“สามก๊กอิ๋น” ที่มาเรื่องแค้นข้ามภพ รบข้ามชาติ ของเหล่าขุนพล “สามก๊ก”

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

ผลของความแค้นข้ามชาติ ข้ามภพ ของตัวละครเรื่อง “ไซ่ฮั่น” ที่ต้องการทวงถามความเป็นธรรม เพื่อล้างแค้นด้วยการกลับชาติมาเกิดใหม่ ในวรรณกรรมชื่อ “สามก๊กอิ๋น” จึงกลายเป็น เล่าปี่, โจโฉ, จิวยี่, ตั๋งโต๊ะ, โจโฉ, กวนอู และตัวละครอื่นกว่า 50 ชีวิต ใน “สามก๊ก”

“สามก๊กอิ๋น” เป็นเสียงสำเนียงจีนฮกเกี้ยนว่า ( จีนกลางว่า “ซันกั๋วอิน”) แปลว่า “เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องสามก๊ก” เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ แสดงวิบากกรรมในอดีตชาติที่ตัวละครสำคัญในเรื่อง “สามก๊ก” ทำไว้เมื่อครั้งเกิดในเรื่องไซ่ฮั่น จึงต้องมาเกิดใหม่ชดใช้กรรมที่ตนก่อ

สามก๊กอิ๋น ต้นฉบับแม่พิมพ์ไม้ สมัยราชวงศ์ชิง (ถ่ายจากห้องสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง)

สามก๊กอิ๋น มีผู้แต่งชื่อแซ่ใดไม่ปรากฏ แต่ใช้นามปากกาว่า “จุ้ยเยว่ซัน  เหริน” แปลว่า “คนภูเขาเมาจันทร์” ต้นฉบับเก่าที่สุดที่จีนมีอยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้แกะสลักเมื่อ พ.ศ. 2499 แต่นิยายเรื่องนี้ต้องเคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อนหน้านี้หลายปี เพราะฉบับภาษาไทยแปลตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2428 ดังข้อความว่า “ณ วันพุธ ขึ้นเก้าค่ำ 4 ฯ 9 ปีระกา สัปตศก จุลศักราช 1247 ได้แปลในเรื่องนิทานจีนใจความว่า…”

เนื้อเรื่องว่า มีบัณฑิตสอบเข้ารับราชการไม่ได้คนหนึ่งชื่อ สุมาตองสอง ตัดพ้อฟ้าที่ไม่เห็นปัญญาของตน พอนอนหลับถูกยมทูตเชิญไปพบยมบาล และได้รับมอบหมายให้ตัดสินคดีสำคัญในยมโลก ซึ่งโจทก์และจำเลยคือตัวละครในเรื่องไซ่ฮั่น มีคดี 10 คดี มีผู้มาเกิดใช้กรรมรวมทั้งสิ้น 57 คน ตัวอย่างเช่น

คดีกดขี่ฆ่าคนสัตย์ซื่อ โจทก์เป็นตัวละครในเรื่อง “ไซ่ฮั่น” ได้แก่ ฮั่นสิน, หยินโป้ และ แพอวด ฟ้องร้องว่าพระเจ้าฮั่นโกโจ (เล่าปัง) เนรคุณฆ่าพวกตน พระเจ้าฮั่นโกโจซัดทอดพระนางหลีเฮามเหสี โดยมีกวยถองเป็นพยานว่าพระเจ้าฮั่นโกโจและพระนางหลีเฮาทำผิดจริง

สุมาตองสองตัดสิน พระเจ้าฮั่นโกโจเกิดเป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ พระนางหลีเฮาเกิดเป็นพระนางฮกเฮา (มเหสีพระเจ้าเหี้ยนเต้) ฮั่นสินเกิดเป็นโจโฉ โดยให้โจโฉได้รังแกพระเจ้าเหี้ยนเต้ และประหารพระนางฮกเฮาชดใช้กัน

หรือกรณีเสียวโหใช้ปัญญาลวงฮั่นสินให้เข้าไปถูกพระนางหลีเฮาจับฆ่า ก็ให้เสียวโหกลับมาเกิดเป็นเอี้ยวสิ้วคนเจ้าปัญญา แต่ถูกโจโฉซึ่งคือฮั่นสินกลับชาติมาเกิดสั่งฆ่า เพราะเจ้าปัญญาเกินไป

