“ว่านจักจั่น” ซากสัตว์ขึ้นรา ถูกสถาปนาเป็นวัตถุมงคล!?

ว่านจักจั่น
ว่านจักจั่น (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 24 พฤษภาคม 2562)

คนโบราณเชื่อว่า “ว่านจักจั่น” หนือพญาว่านต่อเงินต่อทอง เป็นว่านกึ่งพืชกึ่งสัตว์ ประเภทเดียวกับ “มักกะลีผล” หรือนารีผล มีต้นอยู่บนดิน รากอยู่ใต้ดิน แต่กลับมีรูปร่างเป็นตัวจักจั่น จึงมองว่าเป็นว่านกายสิทธิ์ ผู้ใดบูชาไว้ จะมีทรัพย์สินงอกเงยไม่ขาดมือ บางคนถึงกับเชื่อว่าช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ โดยการนำสิ่งนี้มาต้มน้ำดื่ม

แต่นั่นเป็นเพียงความเชื่อ ไม่ได้อิงข้อเท็จจริง

Advertisement

เพราะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เผยชัดแล้วว่า ว่านจักจั่นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าตัวอ่อนจักจั่นที่ตายเพราะติดเชื้อรา และราก็ไม่ใช่พืช ฉะนั้น สิ่งนี้ไม่ใช่กึ่งพืชกึ่งสัตว์แน่ เพราะไม่ใช่ทั้งพืชและสัตว์

ว่านจักจั่น
(ภาพจาก มติชนออนไลน์, 2 พฤษภาคม 2567)

การเกิด “ว่านจักจั่น”

กระบวนการเกิดว่านจักจั่นไม่ใช่เรื่องราวอภินิหารใด ๆ แถมน่าเศร้าสำหรับตัวอ่อนจักจั่นผู้เคราะห์ร้าย ตามวัฏจักรของแมลงชนิดนี้ เมื่อจักจั่นผสมพันธุ์กันแล้ว จะวางไข่ไว้บนเปลือกไม้ ตัวอ่อนจักจั่นจะร่วงลงสู่พื้นดิน และอาศัยอยู่ใต้ดินนาน 2-6 ปี (บางสายพันธุ์นานถึง 17 ปี) ก่อนจะขึ้นมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือดิน ช่วงนี้เองที่ร่างกายและภูมิคุ้มกันของจักจั่นอ่อนแอมาก จึงถูกเชื้อราจู่โจม

ประกอบกับอากาศช่วงฤดูฝนเต็มไปด้วยความชื้น เชื้อราแพร่กระจายได้ดี เมื่อเชื้อราโดนตัวอ่อนจักจั่นที่แสนเปราะบาง มันจะทะลุเข้าไปในผิวตัวอ่อนและกลายเป็นปรสิตคอยดูดน้ำเลี้ยงในตัวจักจั่นเป็นอาหารจนตัวจักจั่นตัวนั้นตายอย่างน่าเวทนา

จักจั่น ลอกคราบ
การลอกครอบของจักจั่น (ภาพโดย Lpedrick ใน Wikimedia Commons)

เมื่อไม่มีอาหาร เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ ราชนิดนี้จะสร้างโครงสร้างแพร่พันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนเขา เป็นกิ่งก้านสาขางอกออกมา จากนั้นปล่อย “สปอร์” ให้ลอยไปกับลมหรือน้ำพัดไปที่อื่นเพื่อหาเหยื่อรายต่อไป

อีกทฤษฎีหนึ่งของการเกิดว่านนี้ตามที่ ดร. สายัณห์ สมฤทธิ์ผล นักวิจัยห้องปฏิบัติการราวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อธิบายไว้คือ “ราแมลงมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ก่อให้เกิดโรคและทำให้จักจั่นตาย เมื่อจักจั่นตายเชื้อราก็จะแทงเส้นใยเข้าไปเจริญในตัวจักจั่น เพื่อดูดน้ำเลี้ยงเป็นอาหาร และเจริญเติบโตเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะคล้ายเขาบริเวณหัว ทำหน้าที่สร้างสปอร์เพื่อแพร่เชื้อราต่อไป”

เชื้อราที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในตัวแมลงจัดอยู่ในประเภท “เชื้อราทำลายแมลง” (Entomopathogenic fungi) สายพันธุ์ที่เรียกว่า คอร์ดิเซปส์ โซโบลิเฟอร์ (Cordyceps sobolifer)

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เผยว่า ประเทศไทยเรามีราทำลายแมลงอยู่กว่า 400 ชนิด พบได้ทั้งบนหนอน แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมลงปอ แมงมุม และมด

ว่านจักจั่นจึงเป็นเพียง “ราแมลง” ไม่ใช่ และไม่ควรเป็น “วัตถุมงคล”

ดร. สายัณห์ กล่าวด้วยว่า “ไม่แนะนำให้นำมาบริโภคหรือเก็บไว้ใกล้ตัว แม้ว่าเชื้อราในแมลงจะไม่ก่อโรคในคน แต่สำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากราบนตัวจักจั่นที่ขุดขึ้นมาอาจจะยังมีชีวิตอยู่ และสร้างสปอร์ หรือแม้ว่านำมาทำความสะอาดแล้ว อาจมีเชื้อราหลงเหลืออยู่ หรืออาจทำให้เชื้อราชนิดอื่นมาเจริญเติบโตแทน หากเป็นเชื้อราที่ก่อโรคในคนก็อาจเป็นอันตรายได้”

อันที่จริง อะไรที่อยู่ ๆ ก็งอกจากดิน จะจอมปลวกหรือต้นไม้รูปทรงประหลาด ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ควรถูกบูชาหรือกราบไหว้ทั้งนั้น

ว่านจักจั่น
(ภาพจาก มติชนออนไลน์, 24 พฤษภาคม 2562)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ธิติยา บุญประเทือง ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์เห็ดรา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, สวทช. ความจริงของว่านจั๊กจั่น. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2567. (ออนไลน์)

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). “ว่านจักจั่น” อันตราย!! เสี่ยงติดเชื้อรา. 18 มิถุนายน 2552. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2567