คำว่า “ตูด” มาจากไหน จากมูลในจดหมายเหตุทูตฝรั่งเข้าเฝ้าเจ้าพระยาคลังที่มักผายลม!?

คน เซ็กส์
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดทองธรรมชาติ กรุงเทพมหานครฯ

ตูด เป็นคำศัพท์ที่สื่อความถึงอวัยวะส่วนหนึ่งของมนุษย์ และความหมายแทนสัดส่วนของสิ่งอื่นได้อีก แต่คำนี้มีที่มาอย่างไร เมื่อลองสืบค้นดูแล้วก็พบข้อมูลในจดหมายเหตุของผู้เข้ามาเป็นตรีทูตสมัยพระนารายณ์มหาราช

ขณะที่ค้นหาข้อมูลจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเก่า เราก็พบบทความของ “คุณไมค์” หรือไมเคิล ไรท์ อดีตที่ปรึกษาทางวิชาการของศิลปวัฒนธรรมผู้ล่วงลับไปแล้ว รวบรวมข้อมูลที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของคำว่าตูดไว้อย่างสนุกสนาน จากคอลัมน์ “นิรุกติศาสตร์จำเป็น” บทความ “ความเป็นมาของคำว่าตูดในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2525 จึงขอหยิบมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง ดังนี้


ดูคำว่า “ตูด” อย่างเผินๆ แล้ว คงเข้าใจว่าเป็นศัพท์ไทยเดิม ไม่มีอาการแผลงเป็น “ตำนูด” หรือ “ตำบูด” อันอาจจะทำให้คิดว่าเป็นคำเขมรและในภาษามอญก็ไม่มีแนวเทียบ อย่างเช่น “สฺตูด์” หรือ “ขฺตูด์” จึงคงไม่เป็นคำที่มีรากมาจากภาษามอญเป็นแน่ สมควรเป็นคำไทยแท้อย่างเช่น “หมา” “หมู” “เป็ด” “ไก่” เป็นต้น

แต่แล้วหากท่านผู้อ่านจะหาคำว่า “ตูด” ในศิลาจารึกภาษาไทย ก็จะไม่พบคำนี้เลย แม้กระทั่งในหลัก 1 (พ่อขุนรามคำแหง) ก็ไม่มีเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงหันไปดูภาษาอื่นว่าเขามีคำที่มีเสียงคล้ายๆ กันไหม?

เมื่อค้นดูนานๆ เข้า จึงพบคำภาษาอังกฤษคำหนึ่ง เขียนว่า “Toot” (เสียงแตร) อังกฤษออกเสียงว่า “ทู้ต” ฝรั่งเศสออกเสียงว่า “ตู๊ด” คำนี้แหละจะเป็นต้นตอของคำไทย “ตูด” หรือเปล่า?

หลักฐานที่กระตุ้นให้ผมสงสัยในเรื่องนี้ คือสุภาษิตพื้นเมืองอังกฤษที่ว่า Beans, beans are musical fruit. The more you eat, the more you toot. The more you toot the better you feel. So beans, beans for every meal.

ถ้าจะแปลให้เป็นภาษาไทยก็คงว่า “ถั่วเอ๋ย ถั่วนั้นเป็นอาหารดนตรีแท้ ยิ่งรับประทานยิ่งบรรเลงเสียงแตรตู๊ดๆ เสียง บรรเลงตู๊ดๆ ยิ่งเจริญสุขภาพใจ-กาย จึงควรกินถั่วเข้าไปทุกมื้อเอย”

(จะแปลอักษรว่า ทู๊ด หรือ ตู๊ด ก็ตาม) อังกฤษและฝรั่งเศสใช้เป็นเสียงแตรอย่างเช่นในเพลงแตรที่ใช้เรียกพลทหารมารับประทานอาหาร ที่มีบทว่า

“Come to the cookhouse door, boys; Come to the cookhouse door.”  “มาเถิด เจ้าหนุ่มเอ๋ย มาที่ประตูโรงครัว”

ถ้าจะแปลเป็นภาษาแตร มันก็ออกเป็น “ตู๊ด ตะระรูดตู๊ดตูดตู่ รู้ดตะระหรูดตู๊ดตู่”

เมื่อเสียงแตรของฝรั่งเข้าใกล้คำว่าตูดที่คนไทยทุกวันนี้ใช้กัน ผมจึงสงสัยว่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกันหรือเปล่า

จนในที่สุดผมพบหลักฐานที่แน่นอนคือจดหมายเหตุของท่าน เชอวาลีเยร์เดอลาแมร์ด ซึ่งเข้ามาเป็นตรีทูตสมัยพระนารายณ์มหาราช

ในจดหมายเหตุของท่านเชอวาลีเยร์มีความว่า ในการจะทำสัญญาทางการค้าระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ท่านก็จำเป็นต้องเข้าเฝ้าเจ้าพระยาพระคลังบ่อยครั้ง

เจ้าพระยาพระคลังนั้นสูงอายุ สังขารค่อนข้างเสื่อม เข้าเฝ้าที่ใด ท่านนอนอยู่บนพระแท่นตลอด และมักผายลมตลอดระยะเวลาที่เข้าเฝ้าอยู่นั้น

สำหรับคนไทยนั้นความเข้าใจดีในปัญหาทางสรีระที่มักเกิดแก่คนชรา จึงไม่ถือไม่ว่า แต่สำหรับฝรั่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ขายหน้ายิ่งนัก

อย่างไรก็ดีชาวฝรั่งเศสที่เข้าเฝ้าเจ้าพระยาพระคลัง ล้วนแต่เป็นนักการทูต จึงพอหาวิธีกลบเกลื่อนเหตุการณ์ที่น่าละอายนี้ได้ กล่าวคือ ทีไรที่เจ้าพระยาพระคลังผายลมออกมา “ปื๊ด” ทูตเอกจะหันหน้าเข้าหาทูตโท ถามว่า

“เสียงตู๊ดๆ นี้มาจากไหน”

ทูตโทว่า “อ๋อ เขาสวนสนามกันหน้าวังเสียงตู๊ดๆ (แตร) มันจากทางโน่นไง่ล่ะ”

ฝรั่งจึงหายเขิน

แต่สำหรับบ่าวไพร่ของเจ้าพระยาพระคลังเขาไม่รู้สึกเก้อเขินในการที่เจ้านายผายลม แต่เขาพยายามจับความที่พวกทูตฝรั่งเศสเจรจากันก็แปลกันเองว่า

“เสียงนี้มาจากไหน?”

“ก็มาจาก “ตู๊ด” ของท่านนั่นแหละ”

“ตู๊ด” หรือ “ตูด”  จึงกลายเป็นคำนิยม ของชาววังและข้าราชการ และในที่สุดชาวบ้านสามัญๆ ก็ได้รับทอดว่า “ตูด” ก็คือ “ก้น” นั่นเอง

นี่ครับ นิรุกติศาสตร์ตอบปัญหาได้มากมายนัก ก้าวหน้าไปไกลลิบเลยทีเดียว หรือว่าท่านผู้อ่านไม่เชื่อผมว่า คำว่าตูดมาจากคำว่า Toot ของฝรั่ง?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2561