ตันแผงใช้อุบายทำให้ฟ่ำแจ้งตรอมใจตาย ตันแผงจึงมาเกิดเป็นจิวยี่ ส่วนฟ่ำแจ้งเกิดเป็นขงเบ้งและใช้ปัญญาซ้อนกลจนจิวยี่รากเลือดตาย ชดใช้กรรมเก่า

นอกจากโจทก์และจำเลยที่ต้องไปเกิดใช้หนี้กรรมกันแล้ว ยังมีคนดีที่ไม่ถูกฟ้องร้องได้ไปเกิดรับผลบุญที่ทำไว้ด้วย เช่น ม้าของพระเจ้าฌ้อปาอ๋อง (ห้างอี๋) เกิดเป็นม้าเซ็กเทา

สรุปตัวละครสำคัญที่ควรทราบว่าใครเกิดเป็นใคร มีดังนี้

ฮั่นสิน หรือหานสิ้นเกิดเป็น โจโฉ, เล่าปัง (พระเจ้าฮั่นโกโจ) เกิดเป็น พระเจ้าเหี้ยนเต้, หยินโป้ เกิดเป็น ซุนกวน, แพอวด เกิดเป็น เล่าปี่, ฌ้อปาอ๋อง (ห้างอี๋) เกิดเป็น กวนอู, ห้วนโกย เกิดเป็น เตียวหุย, ฟ่ำแจ้ง เกิดเป็น ขงเบ้ง, ตันแผง เกิดเป็น จิวยี่, กีสิน เกิดเป็น จูล่ง, ลิปุดอุย เกิดเป็น ลิโป้, จิ๋นซีฮ่องเต้ เกิดเป็น ตั๋งโต๊ะ เป็นต้น

ในคำตัดสินว่าให้ใครเกิดเป็นใคร มีคำอธิบายด้วยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

“แล้วเรียกหานสิ้นเข้ามาว่า ท่านจงไปเกิดที่ตำบลเจียวกุ๋น เป็นบุตรโจสง ชื่อโจโฉ ชื่อครูตั้งเบ้งเต๊ก เป็นมหาอุปราช ภายหลังเป็นงุยอ๋องอยู่เมืองฮูโต๋ แบ่งแผ่นดินฮั่นกึ่งหนึ่ง เหตุท่านมิได้คิดขบถ ฮั่นอ๋องนั่นจงไปเกิดในวงศ์ฮั่น เป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ แต่ในชาตินั้นอย่าให้มีความสุข ให้โจโฉข่มเหงอยู่เสมอเป็นนิจ เป็นการใช้ชาติซึ่งมิได้มีความเมตตาแก่ขุนนางทั้งปวง…แล้วเรียกแพอวดเข้ามาว่าท่านจงไปเกิดที่ตำบลตกกุ๋นเป็นที่นับถือแก่คนทั้งหลาย เป็นการตอบแทนด้วยชาติก่อนท่านมิได้คิดคดทรยศต่อผู้ใด”

ความโดดเด่นของ “สามก๊กอิ๋น” อยู่ที่เนื้อเรื่อง ที่ผู้แต่งสามารถเชื่อมโยงตัวละครในเรื่อง ไซ่ฮั่น กับเรื่อง สามก๊กเข้า ด้วยกันได้อย่างแยบยล สมเหตุสมผลตามกฎแห่งกรรมอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ ตัวละครสำคัญในเรื่องไซ่ฮั่นจึงต้องไปเกิดชดใช้กรรมนั้นในเรื่องสามก๊ก

สามก๊กอิ๋นฉบับภาษาไทย พระยาพิศาลสมบัติบริบูรณ์ (โต ตัณฑเศรษฐี) แปลเมื่อ พ.ศ. 2428 ส่วนเรื่องสามก๊กอิ๋นภาษาไทย ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบัน สมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) ได้มาจากหนังสือเก่าชำรุด นำลงพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิทยุศึกษา มีผู้นำไปพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพอีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้าย “คณะทำงานจัดทำหนังสือที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช” ได้นำพิมพ์รวมไว้ท้ายหนังสือเรื่องชิดก๊กไซ่ฮั่น แต่ก็เป็นฉบับที่ชำรุด มีความขาดหายไปหลายตอน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลินยุ่นซี่. “สามก๊กอิ๋น : ตำนานชาติภาพของตัวละครในสามก๊ก”, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2562