ทำไมแต่ละปีมี “นางสงกรานต์” ต่างกัน? รู้จัก 7 นางสงกรานต์ ธิดาท้าวกบิลพรหม

7 นางสงกรานต์ ปฏิทินสงกรานต์ของธนาคารออมสิน พุทธศักราช 2523 นางสงกรานต์คือ ทุงษเทวี สงกรานต์ไทย ปีใหม่ไทย
ภาพนางสงกรานต์ ปฏิทินสงกรานต์ของธนาคารออมสิน พุทธศักราช 2523 ซึ่งนางสงกรานต์คือ "ทุงษเทวี"

ในแต่ละปีเราจะเห็นว่า “นางสงกรานต์” โดยมากมักจะไม่ซ้ำกับปีก่อน ดังจะเห็นว่า พ.ศ. 2568 เป็นนางสงกรานต์นางทุงสะเทวี หรือ “ทุงษเทวี” ส่วนปี 2567 มีนางมโหธรเทวีเป็นนางสงกรานต์

นางสงกรานต์มีใครบ้าง และเกณฑ์การเลือกประจำปีนั้น ๆ คืออะไร ?

7 นางสงกรานต์

นางสงกรานต์ คือธิดาของ ท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ มีอยู่ 7 องค์ ประจำวันทั้ง 7 ของสัปดาห์ ทั้งหมดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา (ชั้น 1 จาก 6 ชั้น) และเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ ตามตำนานวันสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 มีหน้าที่รับพระเศียรของท้าวกบิลพรหม ผู้รับปากจะตัดศีรษะของตนเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร แล้วแห่รอบเขาพระสุเมรุ

ส่วนที่ต้องรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมนั้น เพราะถ้าปล่อยให้ร่วงลงแผ่นดินจะเกิดเพลิงผลาญโลก ปล่อยให้ลอยเคว้งไปในอากาศจะทำให้ฝนฟ้ามลายหายไป เกิดความแห้งแล้ง หรือหากปล่อยลงสู่มหาสมุทรผืนน้ำก็จะเหือดแห้ง จึงต้องมีเหล่าธิดาท้าวกบิลพรหมเอาพานรองรับ แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ จากนั้นอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี ณ เขาไกรลาส

พระเศียรท้าวกบิลพรหมที่เขาไกรลาสถูกบูชาด้วยเครื่องทิพย์ มีพระเวสสุกรรมเนรมิตโรงแก้วภควดี สำหรับเป็นที่ชุมนุมเทวดา ซึ่งจะคอยเอาเถาฉมูนาดมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ พระองค์ ครั้นถึงครบกําหนด 365 วัน ครบรอบปีในวันสงกรานต์ คือ 13 เมษายน เทพธิดาทั้ง 7 องค์ จะผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก

กล่าวคือ วันที่ 13 เมษายนของปีนั้น ๆ ตรงกับวันใด เทพธิดาประจำวันนั้นก็จะเป็นผู้รับผิดชอบแห่พระเศียรของบิดา สำหรับนางสงกรานต์ทั้ง 7 มีดังนี้

1. ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ คือทรงครุฑเป็นพาหนะ

นางสงกรานต์ทุงษเทวี ปฤษฎางค์ ครุฑ
นางสงกรานต์ทุงษเทวี

2. โคราคเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

นางสงกรานต์โคราคเทวี พยัคฆ์ เสือ
นางสงกรานต์โคราคเทวี

3. รากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (สุกร)

นางสงกรานต์รากษสเทวี วราหะ สุกร
นางสงกรานต์รากษสเทวี

4. มัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

นางสงกรานต์มัณฑาเทวี คัสพะ ลา
นางสงกรานต์มัณฑาเทวี

5. กิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์คชสาร (ช้าง)

นางสงกรานต์ กิริณีเทวี คชสาร ช้าง
นางสงกรานต์กิริณีเทวี

6. กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี (บัว) มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (กระบือ)

นางสงกรานต์ กิมิทาเทวี มหิงสา กระบือ
นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

7. มโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบ) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

นางสงกรานต์มโหทรเทวี มยุราปักษา นกยูง
นางสงกรานต์มโหทรเทวี

เรื่องนางสงกรานต์ทั้ง 7 นี้ รัชกาลที่ 5 มีพระราชนิพนธ์ถึงไว้ใน พระราชพิธีสิบสองเดือน ว่าอาจจะเป็นยักษ์ เพราะลักษณะค่อนข้างดุดัน ถืออาวุธครบมือ และส่วนใหญ่ประทับบนหลังสัตว์ดุร้าย ดังว่า

“พิเคราะห์ดูชื่อเสียงนางทั้งเจ็ดคนนี้ อยู่ข้างจะเป็นยักษ์ๆ ความประสงค์เห็นจะอยากให้ดุให้กลัวกัน ก็สมกับที่เกณฑ์ให้อยู่ชั้นจาตุมหาราชิกา ด้วยเข้าใจว่าชั้นนั้นเป็นยักษ์มาก

และยังมีคําเล่าบอกกันอย่างซึมซาบว่าที่ข้างจีนเขาเห็นรูปพรรณสัณฐานและศัสตราวุธนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าที่เขียนนี้ แต่เขากลัวคนจะตกใจ จึงได้เขียนลดหย่อนลงเสีย ไม่สู้ให้น่ากลัวเหมือนอย่างที่มาจริงๆ… (ทั้ง) อยู่ข้างจะทรงพาหนะนั้นแข็งๆ ด้วยกันทุกองค์”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ; พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. สืบค้น 7 มีนาคม 2568. ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ

หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นครพนม. กำเนิดวันสงกรานต์. สืบค้น 7 มีนาคม 2568. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2568