“หมูย่างเมืองตรัง” ของดีประจำจังหวัดตรัง ที่เกิดจากวิกฤตหมูล้นตลาดเมื่อ 100 กว่าปีก่อน

หมูย่างเมืองตรัง
หมูย่างเมืองตรัง (ภาพจาก : ข่าวสด)

“หมูย่างเมืองตรัง” ถือเป็นเมนูประจำจังหวัดตรัง ใครแวะเวียนไปที่นั่นมักต้องลิ้มชิมรสชาติต้นตำรับให้ได้ รสชาติของหมูย่างจากตรังไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เพราะต้องผ่านกรรมวิธีมากมายกว่าจะให้ทุกคนได้ลิ้มลองความอร่อยที่มีรสหวานเป็นจุดเด่น

แต่กว่าจะเป็นอาหารยอดฮิตที่ใคร ๆ ก็อยากกิน เมนูนี้เคยทำหน้าที่เป็นเมนูระบายหมูล้นตลาดมาก่อน

หมูย่าง เมืองตรัง (ภาพจาก : ข่าวสด)

หลังจากที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ขึ้นเป็นเจ้าเมืองตรัง ใน พ.ศ. 2433 ท่านก็สนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาทำนา ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะหมู 

หมูที่คนในพื้นที่เลี้ยง คือ “หมูขี้พร้า” หมูพื้นเมืองพันธุ์ไหหลำ รูปร่างอ้วนท้วน ท้องยาน หลังแอ่น หน้าสั้น จมูกสั้น ตัวมีสีดำกับขาว 

หมูขี้พร้า (ภาพจาก : มติชน)

คนจีนอพยพเป็นคนนำหมูขี้พร้าเข้ามาในไทยทางเรือ ในตอนแรกเพื่อเป็นเสบียงอาหาร แต่ต่อมาก็นำหมูเหล่านี้ขึ้นฝั่งมาเลี้ยงเพื่อบริโภคและจำหน่าย

ด้วยหมูสายพันธุ์นี้ลูกดก บวกกับภาครัฐที่สนับสนุนให้คนเลี้ยงหมู จึงทำให้ทุกครัวเรือนเลี้ยงหมูขี้พร้ากันทั่วไป โดยคนจีนจะรับหน้าที่ค้าและชำแหละหมูให้คนไทยที่นำหมูมาขาย เนื่องจากขณะนั้นคนไทยไม่นิยมการฆ่าสัตว์ 

พ่อค้าชาวจีนจะส่งออกหมูทางเรือ ไปยังจีน ปีนัง และพื้นที่อื่น ๆ จนหมูกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจของตรังเลยก็ว่าได้ ใน พ.ศ. 2447 มีข้อมูลระบุว่า พ่อค้าชาวจีนที่อพยพมาอยู่ตรังส่งออกหมูกว่าปีละ 20,000 ตัว รวมถึงกว้านซื้อหมูจากพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อส่งออกอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยการเลี้ยงหมูที่มากเกินไป จึงทำให้หมูเริ่มล้นตลาด ส่งออกไม่ทัน “เถ้าแก่ฟอง ไทรงาม” พ่อค้าชาวไทยเชื้อสายจีน จึงปิ๊งไอเดียสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหมู นั่นคือการทำหมูย่างขาย 

เขารับคนจีนกวางตุ้งกลุ่มหนึ่ง ที่มีความรู้เรื่องการย่างหมูทั้งตัวเข้ามาที่ตรัง และให้พวกเขาใช้องค์ความรู้ที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษรังสรรค์เมนูนี้ขึ้น จนเกิดการย่างหมูทั้งตัวที่เลาะเอากระดูกออก ตัดแต่งเนื้อแดงให้หนาเสมอกัน กรีดเป็นริ้ว ๆ คลุกเคล้ากับเครื่องเทศ คือ ผงพะโล้ชนิดพิเศษหรือผงหอมอู่เชียงฝัน ที่ประกอบด้วย โป๊ยกั๊ก อบเชย ลูกผักชี เม็ดกระวาน ยี่หร่าหวาน ควบคู่กับ ลูกจันทน์เทศ และน้ำผึ้งรวง

วิธีการเตรียมหมูก่อนย่าง (ภาพจาก : ข่าวสด)

ได้เป็นหมูย่างสูตรลับเฉพาะ นั่นคือหมูย่างเมืองตรัง

รสชาติของหมูจะกลมกล่อม มีความฉ่ำน้ำของเนื้อแดงที่เจือด้วยน้ำผึ้งรวง หนังบางกรอบ ไม่ต้องจิ้มกับน้ำจิ้ม มักกินคู่กับข้าวเหนียว ชา กาแฟ เป็นหลัก 

แต่ต่อมาก็ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานไหว้เจ้า งานแต่งงาน งานศพ งานเช็งเม้ง ตรุษจีน ฯลฯ เพื่อบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์

คนตรังยังคิดว่าถ้าได้กินหมูย่าง วันนั้นจะทำอะไรก็ง่ายและโชคดีไปเสียหมด

หมูย่างเมืองตรังจึงถือเป็นเมนูมงคลสุดอร่อย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 100 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุภาวดี นาคบรรพ์. “‘หมูย่างเมืองตรัง เส้นทางภูมิปัญญาอาหารจีนสู่เมนูไทยท้องถิ่น’.” ใน วารสารวัฒนธรรมอาหารไทย ฉบับที่ 1 ลำดับที่ 1-2 มกราคม-ธันวาคม. 2562. 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2568