เจาะลึกพิธีขลิบอวัยวะเพศหญิง ประเพณีความเชื่อโบราณสู่ปัญหาของสตรี

ผู้หญิง
ภาพประกอบเนื้อหา - “ผู้หญิงปลอบขวัญ” หรือ comfort woman สามรายที่ถูกบังคับ หรือล่อลวงให้มาเป็นโสเภณีให้กับกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะการแถลงข่าวในกรุงไทเป ของไต้หวัน เมื่อ 13 สิงหาคม 1992 (AFP PHOTO / TAO-CHUAN YEH)

ขลิบอวัยวะเพศ เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มายาวนาน ไม่เพียงแค่เพศชายที่มีพิธีขลิบอวัยวะเท่านั้น แต่ในบางวัฒนธรรมก็มีการขลิบอวัยวะ “เพศหญิง” ด้วย

พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรีเป็นประเพณีโบราณที่เก่าแก่ในหลายวัฒนธรรม จุดประสงค์ของแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกัน มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางสุขภาพและทางพิธีกรรมตามความเชื่อ แต่กิจกรรมหรือพิธีขลิบอวัยวะเพศหญิงถูกโจมตีและถูกประณามว่าเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และนำความทนทุกข์ทรมานมาสู่ผู้หญิงจำนวนมากอย่างไม่จำเป็น

ปัญหาที่เกิดจากการตัด ขลิบอวัยวะ เพศหญิง เสี่ยงทำให้ติดเชื้อทางเลือดจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต และยังมีแนวโน้มทำให้มีอาการปัสสาวะผิดปกติ หรือมีประจำเดือนมากเกินไป ผลกระทบสืบเนื่องไปถึงกิจกรรมเพศสัมพันธ์ หรือขณะคลอดบุตรที่อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดได้ องค์กรอนามัยโลก หรือ WHO ประณามว่าพิธีกรรมดังกล่าวนี้ว่าไม่ควรสนับสนุนให้ปฏิบัติอีกต่อไปด้วยเหตุผลทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรมบางคนในยุค 80s มองว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว ขณะที่เจ้าของประเพณีนี้เองกลับมีความเห็นว่า พิธีกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดีงามและยังมีความยึดมั่นด้วยศรัทธาแรงกล้า

ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในยุค 80s บรรดาสตรีจากโลกตะวันตกและโลกที่สามต่างถกเถียงกันอย่างดุเดือดและเผ็ดร้อนในการประชุมระดับโลกของ ยูเอ็น เกี่ยวกับสตรี ณ กรุงโคเปนเฮเกน

แน่นอนว่าผู้ที่อยู่ไม่คุ้นเคยวัฒนธรรมนี้อาจตกตะลึงกับประเพณีดังกล่าว หรือมองว่าเป็นความป่าเถื่อนขัดต่อสิทธิมนุษยชน

บทความเรื่อง Circumcision On Trial จากนิตยสาร Reader’s Digest เขียนโดย Emily และ Per Ola D’ Aulaire ฉบับเดือนมีนาคม ค.ศ. 1981 กล่าวถึงประเพณีว่าเป็นที่รู้กันว่าเป็นพิธีครอบของสตรี ซึ่งเป็นคำที่ใช้หมายถึงขบวนการแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตัด การทำอวัยวะสืบพันธุ์ให้พิกลพิการในหมู่ผู้หญิงและเด็กสาวของชนเผ่าดั้งเดิม โดยมีผู้อาวุโสเพศหญิงเป็นผู้ลงมือ และถือว่าเป็นการรักษาประเพณีของเผ่าพันธุ์

ขณะที่ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลก ที่เผยแพร่เมื่อต้นปี 2018 ระบุว่า ผู้หญิงที่ยังมีชีวิตอยู่กว่า 200 ล้านคนทั่วโลกผ่านการตัดหรือทำให้อวัยวะสืบพันธุ์ได้รับความเสียหายในหลายประเทศจากหลายทวีป ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกา, ตะวันออกกลาง และเอเชีย

