ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
ตลาดน้ำวัดไทร ทางบางขุนเทียนโด่งดังมานาน แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าตลาดน้ำนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเกิดเมื่อไร?
ยุค 2500 ร้านพิกุลทอง นางเลิ้ง -ร้านพระจันทร์พานิช ตรงข้ามเพาะช่าง พิมพ์โปสการ์ดขาย คนซื้อโปสการ์ดไปส่ง ส.ค.ส.อวยพรปีใหม่กันทั้งบ้านทั้งเมืองเพราะสมัยนั้นยังไม่มีเฟซ ไม่มีไลน์
ส.ค.ส.ตลาดน้ำวัดไทร เป็นชุดหนึ่งที่เห็นคุ้นตา
แม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ยังทรงพาพระราชอาคันตุกะคือเจ้าฟ้าอากิฮิโต มกุฎราชกุมารญี่ปุ่นในขณะนั้น (ปัจจุบันทรงเป็นพระมหาจักรพรรดิ — ที่สละราชสมบัติแล้ว : บก.ออนไลน์) กับเจ้าหญิงมิชิโกะ พระชายา ไปประพาสตลาดน้ำวัดไทร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2507 มีภาพตีพิมพ์ในหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2508 เป็นหลักฐานสำคัญ (ดูหนังสือเมืองไทย 2495 ถึง 2519 โดยเอนก นาวิกมูล หน้า 220)
ถ้าจะอ่านที่เขาเขียนเป็นตัวหนังสือ ก็ต้องอ่าน ฝรั่งเที่ยวบางกอก ของ กมล เกตุสิริ ซึ่งผมเคยอ่านมาตั้งแต่เด็ก ลุงกมลเขียนสนุก ประทับใจมาก
ตลาดน้ำวัดไทรมีมาตั้งแต่เมื่อใด?
ตอบว่าน่าจะมีอย่างจริงจังตั้งแต่ “ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2” หรือราวๆ ยุค 2470-2480 หรือราวๆ 80 กว่าปีก่อนนี้เอง
(นักรถไฟวิทยากรุณาอ่านเรื่องนี้ให้จบ แล้วรีบไปหาหลักฐานมาแสดง)
สาเหตุของมันคือ มาจากรถไฟชนกันที่หน้าวัดราชโอรส หรือวัดจอมทอง (สร้างตั้งแต่สมัย ร.2) เลยต้องย้ายสถานีจากจอมทอง ไปอยู่ที่หน้าวัดไทร ตลาดน้ำจากหน้าวัดจอมทอง ก็เลยต้องย้ายตามไปอยู่หน้าวัดไทร….
อ้อ…เรื่องมันเป็นอย่างนี้เอง…
ขอสารภาพว่าเรื่องนี้ผมเองไม่เคยรู้มาก่อน จนได้อ่านหนังสือวัดราชโอรส ปกสีแดง เรียบเรียงโดยพระมหาโกเมศ เขมธมฺโม พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 จึงได้เกิดแสงสว่าง
พระมหาโกเมศ กล่าวในหน้า 124 แต่ผมขอตัดต่อ และขยายความเพิ่มเติมดังนี้…
แต่ก่อนในคลองด่าน (บางคนเรียกคลองสนามชัย) หน้าวัดจอมทองเคยเป็นตลาดน้ำ (จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครเคยเอารูปตลาดน้ำวัดจอมทองมาแสดง !!!! คนหน้าวัดจอมทองว่าไง ? นั่นแน่ แกล้งโยนหินถามทางเสียเลย…)
มีเรือนแพ มีผู้คนนำสินค้าใส่เรือมาขายกันแออัดเพราะรถไฟสายคลองสาน-มหาชัย (สมุทรสาคร) มาจอดที่สถานีหน้าวัดจอมทอง สมัยโน้น ตลาดน้ำในเขตบางขุนเทียน นอกเหนือจากหน้าวัดจอมทองแล้วยังไม่ค่อยมีที่ไหน
ความพลุกพล่านแออัดของตลาดน้ำวัดจอมทองหรือวัดราชโอรสทำให้ตลาดน้ำขยายตัวออกไปถึงหน้าวัดนางนอง มีคนนำเรือ นําแพ มาจอดหน้าวัดเป็นจำนวนมาก มีการทำสัญญากับทางวัดจอมทอง ขอเช่าที่ถูกจอดเรือกันเป็นเรื่องเป็นราว แต่หากวันใดเจ้านายจะเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน เรือแพเหล่านี้ต้องถอยออกไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว
วันหนึ่ง….ซึ่งคือวันใดไม่ทราบ -นักรถไฟวิทยากรุณาช่วยค้นคว้าที….
