ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดคุณสมบัตินางคณิกาในสังคมอินเดีย ต้องมีความเพียบพร้อมทางศาสตร์ และศิลป์ ถึง 64 อย่าง
ในสังคมอินเดียยุคโบราณ โสเภณีมีหลายระดับ ที่จัดเป็นโสเภณีชั้นสูงคือ “นางคณิกา” ในคัมภีร์กามสูตร ของฤๅษีวาตสยายน อธิบายถึงนางประเภทนี้ว่า “หญิงเวศยาผู้มีความประพฤติดี มีคุณธรรม รูปร่างสวยงามเป็นคุณสมบัติประจำตัว หญิงเวศยานั้นย่อมได้รับตำแหน่งนางคณิกา ตำแหน่งสูงในหมู่ชน”
นางคณิกาต้องเป็นโสเภณีที่มีคุณสมบัติทางด้านศาสตร์ และศิลป์ 64 อย่าง ก็เพื่อเสริมสร้างบุคลิกภาพให้เป็นที่พึ่งพอใจแก่รสนิยมของบุรุษทั้งหลายโดยเฉพาะชนชั้นสูง
คุณสมบัตินางคณิกา ที่ต้องมีพร้อมด้วยศาสตร์ และศิลป์ 64 อย่าง ตามที่ระบุในคัมภีร์กามสูตร มีดังนี้
1. การขับร้อง 2. การเล่นดนตรี 3. การเต้นรำ 4. การวาดภาพ 5. การสักบนผิวหนัง การตกแต่งหน้าผาก 6. การตกแต่งพื้นด้วยข้าว ดอกไม้ และสิ่งต่าง ๆ 7. การจัดห้อง เตียงนอน และผนังห้อง 8. การระบาย และย้อมสีร่างกาย เสื้อผ้า ฟัน ผม เล็บ และริมฝีปาก ฯลฯ 9. การประดับพื้นด้วยหิน และมณีมีค่า 10. ศิลปการทำเตียงอย่างสวยงามในโอกาสต่าง ๆ และแบบต่าง ๆ
11. ศิลปการจัดภาชนะที่ทำด้วยแก้วที่มีน้ำเต็ม 12. ศิลปในการว่ายน้ำ และเล่นกีฬาในน้ำ 13. ศิลปการรู้จักใช้มนตร์ และใช้ยา 14. ศิลปการร้อยลูกปัดทำสร้อยคอ พวงมาลัย พวงหรีด ฯลฯ 15. ศิลปการทำเครื่องประดับศีรษะด้วยดอกไม้ 16. ศิลปการแต่งตัว และทำเครื่องแต่งตัวเพื่อแสดงบนเวที 17. ศิลปการทำตุ้มหู 18. ศิลปการทำน้ำหอม 19. ศิลปการจัดเพชร และเครื่องประดับ 20. ความรู้ทางไสยศาสตร์ เวทมนตร์คาถา

21. ศิลปในการทำรายการสำหรับตกแต่งให้สวย และทำให้คนหลง 22. ศิลปการทำให้มือเบา 23. ความชำนาญในการประกอบอาหาร 24. การปรุงเครื่องดื่ม น้ำผลไม้คั้น และเครื่องดื่มนานาชนิด 25. การเย็บปักถักร้อยนานาชนิด 26. การทำนกแก้ว ดอกไม้ พู่ห้อยจากเส้นด้าย 27. การแก้ หรือตอบปัญหา และปริศนาต่าง ๆ 28. การเล่นต่อโศลก 29. ศิลปการเลียนเสียงสัตว์ และเครื่องดนตรีอื่น ๆ 30. การอ่านออกเสียงบทสวดให้ถูกต้อง
31. การสร้างประโยคด้วยคำยาก 32. ความรู้เรื่องบทละคร และนิทานพื้นบ้าน 33. การเติมข้อความในโศลก 34. ศิลปในการทำของจากไม้ไผ่ 35. ศิลปการแกะสลัก และการตกแต่งผิวเครื่องใช้ 36. งานช่างไม้ 37. ศิลปในการก่อสร้าง 38. ความรู้เรื่องการเล่นแร่แปรธาตุ 39. ความรู้ทางเคมี และทางโลหะ 40. ความรู้การย้อมสีของโลหะ
41. ความรู้เรื่องการทำสวน 42. ศิลปการฝึกแพะ ไก่ นกคุ่ม เพื่อการชน 43. ศิลปการฝึกนกแก้วให้พูด 44. ศิลปการนวดร่างกาย และสระผม 45. การเข้าใจ และเขียนคำที่เป็นปริศนา 46. เข้าใจว่าข่าวอันเป็นรหัส 47. ความรู้ทางภาษาต่าง ๆ และภาษาถิ่นของดินแดนต่าง ๆ 48. ศิลปการทำยวดยานดอกไม้ 49. มีความรู้เรื่องลางสังหรณ์ 50. ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือ และเครื่องใช้นานาชนิด

51. ศิลปการฝึกความจำ 52. ศิลปการอ่านร้อยแก้ว และร้อยกรอง ตามหลังจากการได้ยิน 53. ความรู้เกี่ยวกับการแต่งคำประพันธ์ต่าง ๆ 54. ความรู้เกี่ยวกับศัพท์ต่าง ๆ 55. ความรู้เรื่องฉันท์ 56. ความรู้เรื่องอลังการ 57. ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนรูปร่างคน 58. ความรู้เกี่ยวกับการปลอมแปลง หรือเปลี่ยนคุณภาพสิ่งของ 59. ความรู้เกี่ยวกับการพนันชนิดต่าง ๆ 60. ความรู้เรื่องการเล่นสกา
61. ความชำนาญเกี่ยวกับการกีฬาของเด็ก ๆ 62. ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเข้าสมาคม วิธีให้ความนับถือ และชมเชยผู้อื่น 63. ความรู้ในศิลปการสงคราม อาวุธ ยุทธศาสตร์ และการเมือง 64. ความรู้เกี่ยวกับยิมนาสติก
คุณสมบัตินางคณิกาเหล่านี้จะทำให้พวกนางมีความรู้รอบชำนาญการด้านต่าง ๆ สังคมก็จะให้การยอมรับ และได้รับการเชิดชูเกียรติยศท่ามกลางหมู่บุรุษ
นางคณิกาในสังคมอินเดียยุคโบราณจึงไม่ใช่แค่โสเภณีทั่วไป
อ่านเพิ่มเติม :
- โสเภณีอินเดียโบราณ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คืออะไรบ้าง?
- เปิดประวัติ “วัดกันมาตุยาราม” วัดย่านเยาวราชของ “นางกลีบ” ลูกสาว “ยายแฟง” แม่เล้าชื่อดัง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อุดม สมพร. “เรื่องโสเภณีในวรรณคดีบาลีและสันสกฤต : การศึกษาเชิงวิเคราะห์”. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2568