กลุ่มที่เคยยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดที่สุดคือแถบแอฟริกา มีรายงานว่ามีถึง 32 ประเทศจากบริเวณตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแอฟริกามายังประเทศอียิปต์ ลงไปจนถึงประเทศเคนยา ทานซาเนีย และอาจรวมทั้งโมซามบิคด้วย

ผู้เขียนบทความ Circumcision On Trial มองว่า ผู้ประกอบพิธีนี้เชื่อกันว่าเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นผู้หญิงที่แท้จริง เป็นการพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ และเชื่อถือว่าเป็นความจำเป็นทางสังคม ตามความเป็นจริงแล้วในหลาย ๆ ประเทศ พิธีขลิบอวัยวะเพศนับเป็นพิธีครอบที่สำคัญ ที่เป็นการสั่งสอนแนะนำให้ผู้เข้าพิธีมีความเป็นผู้ใหญ่ ให้อยู่ในสังคมได้

ในประเทศแกมเบีย การขลิบอวัยวะเพศของสตรีใช้วิธีการตัดทิ้ง ซึ่งหมายความว่า “เม็ดละมุด” (คลิตอริส) ถูกตัดทิ้งออกทั้งหมด “โดยไม่ใช้ยาสลบเลย” ดอกเตอร์ แซมบา บรรยายว่า “พวกที่เข้าพิธีกรรมทุกคนจะถูกปิดตา เขาจะใช้มีดที่ลับจนคมตัดออก ตลอดพิธีจะมีเสียงกลองดังสนั่น จนหนวกหู พร้อมกับมีเสียงร้องเพลง และการเต้นรำของญาติมิตรประกอบ หลังการผ่าตัดจะมีการชำระล้างแผลและทายาที่ทำจากสมุนไพรผสมกับรากไม้ที่นำมาบดเป็นผงทุก ๆ วัน จนกระทั่งแผลหาย”

พิธีที่น่ากลัวกว่านี้ ยังมีการปฏิบัติกันในประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกา เด็กผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 4-8 ปี จะถูกจับให้นอนลงบนเสื่อที่ทำพิธีกรรม บรรดาหญิงชราที่มาร่วมพิธีจะจับแขนขาและศีรษะให้แนบติดอยู่กับพื้น ผู้ประกอบพิธีถูกเรียกว่า “Gedda” อันได้แก่ผู้หญิงที่มีอายุรุ่นคราวย่าหรือยาย
พวกเธอจะใช้มีดโกน หรือของมีคมอื่น ๆ ตัดอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนนอกออกจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเม็ดละมุด แคมเล็กแคมใหญ่ หลังจากนั้นจะมีการเย็บบาดแผลให้ติดกันด้วยหนาม เอ็นแมว หรือลวด เหลือช่องว่างแค่หัวไม้ขีดไฟ (เพื่อไว้ทำหน้าที่ทางสรีระเท่านั้น) ขาของเด็กผู้หญิงแต่ละคนจะถูกมัดติดกันจนกว่าแผลแห้งติดกัน มีผลเหมือนกับเป็นการลั่นกุญแจของลับของสตรี ป้องกันการผิดประเวณี ซึ่งมักทำกับภรรยาของพวกที่ไปรบในยุโรป

หญิงสาวที่เข้าพิธีตัดอวัยวะเพศนี้ เรียกว่าพิธีฟาโรนิค (มาจากภาษาอียิปต์โบราณ เพราะเชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้มีต้นกำเนิดมาจากชาวอียิปต์) แปลว่า การเย็บ (มาจากภาษาลาติน ที่แปลว่า เย็บหรือติดเข้าด้วยกัน) ซึ่งมีขั้นตอน 3 ขั้นตอนด้วยกัน ครั้งแรกจะทำระหว่างพิธีการขลิบครั้งแรกเมื่อเริ่มเป็นสาว ครั้งที่ 2 ตอนแต่งงาน และครั้งที่ 3 ระหว่างการคลอดบุตร

เนื้อเยื่อที่กลายเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่จากพิธีกรรมนี้ส่งผลให้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ตามปกติเป็นเรื่องที่เจ็บปวดทรมานและอันตรายมาก

