ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2538 |
---|---|
ผู้เขียน | พิมุข ชาญธนะวัฒน์ |
เผยแพร่ |
ดวงจันทร์ เป็นวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับดาวดวงอื่น ๆ และจัดว่าเป็นบริวารของโลกด้วย มนุษย์ได้มีความสนใจเกี่ยวกับดวงจันทร์มาตั้งแต่สมัยอดีตกาลนานแสนนานล่วงมาแล้ว
ด้วยลักษณะเด่นของดวงจันทร์ที่มนุษย์สามารถมองเห็นเป็นดาวดวงใหญ่กว่าดาวดวงอื่น ๆ และจากการที่ดวงจันทร์จะมีลักษณะกลมใหญ่เต็มดวงส่องแสงสว่างยามค่ำคืน แล้วดวงกลมใหญ่นั้นจะค่อย ๆ เล็กลงเรื่อย ๆ พร้อมกับแสงสว่างที่จางหายไปกลายเป็นความมืดมิดที่ย่างกรายเข้ามาแทนที่
หลังจากนั้นก็จะมีดวงค่อย ๆ กลมใหญ่ขึ้นมาได้อีก มนุษย์จึงได้อาศัยระยะเวลาจากช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงไปจนกระทั่งถึงวันเต็มดวงอีกครั้งหนึ่งมากำหนดเป็นปฏิทินเดือนจันทรคติ ซึ่งจะนานประมาณ 30 วัน
เมื่อพระจันทร์เต็มดวง มนุษย์บนโลกจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเด่นกว่าดาวดวงอื่น การมองเห็นดวงจันทร์ในช่วงที่เต็มดวงนี้ เราจะสังเกตเห็นเงาดำปรากฏอยู่บนดวงจันทร์ด้วย ซึ่งมนุษย์แต่ละสังคม แต่ละวัฒนธรรมจะมีความเชื่อเกี่ยวกับดวงจันทร์ต่างกันไป
ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน พ.ศ. 2537 วันหนึ่งซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ ข้าพเจ้าอยู่บนดอยห่างไกล แสงไฟฟ้าจากตัวเมืองที่เจริญทางเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้สามารถชมดวงจันทร์ได้ชัดเจนและงดงามยิ่ง
เด็กชาวมูเซอแดงหลายคนชอบมาเล่นกับข้าพเจ้าตอนหัวค่ำหลังเลิกเรียนแล้ว เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ ข้าพเจ้าจึงได้สอนพวกเขาให้ร้องเพลงเกี่ยวกับดวงจันทร์ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุเนื้อเพลงนี้ไว้ในหลักสูตรชั้นประถมศึกษาตอนต้นด้วย เนื้อเพลงมีอยู่ว่า
มองขึ้นไปบนท้องฟ้า
เห็นดวงจันทราส่องแสงนวลใย
เมื่อมองขึ้นไป
เห็นมีกระต่ายอยู่ในดวงจันทร์
นิทานโบราณเล่า
จริงหรือเปล่า ใครช่วยตอบฉัน
บนดวงจันทร์นั้นจะมีกระต่ายจริงไหมเอ่ย
ทันทีที่ร้องจบ เด็กชายชาวมูเซอแดงคนหนึ่ง ซึ่งสามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้ดีกว่าเพื่อนในกลุ่มจึงพูดโต้เถียงขึ้นมาว่า “ครูครับ บนดวงจันทร์ไม่มีกระต่ายหรอกครับครู พ่อแม่ผมบอกว่ามีแหม่กู๊แจอยู่บนนั้น“
ด้วยความสงสัยข้าพเจ้าจึงให้เด็กช่วยกันอธิบายว่าเจ้าสิ่งที่เรียกว่าแหม่กู๊แจนั้น มันคืออะไรกันแน่ แต่ก็ไม่มีใครสามารถอธิบายคำพูดออกมาเป็นภาษาไทยได้ (คุณครูผู้สอนควรปรับปรุง) เพียงแต่พวกเขาบอกว่าแหม่กู๊แจมีอยู่ในป่าไม่ไกลจากโรงเรียนนัก
วันรุ่งขึ้นตอนเช้า ข้าพเจ้าจึงให้พวกเขาพาไปดูว่าแหม่กู๊แจที่อยู่ในป่านั้นที่แท้เป็นอะไรกันแน่ โธ่เอ๋ย ไม่ใกล้ ไม่ไกล ทำเอาคุณครูขาอ่อน เหงื่อท่วมตัวเชียวนะ เมื่อไปถึง ข้าพเจ้าจึงได้เห็นว่าที่แท้ก็คือต้นไม่ชนิดหนึ่ง ซึ่งภาษาไทใหญ่เรียกกันว่าไม้ฮุง คนไทยภาคกลางเรียกว่า ต้นไทร นั่นเอง
นอกจากนี้ ผู้เฒ่าชาวมูเซอแดงยังบอกข้าพเจ้าว่า บรรพบุรุษชาวมูเซอแดงเชื่อกันว่าบนดวงจันทร์นั้นมีต้นไทรใหญ่แผ่กิ่งก้านใบสาขาอยู่ และมีบ่อน้ำวิเศษอยู่บนนั้นด้วย
ถ้าใครได้ดื่มกินจะมีชีวิตนิรันดร สัตว์ที่มีโอกาสได้ดื่มกินน้ำวิเศษนี้คือเจ้านกอินทรี หรือนกเหยี่ยวนั่นเอง ทั้งนี้เพราะมันสามารถบินได้สูงเสียดฟ้าเหนือสัตว์ทั่วไป (ปัจจุบันมันคงยอมแพ้มนุษย์อย่างราบคาบแล้ว เพราะมนุษย์ทำเครื่องบินขี่ลอยได้สูงเหนือมันอีก)
ความเหนื่อยจากวันที่ไปเดินป่าหาเจ้าสิ่งที่เรียกว่าแหม่กู๊แจนั้น ทำให้จับไข้เลยทีเดียว หลังกินยาพาราเซตามอล 2 เม็ดแล้ว ก็ล้มตัวลงนอนพักบนบ้านพักครู เหลือบมองไปนอกหน้าต่างเห็นดวงจันทร์เต็มดวงยังคงลอยอยู่ นึกในใจว่าถ้าได้ดื่มกินน้ำวิเศษก็คงจะดีไม่น้อย แต่ภาพในดวงจันทร์นั้น ข้าพเจ้าก็ยังคงเห็นเป็นรูปกระต่ายอยู่ดี
คิดถึงเด็ก ๆ ที่น่ารักซึ่งวิ่งนำหน้าครูไปดูต้นไทร คิดถึงอาหารการกินที่พวกเขาพึ่งพาพริกกับเกลือเป็นหลัก คิดถึงวัฒนธรรมที่ดีงามน่าศึกษาของพวกเขาแล้ว ภาพกระต่ายที่ข้าพเจ้าเคยถูกปลูกฝังสั่งสอนมาก็ค่อย ๆเลือนหายไป กลายเป็นภาพต้นไทรอยู่ในดวงจันทร์จนกระทั่งเดี๋ยวนี้
ทุกคืนเดือนเพ็ญคุณลองดูดวงจันทร์ให้ดีซิ รูปเงาดำบนนั้นเป็นภาพอะไรกันแน่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากบทความที่เขียนโดย พิมุข ชาญธนะวัฒน์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2538
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2561