิเลส) อีก มิได้เป็นเทวดาด้วยปัญญา, จะมีปัญญาอะไรมาถามปัญหาพระพุทธเจ้า
แท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้เวลาในยามสงบตอนเที่ยงคืนขบคิดปัญหา ซึ่งพระองค์ท่านตั้งขึ้นถามพระองค์เองต่างหาก
ใครก็ตาม เมื่อได้ตั้งปัญหาถามตัวเองเสียก่อนแล้ว ก็ไม่ยากที่จะตอบปัญหาคนอื่น
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้านั้นทรงตอบปัญหาแก่เทวดาและมนุษย์ได้ทุกเมื่อ
เช่นนี้แล ท่านจึงได้สมญาว่า “เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” (สัตถา เทวมนุสสานัง)
และพระองค์ทรงเป็น ปริสุทธิเทวะ หรือไม่
นี้แลคือการสนทนากับเทวดาของพระองค์ท่าน
อ่านเพิ่มเติม :
- ไขจิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ภาพเขียนวัดในกลาง จ.เพชรบุรี
- “สูกรมัททวะ” พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า คืออะไรแน่ ?!?
- ค้นหลักฐาน “พระพุทธเจ้า” เคยเสวยพระชาติเป็น “เหี้ย”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สนทนากับเทวดา” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2535 เขียนโดย ภาษิต จิตรภาษา [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤษภาคม 2562