
ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระราชวังดุสิต ที่แรกเริ่มคือ “สวนดุสิต” เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2441 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นที่เสด็จฯ แปรพระราชฐาน พักผ่อนพระราชอิริยาบถและพระพลานามัย นับเป็นโครงการออกแบบ วางผัง และก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดช่วงปลายรัชกาล และถือเป็นการสร้าง “เมือง” ขึ้นใหม่เลยก็ว่าได้ เมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระราชวังแห่งนี้ก็ยังคงมีความสำคัญต่อเนื่อง ทั้งยังพระราชนามประตูพระราชวังดุสิต 17 ประตู แทนที่นามเดิมอีกด้วย ประตูเหล่านี้มีนามว่าอะไรบ้าง?

ประตูพระราชวังดุสิต 17 บาน มีนามว่าอะไรบ้าง?
ก่อนหน้านี้ รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานนามประตูพระราชวังดุสิตตามลายกระเบื้องลายครามของจีน ที่มีความหมายเป็นมงคล และเป็นพระราชนิยมในช่วงนั้น อาทิ ประตูเซียน, ประตูเล่าฮั่น, ประตูกิเลน, ประตูกวาง, ประตูคั้งคาว (สะกดตามต้นฉบับ), ประตูไก่ฟ้า เป็นต้น
ต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนนามประตูเป็นภาษาไทย โดยยังคงความหมายอันเป็นมงคล มีประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ดังนี้ (ตัวสะกดอิงตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา)
1. ประตูทวยเทพสโมสร ออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคมไปหน้าพระลาน พระบรมรูปทรงม้า
2. ประตูภูธรลีลาศ จากถนนใบพร (ถนนอู่ทองใน) ไปหน้าพระลาน
3. ประตูภูวนาถลีลา จากถนนใบพรไปท่าวาสุกรี
4. ประตูบุษบาสวรรค์ จากถนนส้มมือไปสวนกุหลาบ
5. ประตูสุนันทาทวาร จากถนนบ๋วยไปสู่สวนสุนันทา
6. ประตูประสานเกียรติราช จากถนนส้มมือไปโรงทำน้ำดุสิต
7. ประตูประสาทเทวฤทธิ์ จากถนนพุดตาลไปกรมยานยนต์

8. ประตูประสิทธิสุรเดช ออกจากทิบดามกรมวัง ไปพระตำหนักกรมหลวง
9. ประตูประเสรฐราชศักดิ์ ออกจากพลับพลาโรงช้างไปทิมดาบกรมตำรวจ
10. ประตูสำนักนิเวศพล ออกจากโรงรักษาการของทหารรังษาวังมาโรงรักษาการของทหารมหาดเล็ก
11. ประตูถกลเกียรติอนันต์ ออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคมไปสระอโนดาษ ในเขตพระราชอุทยานดุสิต
ส่วนประตูชั้นในมี 6 ประตู ได้แก่
12. ประตูคนธรรพ์รักษา จากถนนโถไปสวนหงส์
13. ประตูพิทยาธรสถิต จากถนนเต๊กไปสวนหนังสือเล็ก
14. ประตูเทวฤทธิ์พิทักษ์ ออกจากพระที่นั่งอภิเศกดุสิตด้านเหนือไปพลับพลาโรงช้าง
15. ประตูเทวศักดิ์ภิรมย์ ออกจากโรงรักษาการของทหารมหาดเล็กไปโรงรักษาการของทหารรักษาวัง
16. ประตูพรหมโศภิน ออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคมด้านเหนือ ไปพระที่นั่งอัมพรสถาน
17. ประตูอินทรโศภน ออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคมด้านใต้ ไปพระที่นั่งอัมพรสถาน
นามประตูพระราชวังดุสิตทั้งหมดมีความคล้องจองกัน สะท้อนถึงพระปรีชาสามารถด้านภาษาของรัชกาลที่ 6 ทั้งยังสะท้อนถึงความสละสลวยงดงามของภาษาไทยด้วยอีกทางหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- พระที่นั่งอนันตสมาคม “สถาปัตยกรรมหินอ่อนแห่งสยาม”
- ความรุ่งเรืองสถาปัตยกรรมฝรั่งในบางกอก สวนทางกับชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ของช่างฝรั่งผู้สร้าง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 33 หน้า 113-116. “ประกาศขนานนามประตูพระราชวังสวนดุสิต”. วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2459.
บัณฑิต จุลาสัย, พีรศรี โพวาทอง และรัชดา โชติพานิช. วังสวนดุสิต. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มีนาคม 2568