ผู้เขียน | บัณฑิตา คงสิน |
---|---|
เผยแพร่ |
มัทนะพาธา ตำนานดอกกุหลาบในบทละครพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 6
เทศกาลวาเลนไทน์ เทศกาลแห่งความรักในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ใคร ๆ ก็รู้จักกัน เรามักจะเห็นคู่รักนำดอกกุหลาบมอบให้กัน แล้วรู้ไหมว่า ในวรรณคดีไทย ต้นกำเนิดดอกกุหลาบแสนสวย มาจากคำสาปของหญิงสาวคนหนึ่งที่ยืดหยัดในความรักของเธอ
“มัทนะพาธา” เป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องค์ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2466 และจบสมบูรณ์ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 เดือน 17 วันเท่านั้น
มัทนะพาธา มาจากคำสันสกฤตว่า มทน (มะ-ทะ-นะ) แปลว่า ความลุ่มหลงหรือความรัก พาธา แปลว่า ความเบียดเบียนหรือความทุกข์ คำนี้จึงมีความหมายว่า ความเจ็บปวดและความเดือดร้อนเพราะความรัก
สันนิษฐานว่า การที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกดอกกุหลาบให้เป็นตัวแทนของนางเอกนั้น มาจากการที่ดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรักมาตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน เป็นดอกไม้ที่มีลักษณะสวยงาม ส่งกลิ่นหอมไปทั่ว
แต่กุหลาบยังแฝงด้วยความอันตรายจากหนามรอบลำต้น ซึ่งตรงกับแก่นของเรื่องที่ชี้ให้เห็นโทษของความรัก ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั้นมีทุกข์” เพราะตัวละครในเรื่องต้องพบกับความเศร้าโศกและผิดหวังจากความรักในที่สุดท้าย

วรรณกรรมเรื่องนี้คือการเล่าต้นกำเนิดของดอกกุหลาบ เรื่องราวมีอยู่ว่า สุเทษณ์ เทพผู้ปกครองสวรรค์หลงรัก มัทนา นางฟ้าที่มีหน้าตาสะสวย แต่นางไม่รับรัก เขาจึงสาปให้นางมาเกิดเป็น “ดอกกุหลาบ” บนโลกมนุษย์ เพื่อชดใช้โทษที่ไม่รับรัก แต่จะสามารถกลับมาเป็นมนุษย์ได้ในทุก ๆ คืนจันทร์เต็มดวง ทำให้นางพบรักกับ ชัยเสน กษัตริย์แห่งเมืองหัสตินาปุระ
แต่ความรักก็ไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะชัยเสนมีภรรยาอยู่แล้ว คือ นางจัณฑี นางให้สาวใช้ไปบอกชัยเสนว่ามัทนาเล่นชู้กับ ศุภางค์ ทหารเอก ชัยเสนจึงโมโหและสั่งประหารทั้งคู่ แต่สุดท้ายมารู้ความจริงว่า ทั้งสองนั้นไม่ได้เล่นชู้กันอย่างที่ตนได้ยินมาจึงรู้สึกผิด
เมื่อเหล่าอำมาตย์บอกความจริงว่ายังไม่ได้ประหารทั้งสอง ชัยเสนจึงออกเดินทางเพื่อไปรับนางมัทนามาอยู่ด้วยกัน แต่ก็สายไปแล้ว เพราะนางมัทนาได้ขอให้สุเทษณ์มารับนางกลับไปสวรรค์ สุเทษณ์ขอให้มัทนารับรักของตนก่อน ถึงจะรับนางกลับสวรรค์ แต่มัทนาก็ยังมั่นคงในรักของนางกับชัยเสน จึงปฏิเสธไป
สุเทษณ์โกรธมาก จึงสาปให้นางกลายเป็นกุหลาบไปตลอดกาล
เมื่อชัยเสนมาถึงก็พบเพียงดอกกุหลาบ จึงนำดอกกุหลาบกลับไปปลูกที่เมืองของตน
บทละครพูดคำฉันท์เรื่องนี้สะท้อนถึงการสูญเสีย การไม่สมหวังในความรัก ทั้งสุเทษณ์ที่มัทนาไม่รับรัก ชัยเสนที่ต้องสูญเสียคนรักไปจากความหูเบาของตน และมัทนาผู้น่าสงสาร เพียงเพราะเธอไม่ตอบรับความรักของสุเทษณ์ผู้ยิ่งใหญ่ ทำให้ต้องพบจุดจบด้วยการกลายเป็นดอกกุหลาบไปตลอดกาล
ต้นกำเนิดดอกกุหลาบที่แสนสวย โรแมนติก และเป็นดอกไม้ตัวแทนของความรัก แต่ต้นกำเนิดของมันกลับแสนเศร้า เกิดจากความผิดหวังของทุกตัวละคร แต่อีกนัยหนึ่งยังสื่อถึงรักของมัทนา ที่มั่นคงกับชัยเสนจนวินาทีสุดท้ายของนางเอง

อ่านเพิ่มเติม :
- นิทานพื้นบ้านจีนอายุนับพันปี กับ “ความรัก” สะเทือนฟ้าดิน
- จุดเปลี่ยน “กุหลาบ” ดอกไม้ประวัติศาสตร์แพร่หลายโด่งดังทั่วโลกได้อย่างไร
- “อโฟรไดท์” เทพเจ้าผู้ทำให้คน “คลั่งรัก” ต้นกำเนิดการให้ดอกกุหลาบแดงแทนความรู้สึก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หนังสือแบบเรียน วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยาศึกษาปีที่ 5. (ออนไลน์)
วารสารนาคบุตรปริทรรศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. มัทนะพาธา : สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงในมุมมองสตรีนิยมเชิงนิเวศ. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2568