
ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ช้างป่าต้น คนสุพรรณ” สำนวนไทยประโยคนี้ใช้ชื่นชมหรือบูลลี่ แล้ว “ช้างป่าต้น” กับ “คนสุพรรณ” สัมพันธ์กันอย่างไร “ป่าต้น” อยู่ที่ไหน เกี่ยวข้องอย่างไรกับ “ช้าง” และ “เมืองสุพรรณ” เรื่องนี้ต้องติดตาม
ช้าง (ใน) ป่าต้น เป็นช้างอะไร
เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนหนึ่งที่ขุนแผนพานางวันทองหนีจากขุนช้าง จนถึง “บ้านจรเข้สามพัน” ได้กล่าวถึงสัตว์ในป่าบริเวณนั้นว่า
จตุบาทกลาดป่าพนาดร ฝูงกุญชรเข้าชัฏระบัดพง
นำโขลงคลาเคลื่อนมาคล่ำคลาย ทั้งพังพลายเนียมนิลดูระหง
โคบุตรสังทันต์คันทรง อำนวยพงศ์สุประดิษฐ์ตระหง่านงาม
ชาติเชื้อเนื้อเกิดในป่าต้น เอกทันต์ทอกทนพินายหลาม
สีดอเดินเกริ่นโกรกตะโกรงงาม ค่อมข้ามขอนขัดตะโคงคุ้ย
กลอนข้างต้นกล่าวถึง “ช้างมงคล” ใน “ป่าต้น” 11 ที่มีชนิด คือ เนียม, นิล, โคบุตร, สังทันต์, คันทรง, อำนวยพงศ์, สุประดิษฐ์, เอกทันต์, ทอก, พินาย และสีดอ ซึ่งรายละเอียดไม่ขอกล่าวในที่นี้

“ป่าต้น” คือป่าอะไร
การเลี้ยงช้างในอดีตเมื่อฝึกจนเชื่อง และคุ้นกับควาญไม่ตื่นคนใช้งานได้แล้ว หากว่างเว้นจากการใช้งาน มักจะพาไปปล่อยในป่า เพื่อไม่ให้ขาดความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะช้างที่ใช้ในกองทัพ ป่าดังกล่าวนั้นคือ “ป่าต้น” หรือ “ป่าหลวง” ที่เป็นป่าสงวนสำหรับเลี้ยงช้างหลวงหรือสัตว์อื่น ๆ ห้ามคนทั่วไปมาจับ หรือล่าสัตว์ในเขตป่านี้
คำว่า “ป่าต้น” เป็นการนำคำว่า “ต้น” มาประกอบกับคำว่า “ป่า” เพื่อแสดงว่าเป็นราชาศัพท์ เช่น เรือต้น, ประพาสต้น ฯลฯ
“ป่าต้น” อยู่ที่ไหน
ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนช้างฟ้องว่าขุนแผนเป็นขบถ จมื่นศรีกราบทูลเรื่องการตามจับขุนแผนต่อพระพันวษา ความตอนหนึ่งว่า
ได้ยกกองทัพขับพลไป ถึงตำบลต้นไม้ไทรสาขา
ยังห่างป่าต้นพ้นมา ขุนช้างชี้ว่าที่ตรงนี้
………………………………………..
จึงยกต่อไปในพนา จนถึงป่าห้วยจระเข้สามพัน
ศุภร บุนนาค ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทย อธิบายไว้ในหนังสือชุดสมบัติกวีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ว่า
“ป่าต้น เมื่อดูตามคำบรรยาย (ในเสภาขุนช้างขุนแผน) อีกทั้งชื่อสถานที่ที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว น่าจะอยู่ในบริเวณที่เป็นตำบลอู่ทอง ตำบลยุ้งทลายและตำบลจรเข้สามพัน…ตามคำให้การจมื่นศรีสรรักษ์กราบทูลสมเด็จพระพันวษาว่า ตามไปพ้นตำบลป่าต้นแล้ว ไปสุดเอาที่ห้วยจระเข้สามพัน จึงพบขุนแผนกับวันทอง”
พื้นที่ที่เป็นแหล่งเลี้ยงช้างมาแต่โบราณ ที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของ “ป่าต้น” คือ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ สำนวน “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ” จึงเป็นการอุปมาอุปมัย “คนสุพรรณ” กับ “ช้างป่าต้น” ในทางชื่นชมยกย่องคนสุพรรณ

อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “เมืองสุพรรณบุรี” ในอดีต ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองโจร-เมืองคนดุ” !?
- กรมพระยาดำรงฯ ไม่ทรงเชื่อคติโบราณ “เจ้านายห้ามเสด็จไปเมืองสุพรรณ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ถาวร สิกขโกศล. “ช้างป่าต้น คนสุพรรณ” ใน, ความรู้เรื่องชง และเรื่องน่ารู้จีน-ไทย, สำนักพิมพ์แสงดาว 2560.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2568.