“งูเห่า” ยังแพ้ “อ้ายลูก 3 พ่อ” คำต่อว่าคนเห็นแก่ได้ แบบโนสนโนแคร์ 

งูเห่า ภาพจิตรกรรมฝาผนัง สามก๊ก พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร ชาวจีนโบราณ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก พระวิหารเก๋ง วัดบวรนิเวศวิหาร

สังคมไทยมีคำว่า “งูเห่า” ขณะที่สังคมจีนมีคำว่า “อ้ายลูก 3 พ่อ” ซึ่งทั้งสองคำนี้ใช้เรียกขานบุคคล “หักหลัง” ผู้ที่ตนเคยร่วมใจกันมาก่อนแล้วกลับมาทำร้าย เพียงเพื่อประโยชน์ของตนเอง 

“งูเห่า” ที่ไม่ใช่สัตว์เลื้อยคลาน

คำเรียกเช่นนั้นมาจาก “หนังสือนิทานอีสป” ที่พระจรัสชวนะพันธ์ (สาตร์) แต่งขึ้นโดยใช้เค้าโครงจากนิทานอีสป และพฤติกรรมของงูชนิดดังกล่าว เพื่อเป็นแบบสอนอ่านสำหรับเด็กชั้นมูลศึกษา เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 เพื่อให้อ่านหนังสือได้คล่อง และสอนให้เด็กไปพร้อมกัน ต่อมามีการใช้ในระดับประถมศึกษา โดยตั้งชื่อว่า “นิทานที่ 14 เรื่องชาวนากับงูเห่า”

งูเห่า
(ภาพจาก www.matichon.co.th/)

เรื่องราวเริ่มต้นที่ชาวนาช่วยงูชนิดดังกล่าว ที่นอนตัวแข็งอยู่บนคันนาในช่วงฤดูหนาว แต่เมื่องูรอดตายอาการดีขึ้น กลับกัดชาวนาที่ช่วยเหลือ ในไม่ช้าพิษงูก็ทำให้ชาวนาเสียชีวิต

เนื่องจากเป็นหนังสือที่ต้องการสอนเด็ก ตอนจบจึงทิ้งท้ายว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า วิสัยพาลแล้วย่อมไม่รู้จักที่จะกตัญญูต่อผู้ใด

“อ้ายลูก 3 พ่อ”

คำพูดนี้ “เตียวหุย” ใน “สามก๊ก” เป็นคนกล่าว เตียวหุยเป็นนายทหารฝีมือดี มีความซื่อสัตย์ แต่นิสัยมุทะลุบุ่มบ่าม เป็นคนโผงผาง พูดจาไม่เข้าหูคนหลายครั้ง แม้เป็นคนไม่มีวาทศิลป์ แต่ที่เขาเรียก “ลิโป้” ว่า “อ้ายลูก 3 พ่อ” กลับได้รับคำชมว่าด่าได้ดี

แม้ลิโป้เจ็บแค้น แต่ก็จนปัญญาที่จะเถียง เพราะมันเป็นเรื่องจริง

คำว่า “อ้ายลูก 3 พ่อ” หรือที่ในภาษาจีนใช้ว่า “อ้ายเด็ก 3 แซ่” นั้น เพราะลิโป้มีคนที่นับถือเป็นพ่อถึง 3 คน คือ 1. พ่อผู้กำเนิด 2. เต๊งหงวน-พ่อบุญธรรม 3. ตั๋งโต๊ะ-พ่อบุญธรรม

ลิโป้เมื่อเป็นหนุ่มเริ่มทำงานด้วยการเป็นเสมียนเล็ก จนเป็นที่วางใจของเต๊งหงวน และรับเขาเป็นบุตรบุญธรรม แต่เมื่อตั๋งโต๊ะต้องการยึดกำลังทหารของเต๊งหงวนและกำจัดเขาทิ้ง ได้ซื้อลิโป้ด้วยเห็นว่าเป็นคนฝีมือดี โดยให้ม้าเซ็กเธาว์และเสื้อเกราะทองเป็นการตอบแทน ลิโป้ก็ทรยศฆ่าเต๊งหงวนตาย

ภายหลังตั๋งโต๊ะรับลิโป้เป็นบุตรบุญธรรม ลิโป้ผู้นี้ก็ทรยศตั๋งโต๊ะ เพราะหลงกลสาวงามของอ้องอุ้นที่เอาเตียวเสียนมาล่อหลวงให้เกิดการผิดใจกันระหว่างพ่อ-ลูก สุดท้ายลิโป้สังหารตั๋งโต๊ะตาย

ลิปโป้รบกับกวนอู, เล่าปี่ และเตียวหุย (ภาพจาก ตำนานหนังสือสามก๊ก)

ดังนั้น การรบ ณ ด่านกิสุยก๋วน ในสามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) บันทึกว่า

“ฝ่ายลิโป้ขับม้าไล่ตาม ครั้นใกล้เข้าเงื้อทวนขึ้นจะแทง พอเตียวหุยหยุดควบม้าเข้าสกัดตัดหน้าม้าลิโป้ไว้ แล้วร้องตวาดด้วยเสียงอันดัง ม้าลิโป้นั้นตกใจถอยหลังออกไปเปนหลายก้าว เตียวหุยจึงร้องด่าว่า อ้ายลูก 3 พ่อ กูมารบกับมึง…” (สั่งเน้นโดยผู้เขียน)

“งูเห่า” กับ “อ้ายลูก 3 พ่อ” น้ำหนักอาจไม่ตรงกันเป๊ะ เพราะความแตกต่างของวัฒนธรรม แต่โดนคำไหนเข้าไปก็เอาการอยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระจรัสชวนะพันธ์. หนังสือนิทานอีสป, กรมวิชาการ กระทรวงศึกษา พ.ศ. 2540

สามก๊ก สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2568