พระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส ที่ถวายรัชกาลที่ 5 เหตุใดถึงเรียกว่าแปลก?

พระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส
พระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส ที่ถวายรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก "ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย")

พระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส เป็นของแกรนด์ ดยุก เอิร์นสท์ ลุดวิก ผู้ครองนครรัฐเฮส ประเทศเยอรมนี ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพุทธลักษณะแปลกไปจากพระพุทธรูปทั่วไป จนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมมตอมรพันธุ์ ทรงเปรียบเป็น “ตุ๊กตา”

หากรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับว่าเป็น “พระพุทธรูป”

ที่มาของพระพุทธรูป

พระพุทธรูปดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก (พ.ศ. 2440) ทำให้ทรงคุ้นเคยกับแกรนด์ดยุก เอิร์นสท์ ลุดวิก (Ernst Ludwig) ผู้ครองนครรัฐเฮส (Hess) ประเทศเยอรมนี และเป็นที่ชอบพระราชอัธยาศัยกัน

พระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส
พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาธส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 บนเรือพระที่นั่งมหาจักรี

เมื่อเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง (พ.ศ. 2450) แกรนด์ดยุกจึงจำลองพระพุทธรูป ซึ่งสร้างขึ้นโดย กุส. บราดซเท็ตเทอร์ (Guss. Bradstetter) มาถวาย ระหว่างที่ประทับเมืองซันเรไม ประเทศอิตาลี เป็นที่ตื่นตาของผู้พบเห็น ด้วยมีน้ำหนักถึงครึ่งตัน

แปลกตรงไหน?

พระพุทธรูปดังกล่าวประทับขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิ มีพุทธลักษณะที่แปลกไปจากพระพุทธรูปทั่วไป คือ ไม่ครองจีวร แค่โพกผ้าที่พระเศียร พระหัตถ์แสดงปางสมาธิแบบจีนและญี่ปุ่น รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ตอนหนึ่งว่า

พระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส
แกรนด์ ดยุก เอิร์นสท์ ลุดวิก

“…พระที่แกรนด์ตุ๊กออฟเฮสสร้าง…พวกฝรั่งบ่าวตื่นเต้นกันว่าหนักเต็มที่ ถึงครึ่งตัน…ทำฝีมือดีมาก หน้าตา กล้ำเนื้อเป็นคนหมด เว้นไว้แต่ถ้าจะดูเป็นพระแล้วไม่แลเห็นว่าเป็นพระ เพราะเปลือยกายไม่มีผ้าห่ม กลับไปมีผ้าโพก 

อาการกิริยาที่นั่งสมาธิเพช แต่เท้าทั้งสองข้างชัน ไม่ราบลงไปกับตักเหมือนกับพระเราๆ…มือเอานิ้วชี้งอข้างหลังนิ้วชนกัน นิ้วแม่มือปลายนิ้วชนกัน เป็นพวกพระเชียงรุ้ง ไซเบียเรีย พวกที่ถือหม้อน้ำมนต์ฤาบาตร 

กรมสมมตออกวาจาว่าถ้าดูเป็นพระแล้วออกฉุนๆ ถ้าดู เป็นรูปตุ๊กตาแล้วงาม กรมดำรงต้องการจะเอาไปเข้าแถวพระระเบียงวัดเบญจมบพิตร แต่ครั้นเมื่อเห็นแล้ว เห็นว่าเข้ากันไม่ได้ ไม่เป็นพระอย่างไทย…”  (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียน)

ปัจจุบัน พระพุทธรูปของแกรนด์ดยุก เฮส ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา ภายในพระบรมมหาราชวัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

รศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์. ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์โอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2568