“ถ้าหากอวัยวะที่เป็นแผลมีขนาดเล็กและมีแผลเป็นใหญ่มาก ก็คงจำเป็นต้องมีขบวนการที่เกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อเปิดอวัยวะอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน” ดอกเตอร์ ตาบา ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก ประจำเขตเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกในเมืองอเล็กซานเดรียกล่าว

ยิ่งกว่านั้น การมีสัมพันธ์ทางเพศสำหรับผู้หญิงที่ผ่านพิธีเย็บอวัยวะเพศจะเป็นเสมือนสิ่งที่กลายเป็นฝันร้ายชั่วชีวิต มันเต็มไปด้วยความเจ็บทรมาน จะผ่านพ้นไปได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมีการคลอดบุตร เนื้อเยื่อที่ถูกเย็บติดจะไม่มีความยืดหยุ่น ซึ่งทำให้การคลอดตามปกติเป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องผ่าเพื่อเปิดช่องคลอดให้กว้างขึ้น การผ่ามักทำอย่างลวก ๆ ระหว่างการคลอด นั่นย่อมอาจทำอันตรายหรือผ่าเอาศีรษะของเด็กที่กำลังเคลื่อนออกมาทางช่องคลอดทำให้ตายได้

ความทุกข์ทรมานของผู้หญิงไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ เพราะหลังจากการคลอดบุตร หากสามีเธอจะต้องเดินทางไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลานาน เขาสามารถที่จะสั่งให้ภรรยาเย็บช่องคลอดให้ติดกันอีกก็ได้ เพื่อเป็นการรับประกันความซื่อสัตย์จงรักภักดี และวัฏจักรของความเจ็บปวดทรมานก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมได้แพร่กระจายมาก่อนศาสนาอิสลามจะเข้ามาถึง แต่ไม่มีใครรู้แบบชัดเจนว่า พิธีครอบเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร ทั้งการขลิบอวัยวะเพศของหญิงและชายดูเหมือนจะเป็นวิธีการผ่าตัดที่เก่าแก่โบราณมากที่สุดวิธีหนึ่ง หลักฐานทางโบราณคดีได้ค้นพบมัมมี่ของชาวอียิปต์เป็นสตรีที่ได้ผ่านการขลิบอวัยวะเพศ มัมมี่นี้มีอายุถึง 2,000 ปีมาแล้ว พฤติกรรมดังกล่าวนี้มีหน้าที่เสมือนเป็นพลังเชื่อมทางด้านจิตใจให้สมาชิกในสังคมรู้สึกว่ามีความเป็นพวกเป็นกลุ่มเดียวกัน

บทความเปรียบเทีบบว่า การเข้าสุนัติของผู้ชายกลับเป็นผลดีแก่สุขภาพ และมิได้มีอิทธิพลใด ๆ ต่อหน้าที่ทางเพศเลย ทั้งยังเป็นการกระทำที่ได้รับการยอมรับจากแพทย์เป็นจำนวนมาก ผู้ที่อยู่ในแวดลงทางด้านสุขภาพเกือบทุกคนที่รู้เรื่องต่างกล่าวขวัญถึงความน่ากลัวของพิธีขลิบอวัยวะเพศหญิง เพราะมีผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่นเชิงกรานอักเสบบวมเป็นโรคเรื้อรัง บาดทะยักที่มดลูก โรคเนื้อตายที่อวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ โรคเหล่านี้เคยทำให้อัตราการตายของทารกในแอฟริกาสูงถึง 38 เปอร์เซ็นต์

การหยุดยั้งประเพณีดังกล่าวนี้เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะแม้แต่ผู้ที่ต้องทนทรมานจากความเจ็บปวดของพิธีนี้ก็ยังคงเชื่อถือกันอย่างเคร่งครัดว่าเป็นเรื่องจำเป็นและถือเป็นเรื่องปกติของผู้หญิง บางคนก็มีทัศนะว่า พิธีกรรมนี้เป็นการฝึกให้ “อดทนมากยิ่งขึ้น”

