ที่มาของ “ไก่ฟ้า..พญาลอ” แยกความแตกต่างระหว่าง “ไก่ฟ้า” กับ “ไก่บ้าน”

ไก่ฟ้าเพศผู้และเพศเมีย (ภาพจากสมาคมอนุรักษ์ไก่ฟ้าแห่งชาติ)

บางคนอาจสงสัยว่าไก่ฟ้าต่างอะไรกับไก่บ้าน ทั้งที่มันก็เหมือนไก่ แต่เหตุใดจึงเป็นไก่ไม่เหมือนกัน

ไก่ฟ้าเป็นสัตว์ปีกกลุ่มเดียวกับนก ในด้านอนุกรมวิธานจัดอยู่ในวงศ์ฟาเซียนิตี้ ครอบคลุมถึงไก่ป่า นกยูง นกหว้า นกแว่น ไก่จุก นกกระทา และนกคุ่มบางชนิด แม้ว่าในโลกนี้จะมีไก่ฟ้ามากกว่าร้อยชนิด แต่แท้จริงแล้วจำแนกได้เพียง 16 ตระกูล โดยเกือบทั้งหมดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียยกเว้นเพียงนกยูงคองโกเท่านั้นที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา

และเหตุที่ไก่ฟ้าส่วนใหญ่มีชื่อเป็นฝรั่งก็สืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมอันเป็นสากลของการตั้งชื่อสัตว์โลก โดยไก่ฟ้าเอเชียหลายชนิดนำเข้าไปเผยแพร่ในยุโรปแอฟริกาเมื่อนับร้อยปีที่แล้ว

ไก่ฟ้าพญาลอที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักและมีการเพาะเลี้ยงเกือบทั่วโลก ไก่ฟ้าชนิดนี้แม้ถิ่นกำเนิดจะกระจายลงมาตั้งแต่ตอนใต้ของอัสสัม เวียดนาม เขมร ลาว ในไทยพบบนเทือกเขาขุนตาล ต้นน้ำแม่น้ำยม ภูเขียว ทุ่งแสลงหลวง ป่าแถบระยอง จันทบุรี และตราด แต่ที่มีชื่อเป็นภาษาไทยในภาษาฝรั่งว่า Siamese fire-back pheasant

เหตุจากปี 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไก่ฟ้าพญาลอเป็นของขวัญแก่พิพิธภัณฑ์ปารีส ชาวยุโรปจึงตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ถิ่นกำเนิด ไก่ฟ้าชนิดนี้จึงนับเป็นไก่ฟ้าเพียงชนิดเดียวที่มีชื่อเป็นไทย จากเหตุนี้ครั้งหนึ่งไก่ฟ้าพญาลอเคยถูกเสนอชื่อเป็นนกประจำชาติ

ไ่ก่ฟ้าพญาลอเป็นไก่ฟ้าขนาดกลางโดยทั่วไปส่วนใหญ่ออกเทาดำเหลือบเขียวโดยเฉพาะบริเวณหาง แต่ลักษณะเด่นจะอยู่ตรงขนหงอนสีดำยาวโค้งไปด้านหลังดูสง่างาม อีกทั้งแผ่นหนังบริเวณหน้า เกล็ดแข้งและตีนมีสีแดงสด เหนือตะโพกมีแถบขนสีทอง และใต้ลงมาจนถึงขนคลุมหาง จะเป็นสีแดงเพลิงสะดุดตา

สีสันเช่นนี้จะปรากฏเฉพาะเพศผู้เท่านั้น ส่วนเพศเมียไม่มีขนหงอน และสีขนจะออกน้ำตาลแดง ปีกสีดำมีลายพาดสีขาว ในธรรมชาติไก่ฟ้าชนิดนี้จะหวงอาณาเขตหากินพบได้ตามป่าทึบหรือป่าไผ่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่ราบเชิงเขาในระดับความสูงไม่เกิน 2,000 ฟุต ส่วนอาหารหลักเป็นเมล็ดหญ้า หนอน แมลง ที่ชอบที่สุดเป็นลูกไทรสุก

ไก่ฟ้าพญาลอจัดอยู่ในตระกูล Lophura ซึ่งไก่ฟ้าบ้านเราส่วนมากก็อยู่ในตระกูลนี้ เนื่องจากเป็นไก่ฟ้าที่มีความสง่ามากชนิดหนึ่ง จึงมีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณคดีหลายเล่ม ที่น่าสนใจที่สุดเป็นนิราศธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ที่มีการพรรณนาถึงไก่ฟ้าอย่างน่าสนใจ

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2561