ศิษย์สืบสายสำนักพระยาพิชัยฯ ชกมวยเขมรตาย จนยกเลิกมวยคาดเชือก

พี่น้อง 5 เสือ ศิษย์ สำนัก ครูเมฆ อุตรดิตถ์ นักมวย มวยคาดเชือก
พี่น้องเลี้ยงประเสริฐ ด้านหน้าคือนายสอน บิดา ด้านหลังจากซ้ายไปขวาคือ พลอย, แพ, ฤทธิ์, โพล้ง และโต๊ะ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2527)

มวยคาดเชือก ในปัจจุบันเป็นที่พูดถึงและมีให้เห็นในหน้าสื่อกันบ้าง แต่หากย้อนกลับไปในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาซึ่งเป็นยุคที่มวยเริ่มเป็นกีฬาแบบในยุคปัจจุบัน มี “พี่น้อง 5 เสือ” จากสำนักท่าเสาของครูเมฆผู้สืบศิลปมวยไทยเมืองอุตรดิตถ์ มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น และหนึ่งในนั้นเคยชกมวยเขมรเสียชีวิตอันเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกมวยคาดเชือก

กีฬามวยเริ่มได้รับความนิยมนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มแข่งขันแบบอาชีพ และตั้งเวทีบ้างแล้ว พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม๊ค เศียรเสวี) จัดเปิดแข่งมวยอาชีพเป็นครั้งแรกที่สนามมวยสวนกุหลาบ (ในโรงเรียนสวนกุหลาบ) และแพร่หลายมาสู่สนามมวยแห่งอื่นๆ อาทิ สนามท่าช้าง, หลักเมือง, เสือป่า, สวนสนุก ก่อนที่จะมาถึงยุคเวทีราชดำเนิน

ยุคนั้นมีนักมวยที่หลั่งไหลเข้ามาพิสูจน์ฝีมือกับนักมวยในพระนครมากมาย นักมวยที่มีชื่อเสียงในยุคตั้งต้นกีฬามวยมีชื่อ “พี่น้อง 5 เสือ อุตรดิตถ์” จากตระกูล “เลี้ยงประเสริฐ” ซึ่งในตระกูลเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นศิษย์สืบสายสำนักพระยาพิชัยดาบหัก

ตำนานดั้งเดิมที่ชาวอุตรดิตถ์นับถือ ว่ากันว่า พระยาพิชัยฯ เป็นศิษย์สำนักมวยครูเมฆ ชื่อครูเมฆ ก็เป็นชื่อที่ภักดี สวนรัตน์ หรือ “พันเมือง” นักเขียนอาวุโสหยิบมาเขียนเป็นแนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “นายขนมต้ม” แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า นายขนมต้มเป็นศิษย์ครูเมฆจริงหรือไม่

พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว นักเขียนที่เชี่ยวชาญเรื่องหมัดมวย เขียนบทความเล่าเรื่อง 5 พี่น้องจากอุตรดิตถ์ นักมวยในตระกูล “เลี้ยงประเสริฐ” ว่ามีเรื่องเล่าสืบต่อกันในตระกูลว่า ครูเมฆเป็นครูมวยเก่าแก่ที่บ้านท่าเสา เมืองพิชัย ได้ถ่ายทอดวิชาสืบเชื้อสายกันมาถึงครูเอี่ยม และผู้สืบทอดต่อมาคือครูเอม ซึ่งเป็นผู้สอนวิชาแก่ 5 พี่น้องในฐานะหลานตาแท้ๆ ของครูเอม

พ.ต.ท. สมพงษ์ อธิบายว่า ข้อมูลนี้ได้รับจากปากคำของศิษย์สำนักบ้านท่าเสา คือนายโพล้ง และนายแพ เลี้ยงประเสริฐ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ซึ่งขณะนั้นท่านทั้งสองอยู่ในวัยชรามากแล้ว

สำหรับ 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ เริ่มปรากฏชื่อลือนามในวงการระหว่าง พ.ศ. 2465-2475 จากการเข้ามาชกสร้างชื่อในพระนคร รายนามเรียงลำดับตามพี่น้อง ได้แก่ นายโต๊ะ, นายโพล้ง, นายฤทธิ์, นายแพ และนายพลอย

ยุคที่สนามมวยในพระนครเปิดแข่งขันกันกว้างขวางเฟื่องฟู หลวงพินิจฯ (ไม่ทราบสร้อยราชทินนาม) ข้าราชการศาลเมืองสุพรรณ ไปพบนายโพล้ง นายแพ แสดงฝีมือในต่างจังหวัดหัวเมืองแล้วชื่นชอบ ชักชวนให้เข้ามาชกในกรุงเทพฯ ภายหลังขึ้นชกหลายครั้ง ทั้งสองนักมวยกลับบ้านไปชวนพี่น้องมาด้วยอีก 3 คน โดยสังกัดในความดูแลของ “คุณพ่อชลัมภ์ฯ” (นาวาเอก พระชลัมภ์พิสัยเสนีย์ร.น.)

