กรมพระยาดำรงฯ ไม่ทรงเชื่อคติโบราณ “เจ้านายห้ามเสด็จไปเมืองสุพรรณ”

ภาพประกอบเนื้อหา - ขบวนม้าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะเสด็จตรวจราชการมณฑลต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2449 (ภาพจากหนังสือ เทศาภิบาล พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สนพ.มติชน)

“—ฉันก็นึกอยากไปอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เป็นบ้านะ—” 

เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตอบคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จประพาสหัวเมืองสุพรรณบุรีของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เหตุที่ทรงตอบเช่นนั้นสืบเนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า “—ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี—“

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ใน พ.ศ. 2435 ได้เสด็จตรวจเมืองพิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย เมืองตาก แล้วเสด็จกลับทางเมืองกำแพงเพชร เมื่อเสด็จมาถึงเมืองอ่างทอง ทรงหยุดพัก 2 วัน โปรดสั่งเจ้าเมืองและกรมการเมืองให้เตรียมหาม้าพาหนะกับคนหาบหามสิ่งของสัมภาระเพื่อเดินทางบกไปสุพรรณบุรี

Advertisement

ครั้งนั้นพระยาอินทรวิชิต เจ้าเมืองอ่างทองซึ่งสนิทสนมคุ้นเคยกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้พยายามขัดขวางไม่ให้เสด็จโดยอ้างว่า การเดินทางจากอ่างทองไปเมืองสุพรรณบุรีนั้นยากลำบาก หนทางไกลไม่มีที่พักแรม ท้องทุ่งที่จะเดินทางไปบางส่วนแห้งแล้งร้อนจัด บางแห่งยังเต็มไปด้วยโคลนตมเฉอะแฉะ แต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ไม่ทรงเลิกล้มความตั้งพระทัย เพราะทรงเคยผ่านความยากลำบากในการเดินทางมามาก จึงมีพระดำริว่าน่าจะสามารถเดินทางไปเมืองสุพรรณบุรีไม่ยากนัก

ในที่สุดพระบาอินทรวิชิตก็สารภาพว่าที่พยายามขัดขวางไม่ให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี เพราะเกรงอันตรายอันเนื่องมาจากคติความเชื่อมาแต่โบราณว่า “ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี” เมื่อทรงซักถามถึงสาเหตุพระยาอินทรวิชิตก็ไม่สามารถทูลตอบได้ เพียงแต่ย้ำทูลว่าเป็นคติความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า เพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีไม่ชอบเจ้านาย แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด จึงทรงอธิบายถึงพระดำริของพระองค์ว่า

“—ฉันคิดว่าเทพารักษ์ที่มีฤทธิเดชถึงสามารถจะให้ร้ายให้ดีแก่ผู้อื่นได้จะต้องสร้างบารมีมาแต่ชาติปางก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้มาเป็นเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ถึงปานนั้น ก็การสร้างบารมีนั้นจำต้องประกอบด้วยศีลธรรมความดี ถ้าปราศจากศีลธรรมก็หาอาจจะเป็นเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรี คงอยู่ในศีลธรรม รู้ว่าฉันไปเมืองสุพรรณเพื่อจะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งกว่าแต่ก่อน คงจะกลับยินดีอนุโมทนาด้วยเสียอีก—“

การเดินทางจากอ่างทองไปยังสุพรรณบุรีในสมัยนั้นค่อนข้างลำบาก ต้องนั่งเรือข้ามลำน้ำน้อยขึ้นมาที่เมืองวิเศษชัยชาญ แล้วจึงขี่ม้าต่อ ท้องที่ระหว่างเมืองอ่างทองกับเมืองสุพรรณบุรีส่วนมากเป็นท้องทุ่ง บางแห่งก็แห้งแล้ง อย่างที่เรียกว่าย่านสาวร้องไห้ หมายความว่าในฤดูแล้ง ผืนแผ่นดินแห้งผาก คนเดินทางหาน้ำกินไม่ได้ หาที่ร่มพักไม่ได้ บางแห่งก็เป็นที่ลุ่มเฉอะแฉะ ม้าต้องลุยเลนลุยโคลน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงการเดินทางครั้งนั้นว่า “—ทางจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณบุรีเป็นทางไหล และในเวลานั้นยังไปลำบากสมดังพระยาอ่างทองว่า ขี่ม้าไปตั้งแต่เช้าจนเย็นรู้สึกเพลีย ถึงออกปากถามคนขี่ม้านำทางว่า เมื่อไนจะถึงหลายหนจนจวบพลบค่ำจึงไปถึงทำเนียบที่พัก ณ เมืองสุพรรณบุรี—“

