ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“แมลงดา” หรือ “แมลงดานา” เป็นแมลงที่ทำให้อาหารประเภทน้ำพริกต่างๆ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวชวนกินสำหรับใครหลายคน แต่ถ้าไม่มีแมลงดานา ก็ยังมีสิ่งทดแทนได้ คือ “ต้นทำมัง” ต้นไม้ที่ให้กลิ่นเหมือนแมลงดานา
ต้นทำมัง ต้นไม้ที่ให้กลิ่นเหมือนแมลงดานา
ทำมัง บ้างเรียก แมงดาต้น, แมงดาไม้, กาดสลอง, ชะมัง ฯลฯ เป็นไม้เนื้อแข็งพบมากในป่าดิบชื้นของภาคใต้ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่างไปจนถึงนราธิวาส ส่วนใหญ่พบขึ้นอยู่ตามที่ชื้นในหุบเขาตามริมลำธาร ป่าดงดิบ หรือป่าพรุ มีเกษตรกรบางคนทดลองนำมาปลูกในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ สามารถนำไม้ทำมังมาแปรรูปเป็นไม้กระดานได้
ทำมังมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Litsea petiolata Hook. f. อยู่ในวงศ์ LAURACEAE เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 10-15 เมตร ลำต้นตรง กิ่งก้านแตกเป็นทรงพุ่ม ไม่ผลัดใบ เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา, ใบ ดกหนา เป็นใบเดี่ยว สีเขียว รูปใบทรงรี โคนใบกลมมน ปลายใบแหลมมีติ่งเล็กน้อย กว้าง 4-8 ซม. ยาว 6-10 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา, ดอก ออกเป็นช่อกระจุกตามกิ่ง มีกลิ่นหอม, ผล ทรงรีกว้าง 0.5-0.8 ซม. ยาว 1-1.5 ซม. สีเขียวเข้ม เมื่อสุกจะมีสีน้ำเงินเข้ม ขยายพันธ์ุด้วยเมล็ด และการตอนกิ่ง
ส่วนที่ให้กลิ่นคล้ายแมลงดานา ก็คือ ใบ, เปลือกลำต้น และผลแก่ แต่ที่นิยมใช้กันคือใบ โดยจะเลือกใบที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เรียกว่า “ใบเพสลาด” ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งใบสดและใบแห้ง (ที่ผึ่งในร่มประมาณ 5-7 วัน) มาซอยบางๆ แล้วตำให้ละเอียด เป็นเครื่องปรุงหนึ่งผสมในน้ำพริกตามปกติ ก็จะมีกลิ่นเหมือนใส่แมลงดานา
บางคนก็ใช้ต้นทำมังทำ “สาก” หรือ “ไม้ตีพริก” สำหรับตำน้ำพริก เนื่องจากให้กลิ่นคล้ายกับแมลงดานา
มีการวิจัยศึกษาสกัดเป็นสารปรุงแต่งกลิ่นแมลงดานาจากทำมัง โดยใช้ใบและกิ่งของทำมังทั้งแบบสดและแบบแห้ง ด้วยวิธีการต่างๆ พบว่า น้ำมันหอมระเหยทำมังสามารถนำมาปรุงแต่งกลิ่นรสแมลงดานาในน้ำพริกได้ดี โดยไม่มีรสขมฝาด และมีกลิ่นแมลงดานาที่ชัดเจน
แต่ประโยชน์ของมันยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ด้วย ใบ, เปลือก, ผล ยังมีสรรพคุณทางยา สามารถใช้ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และบำรุงเลือดได้อีกด้วย ทำมังจึงไม่ใช่ต้นไม้ที่มีดีแค่กลิ่น
แม้ทำมังจะใช้ทดแทนแมลงดานาได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าระหว่าง “แมลงดานา” กับ “ต้นทำมัง” อะไรจะหาง่ายกว่ากัน เพราะทำมังพบมากเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ขณะที่น้ำพริกแมลงดานานิยมรับประทานกันทั่วประเทศ
อ่านพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จันทร์วิภา บุญอินทร์, ณัฐวัฒน์ คลังทรัพย์ และคณะ. “การเติบโตของกล้าไม้ทำมังในระบบวนเกษตร จังหวัดตราด” ใน, เอกสารประกอบการสัมมนาทางวนวัฒนวิทยา ครั้งที่ 10: ป่าปลูก นำไทยสู่เศรษฐกิจเชิงนิเวศ. กรุงเทพฯ. 2559.
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 7 มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.
ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. “น้ำพริกใบทำมัง” ใน, จดหมายข่าวกรมป่าไม้ ฉบับเมษายน 2554.
เอกสารพืชผักสวนครู กศน. อำเภอชะอวด.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2567.