ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อล่วงถึงช่วงนับถอยหลังสู่ศักราชใหม่ ลมหนาวหอบพัดเอากลิ่นหอม (ฉุน) ที่หลายคนคุ้นเคยและจำนวนหนึ่งรู้สึกแขยงเข้าไส้อย่างกลิ่นดอกพญาสัตบรรณ หรือ “ตีนเป็ด” ให้ตลบอบอวลไปทั่ว และกลิ่นรุนแรงนี้ดูจะเป็นข้อพิพาทประจำปลายปีระหว่างคนกับต้นไม้ไปเสียแล้ว
แต่รู้หรือไม่ว่า ต้นไม้เจ้าปัญหาข้างต้นมีบทบาทโดดเด่นอยู่ในคัมภีร์พุทธศาสนา ระดับเดียวกับ “ต้นโพธิ์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพราะ “พญาสัตบรรณ” คือต้นไม้ที่พระอดีตพุทธเจ้าประทับตอนตรัสรู้เช่นกัน
คัมภีร์บาลีพุทธวงศ์ อธิบายถึง “พระอดีตพุทธเจ้า” ว่าเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพระศากยโคดมพุทธเจ้า (พระสิทธัตถะ) พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ประกอบด้วยพระพุทธ 27 องค์ (พระโคดม ลำดับ 28)
ใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่พระรัตนปัญญาเถระรจนาเป็นภาษาบาลี และ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร แปลเป็นภาษาไทย เป็นตำราเล่มสำคัญที่เล่าถึงพระอดีตพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ระบุว่า ใน “สารมัณฑกัป” มีพระพุทธเสด็จอุบัติ 4 พระองค์ ได้แก่ พระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร และพระทีปังกร
สำหรับ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระอดีตพุทธเจ้าลำดับแรก ได้รับการพรรณนากาลตรัสรู้ของพระองค์ไว้ ดังนี้
“ในพระพุทธ ๔ พระองค์นั้น พระโพธิ์สัตว์ตัณหังกร บำเพ็ญบารมี ๑๖ อสงไขยแสนกัปมาแล้ว ทรงเกิดเป็นพระราชโอรสของพระนางสุนันทา อัครมเหสีของพระเจ้าอานันท ในนครปุปผวดี ครองฆราวาสอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ทรงกระทำความเพียรอยู่ ๗ วัน ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธที่โคนต้น ‘พญาสัตบรรณ’ (ต้นตีนเป็ดขาว) ดำรงพระชนม์อยู่ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน”
กล่าวคือ พระตัณหังกรพุทธเจ้า ตรัสรู้ใต้ต้น “ตีนเป็ด” นั่นเอง
แล้วพระอดีตพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ตรัสรู้ใต้ต้นอะไรบ้าง? ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุพฤกษชาติที่พระอดีตพุทธเจ้าเสด็จประทับก่อนตรัสรู้แตกต่างกันไปในแต่ละพระองค์ เช่น
พระเมธังกร ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้น “กิงสุกะ” หรือต้นทองกวาว
พระสรณังกร ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้น “ปาตลี” หรือต้นแคฝอย
พระทีปังกร ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้น “ปิบผลิ” หรือต้นเลียบ
และ พระโกญฑัญญะ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่โคนต้น “สาลกัลยาณี” หรือต้นขานาง
ไม่พบหลักฐานชี้ชัดว่า เหตุใดคัมภีร์พุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับต้นพญาสัตบรรณ ถึงขั้นให้เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระอดีตพุทธเจ้าลำดับที่ 1 อย่างพระตัณหังกร มีเพียงร่องรอยความเชื่อในอินเดียที่นิยามว่า ต้นไม้นี้คือสัญลักษณ์การ “ตื่นรู้” เพราะกลิ่นฉุนของมันทำให้มนุษย์เกิดสมาธิจดจ่อ และเกิดสภาวะ “ตระหนักรู้” (หากผู้อ่านมีข้อมูลเพิ่มเติม แสดงความเห็นแลกเปลี่ยนไว้จะเป็นความกรุณาอย่างยิ่ง)
ถึงอย่างนั้น สำหรับคนแพ้กลิ่นดอกตีนเป็ดคงไม่ใช่แค่ “ตระหนัก” อย่างเดียว แต่จะพา “ตระหนก” เอาด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “ตีนเป็ด” มาจากไหน? ความย้อนแย้งของต้นไม้ที่ส่งกลิ่นหอม (ฉุน) ว้าวุ่นไปทั่วเมือง
- รู้จัก “ต้นทำมัง” ต้นไม้ถิ่นใต้ ที่ให้กลิ่น “แมลงดานา” ในน้ำพริกที่หลายคนชื่นชอบ
- ทาเบบูย่า ต้นไม้นำเข้า ที่ชอบเอาชื่อ”หม่อมราชวงศ์” มาตั้งเป็นชื่อ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระรัตนปัญญาเถระ, แสง มนวิทูร แปล. (2501). ชินกาลมาลีปกรณ์. พระนคร : กรมศิลปากร.
พรสวรรค์ อัมรานนท์. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย เรื่องพระอดีตพุทธเจ้ากับวรรณกรรมพุทธศาสนา. ดำรงวิชาการ. (PDF Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2567