“หมาก” หนึ่งสิ่งที่ขาดแคลนและสร้างความโกลาหลมากที่สุดในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2

หมาก กินหมาก
เครื่องกินหมาก (ภาพ : เทคโนโลยีชาวบ้าน)

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 บ้านเมืองที่เคยสงบสุขก็เต็มไปด้วยความโกลาหล ทุกคนหนีเอาตัวรอด ความอุดมสมบูรณ์เรื่องอาหารก็หายไป มีการคาดคะเนว่าสิ่งที่ประชาชนชาวอยุธยาต้องการมากที่สุดไม่ใช่ข้าวปลา แต่กลับเป็น “หมาก” ที่คนต่างต้องการกันทั่วเมือง

หมากและการเสียกรุงครั้งที่ 2

สงครามเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

ปรามินทร์ เครือทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คาดเดาไว้ในหนังสือ “SHUTDOWN กรุงศรี” ว่า สิ่งที่ขาดแคลนที่สุดในพระนครและสร้างความโกลาหลมากที่สุด น่าจะเป็น “หมาก” 

Advertisement
หมาก (ภาพจาก : pixabay)

โดยเหตุผลที่เป็นหมาก เนื่องจากเป็นของที่คนอยุธยาขาดไม่ได้ มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คนอยุธยาล้วนกินหมาก ในบันทึกต่างชาติ “นิโกลาส์ แชรแวส” ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในสมัยพระนารายณ์ เผยถึงเรื่องนี้ว่า “เด็กชายหญิงชาวกรุงศรีอยุธยาอายุ ๑๔ ก็เริ่มมีฟันดำกันแล้ว”

ด้วยสงครามที่ครุกรุ่นและการปิดล้อมเมืองนานนับปี จึงทำให้เชื่อว่า “หมากพลู” เป็นสินค้าหนึ่งที่ขาดตลาด 

แต่ก็ยังมีคนไม่น้อยยอมเสี่ยงเพื่อที่จะให้ได้มันมา อย่างที่มีบันทึกใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ กล่าวว่า “ขณะนั้นไทยในกรุงเทพมหานคร ลอบลงเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้หมากพลู ณ สวน อังกฤษจับขึ้นไว้บนกำปั่นมากกว่าร้อยคน”

เป็นเหตุว่าทำไมเจ้าของหนังสือถึงให้ “หมาก” เป็นสิ่งที่ขาดแคลนและสำคัญกับชีวิตคนอยุธยาในช่วงสงครามอย่างมากนั่นเอง…  

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปรามินทร์ เครือทอง. SHUTDOWN กรุงศรี. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2567