“เห็ดขี้ควาย” ยาเสพติดที่ใช้รักษา “โรคซึมเศร้า” ได้?

เห็ดขี้ควาย
(ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2565, ปรับแต่งกราฟิกโดย กอง บก. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์)

เห็ดขี้ควาย (Buffalo dung Mushroom, Psilocybin mushroom) บ้างเรียกเห็ดเมา หรือเห็ดโอสถลวงจิต ถือเป็น “สมุนไพร” โบราณ ที่มนุษย์รู้จักและใช้กันมาอย่างยาวนานหลายพันปี แต่ถูกจัดเป็นยาเสพติดในทางกฎหมาย (ไทย) ด้วย

ลักษณะของเห็ดขี้ควายเป็นเห็ดทรงหมวก (กระทะคว่ำ) เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง หมวกสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็ก ๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก สูง 5.5-8 เซนติเมตร

เห็ดชนิดนี้สามารถพบได้แทบทุกภาคของประเทศไทย และอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก ขึ้นเป็นดอกเดี่ยวแต่รวมกันเป็นกระจุก กลุ่มละ 4-5 ดอก ตามพื้นดินที่มีมูลสัตว์ โดยเฉพาะมูลวัว-มูลควายแห้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ “เห็ดขี้ควาย”

Advertisement

ส่วนชื่อเรียก “เห็ดเมา” หรือเห็ดโอสถลวงจิต มาจากฤทธิ์หลอนประสาท เมื่อบริโภคจะทำให้เกิดอาการมึนเมา และเป็นสารเสพติด ไม่ว่าจะใช้แบบสดหรือแห้ง ปรุงในเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด เห็ดปั่นผสมเหล้า หรือผสมในคอกเทล (มีรายงานการใช้ด้วยวิธีดังกล่าวในกลุ่มนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิงที่เกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี)

ร่องรอยการใช้เห็ดขี้ควายพบได้ในอารยธรรมโบราณทั่วโลก คนในกลุ่มวัฒนธรรมแถบทะเลทรายซาฮารา อเมริกากลางและใต้ ล้วนเคยใช้เห็ดชนิดนี้ รู้จักกันในชื่อ “เห็ดวิเศษ” (Magic mushrooms) ทั้งพบในจิตรกรรมฝาผนังในแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีอายุราว 9,000-7,000 ปีก่อนคริสตกาล

อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยในปัจจุบันบรรจุเห็ดขี้ควายให้เป็นหนึ่งในยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด กลุ่มเดียวกับกัญชาและกระท่อม

เห็ดขี้ควาย
(ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 – 20 ตุลาคม 2565)

อาการหลังใช้ “เห็ดขี้ควาย”

อาการเมื่อบริโภคเห็ดขี้ควายคือ หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเพียงพอ 10-30 นาทีต่อมาจะทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม กระวนกระวาย เครียด ไปถึงภาวะคลั่ง เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine ในเห็ดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท บางคนจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน

30-60 นาที เกิดฤทธิ์ประสาทหลอน ที่ทำเห็นภาพหลอน ภาพลวงตา หูแว่ว และความรู้สึกหลายอย่างที่หลุดจากความจริง เช่น ได้ยินเสียงเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มแทงตามตัว ไม่สามารถระบุทิศทางได้ เกิดอารมณ์และความคิดแปรปรวน อาการเหล่านี้จะหายไปใน 2-4 ชั่วโมง แต่บางรายอาจนานถึง 6-8 ชั่วโมงก็มี เมื่อหายไปแล้วจะหายไปเลย ไม่มีอาการค้าง สำหรับคนที่ตอบสนองต่อฤทธิ์ของเห็ดอย่างรุนแรงจะมีอาการอ่อนเพลียตามมา

แต่หากบริโภคไปนาน ๆ ร่างกายจะต้านยาและรู้สึกเพลิดเพลินแทน ขณะเดียวกันก็จะมีอาการเสพติด และต้องการใช้เห็ดมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