รถไฟสายคลองสาน-มหาชัย เกิดชนกันที่สถานีจอมทอง เพราะช่วงนี้เส้นทางคดโค้งทางการรถไฟจึงย้ายที่จอดรถจากวัดจอมทองไปอยู่หน้าวัดไทรแทน (ไกลกันอีกระยะ)
นับจากนั้นการค้าขายที่หน้าวัดราชโอรสก็เริ่มซบเซา เพราะขนถ่ายสินค้าไม่สะดวก ที่สุดตลาดน้ำวัดจอมทองก็ต้องย้ายตามรถไฟ ไปอยู่ที่หน้าวัดไทร (คลองสายเดียวกัน) ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนเรือนแพ+เรือที่เช่าจอดอยู่หน้าวัดนั้น พอถึงปี 2502 ทางวัดก็บอกเลิกสัญญา
นี่แหละคือเรื่องตลาดน้ำวัดไทรที่เกิดทีหลังตลาดน้ำวัดจอมทอง
คุยต่ออีกนิด จะได้รู้บั้นปลายของตลาดน้ำวัดไทรไปเสียเลย
จากความคึกคักของตลาดน้ำวัดไทร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวค่อยๆ เติบโตขึ้น ไกด์ไทยก็เริ่มนิยมพานักท่องเที่ยวไปดูตลาดน้ำวัดไทรกันอย่างสนุกสนาน สนุกสนานกันจนถึงยุค 2520 ตลาดน้ำวัดไทรก็เริ่มวาย เพราะแม่ค้าชาวเรือชักรู้สึกว่าไม่สนุกเสียแล้ว เรือแท็กซี่ เรือยนต์ของนักท่องเที่ยวมาสร้างความเกะกะเหลือเกิน
ประกอบกับถนนเริ่มไปมาสะดวกขึ้น ที่สุดตลาดน้ำวัดไทรก็เหลือแต่ชื่อ (ส่วนตลาดบกที่สร้างทีหลัง ตอนนี้สกปรกเหลือกำลัง ผู้อำนวยการเขตควรเข้าไปจัดการเสียที)
ไกด์ไทยต้องพานักท่องเที่ยวไปดูตลาดน้ำกันถึงวัดหลัก 6 จุดซึ่งเป็นแบ่งระหว่าง อ.บ้านแพ้ว กับ อ.ดำเนินสะดวก
ยุคตลาดน้ำวัดไทรวาย กับยุคหลัก 6 กำลังเฟื่องนี่ผมยังได้ไปทัศนา คึกคักกันไปได้อีกพักใหญ่ ตลาดน้ำก็ย้ายอีก คราวนี้ย้ายลึกเข้าไปทางคลองต้นเข็ม อ.ดำเนินสะดวก ที่เราไปเที่ยวกันในปัจจุบันนี้
แต่ตลาดน้ำยุคนี้ไม่ค่อยเป็นตลาดน้ำจริงๆ เสียแล้ว เพราะเรือที่พายไปพายมามักเป็นเรือแม่ค้ามาขายของนักเที่ยว กับเป็นเรือให้นักท่องเที่ยวเช่านั่งเสียมากกว่า สนุกเพลิดเพลินกันไปอีกแบบ วันธรรมดาตลาดน้ำนี้ค่อนข้างเงียบเหงา
จบเรื่องตลาดน้ำวัดจอมทอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “โบ๊เบ๊” มาจากไหน? กลายเป็นตลาดขายเสื้อผ้าเมื่อใด? เพราะใคร?
- “ตลาดนัด” มาจากไหน? ย้อนรอยตลาดนัดในกรุงเทพฯ ถึงตำนานตลาดนัดสนามหลวง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2561