ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ทารก คำนี้ ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุความหมายไว้ว่า “เด็กที่ยังอยู่ในครรภ์, เด็กแบเบาะ, เด็กเล็ก ๆ, เด็กที่ยังไม่เดียงสา.” แต่รู้หรือไม่ว่าในสมัยก่อนจนถึงรัชกาลที่ 6 คำนี้กลับไม่ได้มีความหมายเช่นนั้น
ที่มา ทารก คำนี้ มาจากไหน?
คำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีว่า “dāraka” แปลว่าเด็กหรือของภรรยา โดยคำว่า “dāra” แปลว่าภรรยา
ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. 2416 ของหมอบรัดเลย์ เคยให้ความหมายไว้ว่า “ลูกอ่อน, เด็กแดง, ลูกเล็ก, เปนชื่อคนทั้งปวงที่เกิดมาใหม่ๆ นั้น, เช่นเด็กอ่อนๆ ที่คลอดได้วันหนึ่งหรือสองวันเปนต้น”
ดูเหมือนว่าทารกในหนังสือของหมอบรัดเลย์จะมีความหมายที่สอดคล้องกับปัจจุบัน ทว่าความจริงแล้วในสมัยนั้นทารกกลับไม่ได้มีความหมายเช่นนั้นเสียทีเดียว…
ในงานวิจัย “ประวัติศาสตร์เด็กและวัยเด็กช่วงต้นรัตนโกสินทร์ถึงการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5” ของ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ระบุไว้ว่า…
“ในอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเล พ.ศ. 2416 อธิบายว่าทารกหมายถึง ‘ลูกอ่อน, เด็กแดง, ลูกเล็ก, เปนชื่อคนทั้งปวงที่เกิดมาใหม่ๆ นั้น, เช่นเด็กอ่อนๆ ที่คลอดได้วันหนึ่งหรือสองวันเปนต้น’ สะท้อนให้เห็นว่าความหมายของเด็กทารกเกี่ยวพันกับลักษณะภายนอกของเด็กในช่วงแรกเกิด
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การแยกแยะว่าทารกหมายถึงเด็กอ่อนเท่านั้นคงไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไปในกลุ่มทางสังคมที่ใช้ภาษาไทย อย่างน้อยจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะปรากฏในเอกสารร่วมสมัยถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่าทารก ซึ่งอาจหมายความรวมถึงเด็กอายุ 15 ปีลงมาทั้งหมด”
แม้ว่าในยุคสมัยก่อนจนถึงรัชกาลที่ 6 จะปรากฏความหมายของทารกผิดเพี้ยนไปจากปัจจุบัน แต่ก็ทำให้เห็นถึงอีกหนึ่งแนวคิดด้านภาษาที่ปรากฏในสังคมยุคหนึ่ง ที่คำหนึ่งคำอาจมีความหมายไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา…
อ่านเพิ่มเติม :
- คำว่า “เจ๊ก” มาจากไหน? คนจีนในไทย-จีนแผ่นดินใหญ่-จีนไต้หวัน ล้วนไม่รู้จักคำนี้
- คำศัพท์ “เฮงซวย” มาจากไหน? ฤๅเป็นอิทธิพลจากคนจีนย้ายถิ่น สู่คำติดปากในไทยจนถึงวันนี้
- “ไอ้ลูกหมา-ไอ้ห้าร้อย” เผยคำด่าภาษาจีนในบริบทไทย คนจีนฟังแล้ว “ไม่เจ็บ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ภาคิน นิมมานนรวงศ์. ประวัติศาสตร์เด็กและวัยเด็กช่วงต้นรัตนโกสินทร์ถึงการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5. [ม.ป.ท.]:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:92339.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2567