ผู้เขียน | กันตพงศ์ ก้อนนาค |
---|---|
เผยแพร่ |
ก่อนที่จะใช้ความพยายามที่มีอยู่แปลงสิ่งที่มีอยู่ในเครื่องโทรศัพท์ขอบอกเล่าจากความจำไปก่อน พูดไป พูดมา จากเรื่องละครโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเป็นไปไม่ได้ที่จะพูดถึงละครแนวที่อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ถนัดและชำนาญนั้นคือการเขียนบทละครโทรทัศน์แนวอิงประวัติศาสตร์
อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ฝากผลงานด้านการเขียนบทละครโทรทัศน์ไว้อย่างมากมาย ทั้ง ฟ้าใหม่ รัตนโกสินทร์ บุพเพสันนิวาส เมื่อขออนุญาตอาจารย์ (ต่อไปขอเรียกครูเพราะไปๆ มาๆ ) ก็เรียกครูแดงโดยตลอดการพูดคุย ดูตะกร้าใส่บทละครโทรทัศน์ที่มากหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ครูแดงเล่าว่าที่มีการแก้ไขมากว่า ๗ ครั้งเพียงตอนแรกของบทละคร
“ครูแก้เองทั้งหมดเลย” สงสัย ใช่ครูแก้เองทั้งหมดตามความต้องการของครู เราอยากทำให้มันดีที่สุด เขามอบหมายงานมาให้เรา ครูรับประกันได้เลยว่างานที่ครูเขียนครูคิดกลั่นกรองออกมาดีแล้ว ครูแดงบอก
เมื่อหยิบดูบทละครหลายเรื่องที่อยู่ตรงหน้า ผู้เขียนเองประทับใจมาก เพราะบทละครที่ครูแดงเขียนคือบทละครจากนวนิยายที่หลายคนอ่านและชื่นชอบมากๆ พิกุลแกมเกดแก้ว ของสีฟ้า นามปากกาของศรีฟ้า ลดาวัลย์ ที่ผู้เขียนประทับในใจเพราะเป็นเรื่องราวเนื้อหาการเมืองที่เข้มข้น แต่น่าเสียดาย “ครูเขียนไปได้ครึ่งเรื่องก็ถูกยกเลิกไป ใจครูอยากเขียนต่อให้จบเรื่อง ครูชอบมากอยากเขียนต่อให้เสร็จ ไม่รู้ว่าตอนนี้ลิขสิทธิ์อยู่ที่ใคร จะบอกว่าอยากเขียนให้จบ” ครูแดงบอกอย่างเสียดาย
“ตามเนื้อเรื่องมีเหตุการณ์ทางการเมืองเยอะมาก เช่น กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ ครูเล่าเรื่องตรงนี้อย่างไร”
ครูแดงตอบเลยว่า “เล่าตามข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างไรก็ตามนั้น และกรณีพระเอกคือยศเป็นนักหนังสือพิมพ์ อาจมีภาพข่าวและตัวละครมาบอกเล่าเรื่องตรงนี้แทนการที่จะต้องเซ็ตฉากใหญ่ๆ ก็ได้”
เรื่องที่ผู้เขียนสนใจและรอลุ้นว่าจะได้ชมภายในปีนี้หรือไม่ คือเรื่องสายโลหิต เวอร์ชั่นล่าสุดที่ครูแดงกลับมาเขียนให้ดาราวิดีโออีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานหลายปี
“สายโลหิต จะได้ดูในปีนี้ไหม” ผู้เขียนถามอย่างตั้งใจ
“ไม่ค่ะ อาจเป็นปีหน้า ช่วงนี้ละครอิงประวัติศาสตร์มีเยอะ ปีนี้มีทั้งบุพเพฯ หนึ่งด้าวฟ้าเดียว แล้วช่อง ๗ คงไม่นำมาลงช่วงนี้ และที่สำคัญละครกำลังถ่ายทำอยู่ ครูเขียนบทมาตอนนี้ถึงตอนสุดท้ายแล้วคือตอนที่ ๑๕ คือตอนจบ” ผู้เขียนหยิบบทละครตอนที่ ๑๔ ออกมาดู ซึ่งเป็นฉากกรุงศรีฯ แตกถูกพม่าบุกเขากำแพงเมืองมาได้ สิ่งที่สงสัยแต่เข้าใจโดยที่ไม่ต้องถาม ตรงลายมือที่เขียนด้วยปากกาสีแดง “ฉากนี้เป็นฉากสำคัญ ฉากโชว์ แทนฉากเสียกรุง”
ภาพความสับสนอลหม่านจากการสิ้นกรุงถูกนำมาแทนที่การผังทลายของกำแพงพระนคร การฆ่าฟัน ปล้นชิง เผาวัดวัง หลอมทองพระ ฉากพวกนี้ไม่มีในสายโลหิตเวอร์ชั่นล่าสุดอย่างแน่นอน ครูแดงยืนยัน “ครูจะเน้นกลยุทธ์การสู้รบ ที่เรามองว่าพม่าเขาฉลาดมาก เขาไม่ได้มาตีกรุงศรีฯ แบบธรรมดาเขาวางแผนมาอย่างดี ตอนออกจากอังวะมีคนจำนวนไม่ได้มากเป็นแสน เขามากวาดต้อนตามรายทางมีคนไทยเขาพวก มีฉากที่ทำด้วยคือการแจกเสื้อผ้า สิ่งของให้ชาวบ้านมาอยู่ข้างพม่า และเตรียมทำศึกเป็นแรมปี ต้องยึดกรุงศรีฯให้ได้ มีการเตรียมไพร่พล ช้างม้า ไปสร้างค่ายบนที่สูง ซึ่งฤดูน้ำหลากเป็นไม้ตายกรุงศรีฯ แต่มาคราวนี้ไม่สำเร็จ เขาเตรียมคิดมาแล้วตั้งแต่ศึกอลองพญา”
เมื่อดูในบทละครยิ่งเข้าใจความอลหม่านในการเสียกรุงทีไม่จำเป็นที่จะต้องมีฉากที่กล่าวมาเลยเพียงแค่ตัวละครกล่าวว่าขุนหลวงเอกทัศน์หนีไปแล้ว เพียงแค่นั้นขุนไกรก็สะเทือนใจแล้ว ทั้งนางเยื้อนแม่หญิงดาวเรือง หมื่นสิงห์ คนทั่วไปที่ฟังต่อๆ กันมามันแสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวัง หมดที่พึ่งแตกกระสานซ่านเซ็นเท่านี้ก็สะเทือนใจไม่ต่างกับการเห็นบ้านเมืองล่มสลายไปต่อหน้า
สำคัญไปกว่านั้นคือความใส่ใจที่ครูแดงแก้คำผิดทุกคำ แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ก็ไม่ปล่อยผ่าน หมึกลบคำผิดก็ไม่ใช้ ครูเลือกที่จะนำกระดาษมาปิดแทนเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือคำว่าฆ่าในบทละครครูยังใช้ปากกาแดงลบออกเพราะคำบางคำ คนจะจำสร้างความบาดหมางระหว่างประเทศได้เพียงคำพูดไม่กี่คำ มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม น่าประทับใจ
สัมภาษณ์ วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๑