“กัศยปเทพบิดร” พ่อทุกสถาบัน เทพฤๅษีผู้มีบุตรเป็นเทพ อสูร และอมนุษย์มากมาย

พระกัศยปเทพบิดร หรือ พรพกศป นางอทิติ

เมื่อเอ่ยถึงตำนานกำเนิดสิ่งมีชีวิตกลุ่มอมนุษย์ในคติฮินดู เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่ผ่านตาชื่อของ พระกศป ซึ่งถือเป็นพระผู้สร้างอีกองค์หนึ่งในคัมภีรไตรเพทของฮินดู เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตมายมาย จนได้ชื่อว่า “กัศยปเทพบิดร”

พระกัศยปเทพบิดร หรือ พรพกศป นางอทิติ
พระกัศยปและนางอทิติ (ภาพจากหนังสือ เทวกำเนิด, พระยาสัจจาภิรมย์)

พระกศปเป็นฤๅษี รูปของท่านจึงถูกเขียนให้ทรงเครื่องอย่างเทพฤๅษี ผิวกายขาว มุ่นเกศ โพกผ้าเป็นรูปชฎา นุ่งห่มด้วยโขมพัตถ์ (ผ้าขาว) มีประคำคล้องคอ มีสร้อยนวม และทองกร ถือไม้เท้า

พระกศปเป็นบุตรของพระหรหมกับพระนางสภูติ โดย กศป, กัศป หรือ กัสสป มีความหมายว่า ผู้มีฟันดำ

แล้วใครเป็นบุตรของท่านบ้าง? ต้องบอกว่ามีตั้งแต่สรรพสัตว์ในตำนานฮินดู อสูร ไปจนถึงเทพเทวดาอีกมากมาย โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในตำนานที่เด่น ๆ และรู้จักกันมากที่สุดเห็นจะเป็นนาคและครุฑ

พระกศปนั้นมีชายาเอกคือพระอทิติ ชายาฝ่ายซ้ายชื่อนางทิติ และชายาอีก 12 นาง (บางแห่งว่า 13) ทุกนางล้วนเป็นพระธิดาของพระทักษะ บุตรของท่านจากแบ่งตามชายาแต่ละคนได้ ดังนี้

บุตรอันเกิดจากพระอทิติ คือ พระอาทิตย์ทั้ง 8 ได้แก่ วรุณาทิตย์ มิตราทิตย์ อรยมนาทิตย์ ภคาทิตย์ องศาทิตย์ อินทราทิตย์ ธาตราทิตร์ และสุริยาทิตย์ กับพระวามน (นารายณ์อวตารปางที่ 5)

บุตรอันเกิดจากนางวินตา คือ ครุฑ (พาหนะของพระนารายณ์)

บุตรอันเกิดจากนางกัทรุ คือ นาค กับพระอรุณ (สารถีของพระอาทิตย์)

บุตรอันเกิดจากนางทิติ คือ พระมารุต (ลม) กับแทตย์ (อสูรจำพวกหนึ่ง มักเป็นอริกับเทวดา)

บุตรอันเกิดจากนางทนุ คือ ทานพ (อสูรจำพวกหนึ่ง)

บุตรอันเกิดจากนางโกรธวศา คือ ปีศาจ (ถือว่าเป็นผี ฐานะต่ำกว่าราษสและอสูร)

ครุฑ พญาครุฑ
แบบครุฑ พ 209 (ภาพจาก ระบบศูนย์ข้อมูลทางศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร)

กัศยปเทพบิดรยังมีบทบาทด้านการเป็นพระอาจารย์สอนศิลปศาสตร์แก่บุคคลที่โด่งดังในตำนานฮินดูอย่างปรศุราม (รามสูร) ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อพระกศป เป็น “เทพบิดร” ชายาเอกของท่านอย่างพระอทิติ จึงถูกขนานนามว่า “เทพมารดา” ตามไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พระยาสัจจภิรมย์ (สรวงศรีเพ็ฐ). (2516). เทวกำเนิด. นนทบุรี. โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสุด สุทเธนทร์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2567