ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
โสเภณีอินเดียโบราณ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ นางคณิกา รูปาชีวา และกุมภาทาสี
“โสเภณี” เป็นคำที่ใช้เรียกหญิงที่ทำการค้าประเวณีนั้น มีที่มาจากภาษาบาลีว่า “นครโสภิณี” โดย นคร แปลว่า เมือง, โสภิณี แปลว่า หญิงงาม
นอกจากคำเรียกโสเภณีแล้ว ในสังคมไทยเรียกหญิงเหล่านี้อีกหลายคำ เช่น หญิงงามเมือง หญิงหากิน หญิงสำเพ็ง นางโลม หญิงชั่ว นางคณิกา เป็นต้น
สำหรับสังคมอินเดีย ในวรรณคดีสันสกฤตมีคำเรียกโสเภณีหลายคำ คำที่มีรูปศัพท์ที่แปลว่า หญิงสาวที่เป็นสินค้า เช่น อาปณารี อาปณโยษา ปณสฺตฺรี ปณางฺคณา ปณโยษิตา ปณฺวนิตา
นอกจากนี้ยังมีคำอื่นเช่น คณิกา-นางผู้เกี่ยวข้องกับชุมชน, เวศฺยา-นางผู้น่าเข้าถึง, ปุศํจลี-นางผู้วิ่งตามชาย, มหาคฺนี-นางผู้เปลือยกาย, วารกนฺยา-หญิงชั่วคราว

โสเภณีอินเดียโบราณตามที่ปรากฏใน “คัมภีร์กามสูตร” ของฤษีวาตสยายน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. นางคณิกา เป็นโสเภณีหญิงที่มีฐานะสูงกว่าประเภทอื่น โดยจะต้องมีความสามารถในทางศิลป์ 64 ประการ ไม่เพียงเล่นดนตรี เต้นรำ ร้องเพลง แต่ยังรวมถึง แสดงละคร แต่งกลอน จัดดอกไม้ ร้อยพวงมาลัยสวมศีรษะ รู้จักเตรียมน้ำหอมและเครื่องสำอาง ปรุงอาหารได้ ตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นต้น
ด้วยคุณสมบัติมากมาย ทำให้นางคณิกาเป็นที่นิยมของคนชนชั้นสูง และยังได้รับเกียรติและการยกย่องจากกษัตริย์และเหล่าผู้นำทั้งหลาย
2. รูปาชีวา เป็นโสเภณีหญิงที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีความสามารถทางศิลป์เหมือนอย่างนางคณิกา
3. กุมภาทาสี เป็นโสเภณีหญิงที่มีระดับต่ำที่สุด
โสเภณีอินเดียโบราณทั้ง 3 ประเภทถือเป็นอาชีพที่สังคมไม่ได้รังเกียจ ในยุคโบราณ สังคมอินเดียให้การยอมรับคนกลุ่มนี้ พวกเธอจึงมีบทบาทสำคัญ หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร สถาบันศาสนา เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “นางอัปสร” ถูกเปรียบว่าเป็น “โสเภณีแห่งสรวงสวรรค์” ?
- วิวัฒนาการโรงโสเภณีในกรุงเทพฯ เมื่อ 100 ปีก่อน จากวลี “ยายฟักขายข้าวแกง ยายแฟงขาย.. ยายมีขายเหล้า”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503”, วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2568