“เห็ดวิเศษ” ที่พบในทุกพื้นที่บนโลกล้วนมีฤทธิ์หลอนประสาท แต่คนสมัยโบราณชื่นชอบ เพราะเชื่อว่าการใช้เห็ดทำให้พวกเขาเข้าถึงระดับสติปัญญา “เหนือ” ธรรมดา ที่คนทั่วไปไม่สามารถสัมผัสได้

นักวิชาการส่วนหนึ่งจึงชี้ว่า เห็ดขี้ควายอาจเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษยชาติรู้จักกับอำนาจลี้ลับ พลังเหนือธรรมชาติ และเป็นที่มาของความเชื่อทางศาสนาและลัทธิต่าง ๆ ทั่วโลก

ถูกจดสิทธิบัตรรักษา “โรคซึมเศร้า”

มีการค้นพบว่า สาร ซิโลซายบิน (Psilocybin) ในเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีฤทธิ์กล่อมปราสาท มีประโยชน์เมื่อใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

เมื่อปี 2560 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ทำการวิจัยโดยทดลองใช้ ซิโลซายบิน ซึ่งสกัดจากเห็ดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 19 คน หลังจากให้สารสกัด 1 ครั้ง และตรวจดูการทำงานของสมองผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังรับยา พบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการซึมเศร้าเหลืออยู่หลังสร่างเมาจากสารข้างต้นแล้ว ทั้งสมอง (บางส่วน) ทำงานเปลี่ยนไป และคงภาวะอาการที่ดีขึ้นนี้ไว้ได้นานถึง 5 สัปดาห์

หลังจาก JAMA psychiatry วารสารทางสมาคมแพทย์อเมริกัน ตีพิมพ์ผลการรักษาโรคซึมเศร้าของสารสกัดจาก “เห็ดวิเศษ” บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันและยุโรปหลายเจ้าจึงพากันจดสิทธิบัตรการทดลอง เพื่อใช้สารสกัดจากเห็ดเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างเป็นทางการ

สำหรับประเทศไทย แม้วงการแพทย์ (ทางเลือก) ยอมรับกันแล้วว่า หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เห็ดขี้ควายมีสรรพคุณหลายอย่าง ตั้งแต่การแก้ลม แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อน จึงมีการใช้เป็นยานอนหลับ เรียก “ยาสุขไสยาสต์” แต่ต้องระวังไม่ใช้ในปริมาณที่มากเกินไป เพราะจะทำให้มีอาการมึนเมาและประสาทหลอน

เห็ดขี้ควาย
(ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 – 20 ตุลาคม 2565)

ขอย้ำกันอีกครั้ง ปัจจุบันเห็ดขี้ควายยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งกฎหมายระบุชัดว่า ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท หากเสพต้องระวางจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม มีความคืบหน้าในการนำเห็ดขี้ควายมาใช้ในวงการแพทย์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 กระทรวงสาธารณสุขของไทย ออกมาเผยว่า ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 คือ ฝิ่น เห็ดขี้ควาย และสารที่มีสารสกัด TCH (Tetrahydrocannabinol คือ สารที่มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม) เกิน 0.2% สามารถใช้เพื่อการรักษาและศึกษาวิจัยได้แล้ว

จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า “เห็ดขี้ควาย” จะเจริญรอยตาม “รุ่นพี่” อย่างกัญชาหรือก้าวไปในทิศทางใด

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.hfocus.org/content/2024/04/30334

https://dmh.moph.go.th/news-dmh/view.asp?id=31281

https://medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/hedkheek.htm

https://narcotic.fda.moph.go.th/information-about-drugs/psilocybe-mushroom

https://www.ancient-origins.net/news-evolution-human-origins/history-drug-use-006051

https://narcotic.fda.moph.go.th/penalty-narco-phycho-volatile-head/category/narcotic-type5


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567