ผู้เขียน | ปณทัศน์ ชัยมาลิก |
---|---|
เผยแพร่ |
ซอเกาะห์ หมวกมลายูมุสลิมที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของชาวมลายู แท้จริงแล้วมีต้นแบบมาจากหมวกในแอฟริกา
เครื่องแต่งกายของชายชาวมลายูมุสลิมที่หลายท่านคุ้นตามักจะเป็น “เสื้อโต๊ป” ซึ่งเป็นเสื้อคลุมทั้งตัว ตั้งแต่บ่าจรดเท้า และสวมหมวกทรงกระบอกกลมๆ อย่าง “ซอเกาะห์” ไว้บนหัว
กระนั้นก็ตามชุดอาหรับ แดนต้นกำเนิดอิสลาม แม้จะสวมเสื้อที่ลักษณะคล้ายกัน แต่อาหรับนิยมโพกผ้าไว้บนหัว ต่างจากชาวมลายูมุสลิมโดยสิ้นเชิง
จึงเป็นคำถามว่าซอเกาะห์ หมวกมลายูมุสลิมมาจากไหน
ความสำคัญของหมวกซอเกาะห์
หมวกที่ชาวมลายูมุสลิมสวมใส่ มีด้วยกัน 2 ชนิดหลักๆ คือ กอปิเยาะห์ และ ซอเกาะห์ ทั้งสองต่างกันที่กอปิเยาะห์มีทรงกลมและนิ่ม ขณะที่ซอเกาะห์จะดูตรง ๆ เรียบและแข็ง
หมวกซอเกาะห์ได้รับความนิยมในหมู่ชาวมลายูมากกว่า เพราะแสดงถึงค่านิยมความเป็นมลายูได้อย่างชัดเจน
สังเกตได้จากชุดประจำชาติ และเครื่องแบบกองทัพ หรือแม้แต่การแต่งกายของผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือบรูไน ขณะเดียวกันสามจังหวัดชายแดนใต้เองก็นิยมสวมหมวกซอเกาะห์เพื่อแสดงถึงความเป็นมลายูของพวกเขา
กระนั้นก็ตามหมวกซอเกาะห์ก็มิได้มีที่มาจากคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะมลายูตั้งแต่ต้น
ที่มาของหมวกซอเกาะห์
แม้หมวกซอเกาะห์จะต่างจากผ้าโผกหัวชาวอาหรับที่รู้จักกันในชื่อ “สะระบั่น” หรือ “กูฟียะฮ์” ไปมาก แต่ในอดีตช่วงศตวรรษที่ 19 สมัยที่ภูมิภาคตะวันออกกลางยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน มีหมวกประเภทหนึ่งที่นิยมสวมกันในหมู่ชาวออตโตมันคล้ายกับซอเกาะห์ ชื่อว่าหมวก “เฟซ” (Fez)

หมวกเฟซมีชื่อและที่มาจากเมืองเฟซ ประเทศโมร็อกโก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา มีลักษณะกลมแข็ง ย้อมด้วยสีแดง นิยมสวมทั่วแอฟริกาเหนือ ก่อนจะเข้าสู่จักรวรรดิออตโตมัน ผ่านการปฏิรูปกองทัพของสุลต่านมะห์มูดที่ 2 (ครองราชย์ ค.ศ. 1808-1839)
เดิมทีกองทัพของออตโตมันคือกลุ่มกองกำลังจานิสซารี (Janissary) ซึ่งเป็นกองทัพที่เติบโตมาพร้อมกับความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิ บ่อยครั้งที่กองกำลังนี้มีอำนาจมากเกินไป จนทำการยึดอำนาจและตั้งสุลต่านหุ่นเชิด เป็นผลให้ราชวงศ์มีความอ่อนแอ เมื่อสุลต่านมะห์มูดขึ้นครองราชย์ พระองค์จึงปฏิรูปกองทัพใน ค.ศ. 1826 และยุบกองกำลังจานิสซารี แทนที่ด้วยกองกำลังสมัยใหม่
พร้อมกันนั้นได้ออกคำสั่งให้สวมหมวกเฟซสีแดงแทนการสวมผ้าโพกหัว เพื่อถอนรากถอนโคนการปฏิบัติแบบเก่า ๆ ในกองทัพ และให้ถือว่าหมวกเฟซเป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยทั่วทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เมื่อชาวออตโตมันเห็นดังนั้น จึงหันมานิยมสวมหมวกเฟซตามสุลต่าน
เมื่อจักรวรรดิออตโตมันล่มสลายลงใน ค.ศ. 1922 และสถาปนาขึ้นใหม่เป็นสาธารณรัฐตุรกี โดย มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ประธานาธิบดีคนแรกของตุรกี เขากลับสั่งห้ามสวมหมวกเฟซอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1925 เป็นผลให้หมวกเฟซได้รับความนิยมน้อยลง จนมีให้เห็นไม่มากในตะวันออกกลาง
จากข้างต้น แม้ปัจจุบันหมวกเฟซจะเริ่มหายไปจากตุรกี แต่หมวกก็ได้เดินทางผ่านการค้าขายจากพ่อค้าชาวอาหรับ ออตโตมัน มายังพ่อค้าอินเดีย และหลั่งไหลเข้าคาบสมุทรและหมู่เกาะมลายูเป็นที่เรียบร้อย
เมื่อชาวมลายูรับสินค้าเข้ามาก็เกิดการปรับเปลี่ยนให้หมวกเข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่มากขึ้น จากเดิมที่เป็นสีแดง ก็เปลี่ยนเป็นสีดำเพื่อลดความร้อน และมีรูปร่างเรียบง่าย หัวแบน จนกลายมาเป็นหมวกซอเกาะห์ในปัจจุบัน
ซอเกาะห์กับความเป็นมลายู
แรกเริ่มเดิมทีซอเกาะห์ หมวกมลายูมุสลิม มิได้แสดงถึงความเป็นเชื้อชาติมลายูแต่อย่างใด ทว่าค่านิยมในการสวมซอเกาะห์จนแพร่หลายเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายทั่วคาบสมุทรและหมู่เกาะมลายูนั้น มาจากความพยายามของ สุลต่านอบู บากัร แห่งรัฐยะโฮร์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1886-1895)

ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงพยายามต่อต้านอำนาจของจักรวรรดินิยม และการแทรกแซงจากต่างชาติที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามากลืนกินรัฐยะโฮร์ พระองค์ได้ดำเนินการทางการทูตหลายประการ และพัฒนารัฐให้ทันสมัยขึ้น โดยยกจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งเปรียบเสมือนหัวเรือใหญ่ของโลกมุสลิม ขึ้นเป็นหนึ่งในต้นแบบการพัฒนา จึงได้เดินทางเพื่อสานสัมพันธ์ทางการทูตและศึกษาดูงาน ใน ค.ศ. 1893
ขณะประทับอยู่ที่กรุงอิสตันบูล เมืองหลวงของประเทศตุรกีในขณะนั้น พระองค์ทรงเห็นการสวมหมวกเฟซ เป็นที่นิยมแพร่หลาย แลดูเป็นการแต่งกายที่ทันสมัย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เมื่อเดินทางกลับยะโฮร์ พระองค์จึงรณรงค์ให้ชาวมลายูหันมาสวมซอเกาะห์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วคาบสมุทรและหมู่เกาะมลายู จนได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการชาตินิยมมลายูในหลายพื้นที่ เช่น ในประเทศอินโดนีเซียสมัยประธานธิบดีซูกาโน ประธานาธิบดีคนแรกหลังได้รับเอกราช ก็รณรงค์ให้สวมซอเกาะห์ จนพัฒนากลายมาเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติ และเครื่องแบบกองทัพในปัจจุบัน

หมวกซอเกาะห์จึงเปรียบเสมือนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวมลายู ทั่วทั้งอินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย และภาคใต้ตอนล่างของไทยนับตั้งแต่นั้นมา
อ่านเพิ่มเติม :
- ข้าวเกรียบปลาทางภาคใต้ตอนล่าง “กือโป๊ะ” ใช้ปลาอะไรทำอร่อยสุด?
- “เหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้” กับ “ประวัติศาสตร์บาดแผล”
- โนราภาคใต้ ไปจากภาคกลาง สมัยอยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Seng, A. T. (2022, May 6). Tale of the songkok. Retrieved from New Strait Times: https://www.nst.com.my/news/nation/2022/05/794040/tale-songkok
Suciu, P. (2012, December). The Military Fez. Retrieved from Warfare History Network: https://warfarehistorynetwork.com/article/the-military-fez/
Wahsalfelah, S. N. (n.d.). Songkok (velvet headgear). Retrieved from The Encyclopedia Of Crafts In Asia Pacific Region: https://encyclocraftsapr.com/songkok-velvet-headgear/
กนกวรรณ พรหมทัศน์. (28 มกราคม 2011). งานช่างฝีมือการทำหมวกกะปิเยาะห์. เข้าถึงได้จาก ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม: http://www.m-culture.in.th/album/17834
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2568