สำหรับกรณีที่เป็นข่าวดัง คือการชกของนายแพ ที่ครั้งหนึ่งมีนักมวยเขมรเป็นแขกครัว ชื่อนายเจียร์ พระตะบอง เข้ามาท้านักชกมวยไทยชก “มวยคาดเชือก” กันแบบฉบับของมวยไทย

ภาพประกอบเนื้อหา – นายแพ เลี้ยงประเสริฐ (ซ้าย) กับ นายสมถวิล โชคอำนวย (ขวา) มวยจากสุราษฎร์ธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2564)

พ.ต.ท. สมพงษ์ อธิบายว่า นายเจียร์ เป็นนักมวยเอกฝีมือดี รูปร่างล่ำสันใหญ่โต ผิวดำ ลือชื่อเรื่องคงกระพันชาตรี ว่านยาอาคมตามแบบเขมรโบราณ และยังมีกิตติศัพท์ว่าเคยชกคนตายมาแล้ว

คุณพระชลัมภ์ฯ ที่เป็นผู้ช่วยนายสนามมวยหลักเมือง ได้ประกาศหาผู้ที่อาสาขึ้นลองฝีมือนายเจียร์ นายโพล้ง เป็นผู้อาสา แต่คุณพ่อชลัมภ์ฯ ขอให้นายแพลองชกดูก่อน

นายแพขึ้นชกกับนายเจียร์แบบคาดเชือก ที่สนามมวยหลักเมือง นายแพเป็นฝ่ายเสียเปรียบทั้งรูปร่างและน้ำหนัก ตกเป็นรองก่อนชกมาก เริ่มชกยกแรกก็มีท่าทีเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

เมื่อถึงยก 3 พี่เลี้ยงเห็นนายแพ ถูกรุกไล่ไปติดเชือกกั้นสังเวียน จึงตะโกนบอกให้นายแพ ใช้แม่ไม้ “หนุมานถวายแหวน” และเป็นจังหวะพอดีที่นายเจียร์รุกถลำเข้ามา จึงโดนชกหมัดคู่ในท่าหนุมานถวายแหวนถูกเข้าลูกกระเดือกจนชะงักอยู่กับที่

นายแพเห็นวินาทีทองก็ไม่ปล่อยผ่าน ตรงเข้าชกซ้ายขวาจนหมัดนายเจียร์ตกข้างลำตัว แล้วใช้แขนซ้ายโน้มนายเจียร์ เข้ามาพร้อมกับอัดหมัดขวาเข้าที่ลิ้นปี่แบบสุดแรง นักชกเขมรถึงกับทรุดลงกองกับพื้นเวที กรรมการนับ 10 แล้วก็ยังไม่ฟื้นสติ นายแพเป็นฝ่ายชนะน็อคในยกที่ 3 ไปได้

ขณะที่แพทย์สนามเข้ามาดูแลนายเจียร์เท่าไหร่ก็ยังไม่ฟื้น ต้องส่งโรงพยาบาล แต่นายเจียร์ได้สิ้นใจในระหว่างทาง

ข่าวการเสียชีวิตครั้งนี้เป็นข่าวใหญ่ เมื่อตำรวจและกรมการเมืองเข้าจับกุมนายแพในข้อหาฆ่าคนตาย และเอาตัวไปควบคุมรอพิจารณา และถูกคุมขัง 2-3 วัน พระยาเทพหัสดินทร์ (นายสนาม) พยายามวิ่งเต้นช่วยเหลือแก้ไขตามกระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมายเดิมมีคุ้มครองอยู่แล้ว ตามบทบัญญัติในกฎหมายตราสามดวง ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ มาตรา 117 ว่า

“มาตราหนึ่ง ชนทั้งสองมีเอกจิตนเอกฉันทมาตีมวยด้วยกันก็ดี มวยปล้ำก็ดี และผู้หนึ่งต้องเจ็บปวดก็ดี ค่นหัก ถึงแก่มรณะภาพก็ดี ท่านว่าหาโทษมิได้ อนึ่งมีผู้ยุยง ตกรางวัล ก็ดี ให้ปล้ำกันนั้น ผู้ยุหาโทษมิได้ เพราะเหตุผู้ยุนั้นจะได้มีจิตรเจตนาที่จะใคร่ให้สิ้นชีวิตหามิได้ แต่ใคร่จะดูเล่นเป็นผาสุกภาพ เป็นกำมแก่ผู้มรณะภาพเองแล”

กฎหมายข้อนี้ทำให้กรมเมืองปล่อยตัวนายแพ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นว่า มวยคาดเชือก เป็นการทารุณโหดร้ายเกินไป อาจเกิดกรณีดังกล่าวอีก จึงประกาศห้ามชกมวยแบบคาดเชือกอีกต่อไป โดยกำหนดให้สวมนวมแบบฝรั่งแทน (การชกมวยฝรั่ง หรือมวยสากลในยุคนั้นเริ่มได้รับความนิยมในไทยแล้ว) และเป็นที่ยึดถือกันมายุคหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว. 5 ใบเถาแห่งอุตรดิตถ์ ศิษย์ร่วมสำนักพระยาพิชัยฯ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 5 ฉบับที่ 11. กันยายน 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2561