หลายพื้นที่ ผู้หญิงที่ไม่ได้ผ่านพิธีกรรมนี้จะถูกประณามว่าเป็นพวกไม่สะอาดและถูกเยาะเย้ยจากเพื่อนฝูง เป็นคนไม่เหมาะที่จะแต่งงานด้วย บางคนก็เชื่อว่า จะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรหากไม่มีการผ่าตัด บางคนก็เชื่อว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้เข้าพิธีขลิบอวัยวะเพศจะนำความหายนะมาให้แก่กลุ่มชนพวกเขาเอง

ไม่เพียงแต่ผู้หญิงที่ไม่ได้รับการศึกษาเท่านั้นที่ติดอยู่กับความเชื่อนี้ อดีตประธานาธิบดีของเคนยา เคยเขียนไว้ว่า การผ่าตัดในพิธีนี้ เป็นขบวนการให้การศึกษาทางศาสนาและทางศีลธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด หลายสิบปีก่อนนายโซมาลิ ทูตของยูเอ็นก็ได้ประกาศว่าเป็นประเพณีที่เด็กหญิงทุกคนในประเทศของเขารวมทั้งภรรยาและลูกสาว 2 คนของเขาด้วยต้องเข้าพิธีกรรมแบบนี้ ทั้งผู้เชี่ยวชาญโรคสตรีชาวซูดานที่น่าเชื่อถือคนหนึ่งก็ยังสนับสนุนให้ภรรยาของเขาเข้าพิธีนี้ สุภาพสตรีบางคนซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลก็ยังจัดพิธีกรรมนี้ให้แก่หลานของเธอเอง

“ความเชื่อนี้ลงรากลึกมาก” ดอกเตอร์ฮาร์ดิ้ง จิตแพทย์ที่เคยทำงานกับองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงคงไม่สามารถเกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนได้ อาจจะต้องใช้เวลาเปลี่ยนความคิดของผู้คน และทำให้ประชาชนเปลี่ยนความเชื่อ นับเป็นวิถีทางเดียว” เพราะการออกกฎหมายลงโทษ ก็มิได้เป็นคำตอบในการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น แม้ว่าจะมีนโยบายของทางการที่เข้มงวดในประเทศนี้เป็นเวลา 30 ปี มาแล้ว แต่ผู้หญิงชาวซูดานก็ยังคงดื้อรั้นที่จะปฏิบัติตามความเชื่อนี้กับเด็กหญิงอายุ 5-8 ขวบ และก็ไม่มีใครถูกลงโทษตามกฎหมาย แม้จะมีบทลงโทษก็ตาม

“การแก้ปัญหาไม่สามารถมาจากบุคคลภายนอกได้ จะต้องมาจากประชาชนเจ้าของวัฒนธรรม ซึ่งเป็นระดับรากเหง้าทีเดียว เป็นการถอนรากถอนโคน เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกกล่าว

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือจากภายนอกอาจจำเป็นในการช่วยให้การกำจัดอย่างถอนรากถอนโคนเริ่มต้นขึ้นได้ ควรอบรมพวกหมอกลางบ้าน หรือผู้หญิงที่เป็นที่นับถือของชุมชนระดับชาวบ้าน และควรมีการอบรมพวกหมอตำแยให้รู้ถึงอันตรายของพิธีนี้ มูลนิธิวางแผนครอบครัวระหว่างชาติ ซึ่งมีประเทศสมาชิกไม่ต่ำกว่า 90 แห่ง ได้รวมเอาพิธีนี้เข้าเป็นโครงการให้การศึกษาทั่วไปด้วย ผู้นำทางศาสนาควรชี้แจงให้กระจ่างว่า พิธีนี้มิได้เป็นสิ่งที่ระบุไว้ในคัมภีร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เรียบเรียงและปรับปรุงจากบทความ “พิธีขลิบอวัยวะเพศของสตรี ประเพณีที่กลายเป็นปัญหา” เขียนโดย ปรานี วงษ์เทศ ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 11 กันยายน 2525


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2561