ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
คนจีนต้องกิน ลำไย อย่างน้อยปีละผลเพื่อความโชคดี ในอดีตเอามาทำเป็นสบู่
“ลำไย” เป็นผลไม้เศรษฐกิจของไทย นิยมปลูกในภาคเหนือ และกลายเป็นหนึ่งผลไม้ที่เคียงคู่ประเทศเราไปแล้ว ขณะเดียวกัน ลำไย ก็เป็นผลไม้สำคัญของจีนไม่แพ้กัน เพระคนจีนเชื่อว่าต้องกินอย่างน้อยปีละผลเพื่อให้โชคดี ทั้งยังเอามาทำเป็นของใช้และยารักษาโรคมากมาย

ลำไย (Longan) คาดว่าเพี้ยนมาจากภาษาจีนกลางว่า “หลงเยี่ยน” (龙眼) แปลว่า ตามังกร ผลไม้ชนิดนี้มักให้ผลดีในเขตร้อนและอบอุ่นมากกว่าอากาศหนาว รสชาติหวานจัด มักเอามาเป็นส่วนประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน
ทว่ากินมากก็ไม่ดี เพราะคนเชื่อว่ากินลำไยเยอะจะทำให้เป็นร้อนใน เนื่องจากมีฤทธิ์ร้อนและน้ำตาลสูง
ลำไยไม่ได้มีดีแค่ความอร่อยเท่านั้น แต่ทุกส่วนของมันสามารถนำไปทำเป็นประโยชน์ได้ ในวารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งาน “ยุคทองของลำไยในประวัติศาสตร์ผลไม้ส่งออกของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ถึง 2550” ของมานิตา ปุกแก้ว ระบุไว้ว่า คนจีนมักนำลำไยไปทำเครื่องใช้ ยา และกินเพื่อเสริมความโชคดีของชีวิต
เนื้อไม้หรือลำต้นที่แข็งแรง จะเลือกไปใช้สร้างเครื่องเรือนและก่อสร้างบ้าน ถ้าหากนำไปเป็นยา จะมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นนำดอกแห้งมาทำยา หรืออย่างในหนังสือ “Ben Chao Kang Mu” ของลีชิชาม ก็บอกว่าต้องนำลำไยแห้งต้มในน้ำดื่มบำรุงกำลัง

ลำไยยังมีสรรพคุณอื่นอีก เช่น บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท เลือด และให้สารอาหารต่อร่างกายมากมาย
ยิ่งไปกว่านั้น เชื่อว่าหลายคนน่าจะยังไม่ทราบคือคนจีนสมัยก่อนนำเมล็ดลำไยสีดำสนิท หยิบเอาสารภายในนั้นมาทำเป็นสบู่
นอกจากเรื่องการใช้ชีวิต ลำไยยังผูกโยงกับความเชื่อ เพราะคนจีนเชื่อว่าหากกินลำไยอย่างน้อยปีละหนึ่งผลจะทำให้เราโชคดีและมีชีวิตที่ดี
ลำไยจึงถือเป็นหนึ่งผลไม้ที่ให้นานาคุณประโยชน์แก่เราในทุกทาง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ลำไย” 5 ต้นแรกของไทยอยู่ที่ไหน ใครได้ปลูกเป็นคนแรก ๆ
- ดอกสาบเสือ มาพร้อมกับสายลมหนาว
- สตรอเบอรี่ จากผลไม้นำเข้าสู่ผลผลิตในประเทศ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://hist.human.cmu.ac.th/sites/default/files/book-files/2023/2023-09/03_longan_0.pdf
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2568