“คิชฌกูฏ” พิสูจน์ศรัทธา หนึ่งในแหล่งแสวงบุญสำคัญของชาวพุทธ

หินลูกพระบาท รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ (เขาพระบาทพลวง) รอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในไทย
หินลูกพระบาทและรอยพระพุทธบาท ณ เขาคิชฌกูฏ (ภาพจาก Facebook อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ. จันทบุรี Khaokhitchakut National Park)

เขาคิชฌกูฏ (เขาพระบาทพลวง) ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งศรัทธา ณ จังหวัดจันทบุรี ที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย

เขาคิชฌกูฏ หรือที่รู้จักอีกชื่อว่า “เขาพระบาทพลวง” หนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ตำบลพลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองจันทบุรีประมาณ 40 กิโลเมตร

คำว่า “คิชฌกูฏ” มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี โดย “คิชฺฌ” หมายถึง แร้งหรือนกเหยี่ยว และ “กูฏ” หมายถึง ยอดเขา รวมกันแปลว่า “ภูเขาแห่งนกแร้ง”

ชื่อนี้ยังเชื่อมโยงกับเขาคิชฌกูฏในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาที่ล้อมรอบเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับและแสดงพระธรรมเทศนา

เขาคิชฌกูฏในจังหวัดจันทบุรี จึงได้รับการตั้งชื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ในพุทธประวัติ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณระหว่างดินแดนพุทธภูมิในอินเดียกับดินแดนสุวรรณภูมิในประเทศไทย ซึ่งทุก ๆ ปี จะมีพุทธศาสนิกชนขึ้นมาสักการะและกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขานี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โดยในปี 2568 ตรงกับวันที่ 29 มกราคม ถึง 29 มีนาคม

รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ
รอยพระพุทธบาท แห่งเขาคิชฌกูฏ (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 20 มกราคม 2566)

รอยพระพุทธบาทและหินลูกพระบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย

แลนด์มาร์กสำคัญของเขาคิชฌกูฏ คือ เป็นที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทพลวง” ซึ่งเป็นรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนความสูง 1,050 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

รอยพระพุทธบาทนี้มีขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พ.ศ. 2397 แต่ตอนนั้นยังเข้าถึงยากลำบาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่าเขาสูงชัน

อีกทั้ง วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ฝรั่งเศสยึดครองเมืองจันทบุรี และใช้ยอดเขานี้เป็นฐานส่องกล้องดูข้าศึกทางทะเล และทำแผนที่ จึงทำให้ยอดเขานี้มีชื่อเรียกว่า ห้างฝรั่ง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้น ณ จังหวัดจันทบุรี อยู่บ่อยครั้ง 

อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทั้งเมืองจันทบุรีและเขาคิชฌกูฏ ได้กลับมาอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของสยามอีกครั้ง หลังจากสยามเจรจาตกลงทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 เมื่อ “หลวงพ่อเขียน” หรือพระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิงและเจ้าคณะอำเภอในขณะนั้น ได้บุกเบิกเส้นทางขึ้นสู่รอยพระพุทธบาท จนสามารถนำรถยนต์ขึ้นไปได้เป็นครั้งแรก นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเส้นทางจนถึงปัจจุบัน

นอกจากรอยพระพุทธบาท อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจบนยอดเขาคิชฌกูฏคือ “หินลูกพระบาท” หรือ “หินลูกบาตร” เป็นก้อนหินขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายบาตรคว่ำ ตั้งตระหง่านอยู่บนชะง่อนผา

หินลูกพระบาทเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ เนื่องจากก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลาดเอียงอย่างมั่นคง จนเกิดเรื่องเล่าว่าหินนี้ลอยอยู่เหนือพื้นดิน ทั้งยังมีผู้เล่าว่าเคยมีคนทดลองสอดเส้นด้ายผ่านใต้ก้อนหินได้ด้วย

เส้นทางแห่งศรัทธา

เส้นทางการเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏมีระยะทางประมาณ 8.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางมีจุดพักและศาลาธรรมสำหรับผู้แสวงบุญ รวมถึงป้ายธรรมะและคติสอนใจ

ทุก ๆ ปี ช่วงเทศกาลนมัสการรอยพระพุทธบาท ตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึง วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 รวมระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จะมีประเพณีการเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏในยามราตรี ถือเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งที่ผู้แสวงบุญต้องอดทนต่อความยากลำบาก เพื่อบรรลุถึงจุดหมายอันศักดิ์สิทธิ์

หลายคนเชื่อว่า การเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏเปรียบเสมือนการจำลองเส้นทางสู่นิพพานในคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่ต้องผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนจะบรรลุถึงจุดหมายสูงสุด

หินลูกพระบาท รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ
หินลูกพระบาทและรอยพระพุทธบาท ณ เขาคิชฌกูฏ (ภาพจาก Facebook อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ จ. จันทบุรี Khaokhitchakut National Park)

ผ้าแดง ณ จุดอธิษฐานสิ้นสุดเส้นทาง

เมื่อถึงรอยพระพุทธบาทและหินลูกพระบาทแล้ว ผู้แสวงบุญมักเดินต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร ไปจุดที่เรียกว่า “ผ้าแดง” สถานที่สำหรับผูกผ้าสีแดงที่เขียนคำอธิษฐาน เชื่อกันว่าสามารถขอพรได้เพียงหนึ่งอย่างเท่านั้น

จุดผ้าแดงนี้แท้จริงแล้วเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางบนเขาคิชฌกูฏ เพราะต่อจากนั้นเป็นหุบเหว ผ้าแดงจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์แห่งศรัทธาและเครื่องเตือนภัยไปพร้อมกัน

เขาคิชฌกูฏจึงไม่เพียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาของชาวพุทธทั่วประเทศ ที่เดินทางมาสักการะรอยพระพุทธบาทอันศักดิ์สิทธิ์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ประวัติความเป็นมาของรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง). ออนไลน์.

เขาคิชฌกูฏ ตำนานแห่งศรัทธา. ออนไลน์.

เขาคิชฌกูฏ. วารสารเมืองโบราณ. ออนไลน์.

เปิดความลับมหัศจรรย์ “เขาคิชฌกูฏ” หินก้อนยักษ์ตั้งอยู่ได้อย่างไร? ไม่ตกหล่น. ออนไลน์.

คิชฌกูฏ (บาลีวันละคำ 1,780). ออนไลน์.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ (2544). สารานุกรม วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดจันทบุรี, กรมศิลปากร (พิมพ์ครั้งที่ 1) : กรุงเทพมหานคร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2568