และที่เมืองสุพรรณบุรีนี้ต้องพบกับเรื่องแปลก 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ พระยาสุนทรสงครามเจ้าเมืองสุพรรณบุรีเก็บทรัพย์สมบัติหนีออกจากเมืองสุพรรณบุรีไปก่อนที่จะเสด็จถึง ซึ่งทรงทราบถึงสาเหตุภายหลังว่า พระยาสุนทรสงครามประพฤติผิดคิดมิชอบด้วยการรีดไถ กดขี่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร เพราะราษฎรมายื่นเรื่องราวกล่าวโทษพระยาสุนทรฯ มากมายหลายราย

เรื่องที่ทรงแปลกพระทัยอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องที่เมืองสุพรรณบุรีมีศาลเจ้าเป็นจำนวนมาก ดังที่ทรงเล่าว่า “—ที่ในบริเวณเมืองจะไปทางไหนแลเห็นศาลเจ้าไม่ขาดสายตา เป็นศาลขนาดย่อม ๆ ทำด้วยไม้แก่นมุงกระเบื้องก็มี ทำแต่ตัวไม้ไผ่มุงจากก็มี— สังเกตเพียงที่จวนเมืองมีศาลเจ้ารายรอบถึง 4 ศาล—” จากข้อสังเกตดังกล่าว ทรงสันนิษฐานว่าชาวเมืองสุพรรณบุรีส่วนใหญ่น่าจะนับถือและกลัวเกรงเจ้าผีเป็นนิสัยสืบกันมาช้านาน ถ้าเชื่อว่าแห่งใดเป็นที่มีผีสิงอยู่ก็จะต้องมีการทำพิธีเอาใจผี เช่นปลูกศาลให้ผีสิงสถิตและเซ่นไหว้ด้วยของที่เชื่อว่าผีชอบ เพื่อผีจะได้พอใจไม่ทำร้ายหรือทำความเดือดร้อนให้

นอกจากเรื่องแปลกดังกล่าวแล้ว ยังมีเรื่องที่ทรงพอพระทัย นั่นคือการได้ความรู้เกี่ยวกับโบราณคดีและวรรณคดี โดยเฉพาะสถานที่ในเมืองนี้ เป็นสถานที่ที่ปรากฏในวรรณคดีสำคัญของไทยเรื่องหนึ่งคือเรื่องขุนข้างขุนแผน ไม่ว่าจะตำบลท่าสิบเบี้ยบ้านพ่อแม่ขุนช้าง ตำบลท่าพี่เลี้ยงบ้านพ่อแม่ขุนแผน เป็นต้น ดังที่ทรงเล่าว่า “—ตำบลบ้านและวัดเหล่านี้ยังอยู่จนทุกวันนี้ ฉันได้เคยไปถึงทุกแห่ง—“

การเสด็จตรวจเมืองสุพรรณบุรีของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ครั้งนั้นนอกจากจะทำให้ทรงรู้เรื่องราวความเป็นไปของทั้งเจ้าเมืองและราษฎรในสุพรรณบุรีแล้ว ยังเป็นการลบล้างคติความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรีโดยสิ้นเชิง เพราะหลังจากที่เสด็จกลับอย่างปลอดภัยไม่มีสิ่งร้ายเกิดขึ้นก็มีเจ้านายเริ่มเสด็จไปเที่ยวเมืองสุพรรณบุรีบ้าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัยเรื่องการตั้งมณฑลเทศาภิบาลอันเป็นงานหลักของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพราะนับเป็นการปรับเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งสำคัญ เพื่อให้ศูนย์อำนาจกลางปกครองภูมิภาคได้สะดวกและเป็นเอกภาพ โดยแบ่ง 71 จังหวัดเป็นมณฑลได้ 8 มณฑล แต่ละมณฑลขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยผ่านกระทรวงมหาดไทย จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จทอดพระเนตรผลงานการปกครองหัวเมืองที่จัดใหม่

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ต้องทรงคิดหาสถานที่เสด็จประพาสถวายทุกปี ในปีหนึ่งทรงกราบบังคมทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี จึงมีพระราชดำรัสว่า

“—ฉันก็นึกอยากไปอยู่แล้ว แต่ว่าไม่เป็นบ้านะ—” 

 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงทรงกราบทูลว่า

“—ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้—“

จึงทรงพระสรวลและตรัสว่า

“ไปซิ”

จึงเป็นอันว่าคติความเชื่อโบราณที่ว่า ห้ามเจ้านายมิให้เสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี เหตุผลเพราะเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณบุรีไม่ขอบเจ้านาย อันเป็นเหตุให้เมืองสุพรรณบุรีกลายเป็นเมืองที่ห่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าเมืองทุกคนพยายามรักษาคติความเชื่อนี้ไว้และถือเป็นโอกาสประพฤติผิดคิดมิชอบฉ้อราษฎร์บังหลวง

คติความเชื่อดังกล่าวถูกลบล้างด้วยความกล้าหาญและความตั้งพระทัยแน่วแน่ในการที่จะทำนุบำรุงเมืองสุพรรณบุรีให้เจริญรุ่งเรืองของเจ้านาย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2562