ผู้เขียน | บัณฑิตา คงสิน |
---|---|
เผยแพร่ |
พระพุทธรูปและรูปหล่อสำริด รอบระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ มีจำนวนเท่าไรกันแน่
พระปฐมเจดีย์ ปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดนครปฐม เป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงลังกา ความสูงจากพื้นดินถึงยอด 120.45 เมตร ทางเดินระเบียงยาวประมาน 400 เมตร
ในอดีตระเบียงรอบองค์พระปฐมเจดีย์เต็มไปด้วยพระพุทธรูปและรูปหล่อสำริดที่สร้างขึ้นจากกำลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จำนวน 80 องค์ แต่ในปัจจุบันมีเพิ่มถึง 107 องค์
พระพุทธรูปและรูปหล่อสำริดองค์สำคัญ ดังนี้ 1. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) 2. หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด 3. พระสีวลี 4. พระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ 5. พระเกตุ กำลังวัน 9
พระพุทธรูปประจำวันเกิด 8 องค์ ดังนี้ 1. วันเสาร์ พระพุทธรูปปางนาคปรก 2. วันศุกร์ พระพุทธรูปปางรำพึง 3. วันพฤหัสบดี พระพุทธรูปปางสมาธิ 4. วันพุธกลางคืน พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ 5. วันพุธกลางวัน พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร 6. วันอังคาร พระพุทธรูปปางไสยาสน์ 7. วันจันทร์ พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร 8. วันอาทิตย์ พระพุทธรูปปางถวายเนตร
พระพุทธรูปปางพิเศษที่ประจำรัชกาลที่ 6 และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามพระพุทธประวัติ 66 องค์ โดยจะยกมา 4 องค์ ดังนี้
1. พระพุทธรูปปางที่ 31 ปางรับผลมะม่วง พระอิริยาบถนั่งสมาธิ พระหัตถ์ซ้าย (มือซ้าย) หงายบนพระเพลา (ขาหรือตัก) พระหัตถ์ขวา (มือขวา) วางหงายบนพระชานุ (เข่า) ในฝ่าพระหัตถ์มีผลมะม่วง ปางนี้มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าถูกเหล่าเดียรถีย์ประกาศว่าจะกระทำการปาฏิหาริย์ข่มพุทธบารมี จึงจะแสดงพุทธปาฏิหาริย์เพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์ที่ใต้ต้นมะม่วง เดียรถีย์พากันไปถอนต้นมะม่วงออก แต่มีคนสวนนำมะม่วงมาถวายพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยจนหมด จึงนำเม็ดมะม่วงไปปลูก ต้นมะม่วงก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้พระพุทธเจ้าทำพุทธปาฏิหาริย์ได้สำเร็จ
2. พระพุทธรูปปางที่ 36 ปางเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ พระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ (หน้าอก) จีบนิ้วพระหัตถ์ทั้งสองเป็นกิริยาแสดงธรรม ปางนี้มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังดาวดึงส์ พระอินทร์ได้เนรมิตบันไดสามบันได บันไดกลางเป็นแก้วสำหรับพระพุทธเจ้า บันไดซ้ายเป็นทองสำหรับพระอินทร์ และบันได้ขวาเป็นเงินสำหรับพระพรหม ปางนี้จะมีคำบรรยายปางที่เหมือนกับปางลีลาเพราะมาจากพุทธประวัติตอนเดียวกัน พระพุทธรูปนี้ เป็นพระพุทธรูปประจำเดือน 11 เช่นเดียวกับปางลีลา
3. พระพุทธรูปปางที่ 43 ปางชี้อสุภ พระอิริยาบถยืน พระกรซ้าย (แขนซ้าย) ห้อยข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอบั้นพระองค์ชี้ดัชนี (นิ้วชี้) เป็นกิริยาชี้อสุภ ปางนี้มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ เมืองราชคฤห์ มีโสเภณีนางหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อนางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าจึงเลิกอาชีพโสเภณี มุ่งสู่ทางธรรม เมื่อนางเสียชีวิต พระพุทธเจ้าโปรดให้ปล่อยร่างของนางไว้สามวัน เพื่อให้ผู้คนเห็นรูปร่างที่เน่าอืด สื่อถึงสังขารนั้นไม่ยั่งยืน
4. พระพุทธรูปปางที่ 47 ปางสนเข็ม พระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายทำกิริยาจับเข็ม พระหัตถ์ขวาทำกิริยาจับเส้นด้าย ทำกิริยาสนเข็ม ปางนี้มาจากตอนที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ เวฬุวารามใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระองค์ทรงช่วยพระเถระองค์หนึ่งเย็บจีวร การเย็บนี้เป็นงานใหญ่ เหตุจากเป็นผ้าบังสุกุล การที่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุร่วมกันเย็บผ้าบังสุกุล ทำให้เกิดการทอดผ้าป่าในปัจจุบัน พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำปีนักษัตรมะเมีย
นอกจากพระพุทธรูปปางตามพระพุทธประวัติแล้ว ยังมีรูปหล่อสำริดอีก 27 องค์ เช่น พระศรีอาริย์ หลวงพ่อบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระหลักเมือง พระกาฬ เป็นต้น
สรุปแล้ว พระพุทธรูปและรูปหล่อสำริดรอบระเบียงขององค์พระปฐมเจดีย์ มีทั้งสิ้น 107 องค์ แบ่งเป็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามพุทธประวัติ 66 องค์ พระพุทธรูปปางพิเศษที่เป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ 6 1 องค์ พระพุทธรูปประจำวันเกิด 8 องค์ พระพุทธรุปและรูปหล่อสำริดอื่น ๆ อีก 32 องค์
อ่านเพิ่มเติม :
- จังหวัดนครปฐมมาจากไหน พระปฐมเจดีย์มีที่มาอย่างไร
- “พระปฐมเจดีย์” ไม่ใช่เจดีย์แห่งแรกในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
- ร.6 ทรงบันทึก ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์ “พระปฐมเจดีย์” สว่างโพลงทั้งองค์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ไขศรี ศรีอรุณ. (2541). พระพุทธรูปที่ระเบียงรอบองค์พระปฐมเจดีย์. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2567