ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“เฉลว” สัญลักษณ์ทางความเชื่อของคนโบราณซึ่งปรากฏอยู่แทบทุกภูมิภาคของไทย เป็นความเชื่อร่วมกันของกลุ่มชนชาติไท รวมถึงกลุ่มชนอื่น ๆ เช่น กะเหรี่ยง มอญ-เขมร
เรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับเฉลวนั้นเชื่อมโยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ความศักดิ์สิทธิ์ หรืออาจเรียกว่าเป็น “ของขลัง” ก็ไม่ผิดนัก ชื่อเรียกเฉลวอาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละท้องที่ ได้แก่ เหลว ตะเหลว ตะแหลว ตำแหลว เหลวเพชร ฯลฯ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องจักสานทำด้วยตอก ขัดกันเป็นมุมตั้งแต่ 5 มุมขึ้นไป
คนไทยสมัยก่อนใช้เฉลวขนาดเล็กปักใบตองทำเป็นที่ปิดปากหม้อยาด้วยความเชื่อว่าสามารถปัดเป่าผีร้าย ป้องกันนักสิทธิ์ วิทยาธร (พวกฤษี-ผู้มีวิชา) ไม่ให้มาแย่งเอาฤทธิ์ของว่านยาในหม้อ หรือเป็นเครื่องหมายบอกเป็นนัย ๆ ว่า หม้อยาใบนี้ปรุงไว้ด้วยกรรมวิธีเฉพาะ ไม่ควรมายุ่ง หรือดื่มกินของในหม้อสุ่มสี่สุ่มห้า
ส่วนเฉลวขนาดใหญ่จะนิยมปักไว้บนเสาหรือแขวนตามชานหลังคา เพื่อเป็นเครื่องหมายกำหนดเขตแดน ป้องกันสิ่งชั่วร้ายหรือภูตผีปีศาจทั้งหลาย มิให้เข้ามากล้ำกรายบ้านเรือน
ในภาคเหนือและภาคอีสาน คนท้องถิ่นยังมีความเชื่อว่าเฉลวเป็นเครื่องหมายแบ่งแยกพื้นที่สำหรับคนเป็นกับคนตาย ดังที่พระยาอนุมานราชธนเล่าไว้ในจดหมายถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (7 สิงหาคม พ.ศ. 2484) ความว่า “…ที่ประเพณีชาวพายัพและอีศานมีปักเฉลว ในเมื่อยกศพออกจากบ้านแล้ว ก็คงเป็นกั้นรั้วกันไม่ให้ผีกลับเข้ามาได้…”
หน้าที่เฉลวจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ เพราะผีสางต่าง ๆ ก็จัดว่าเป็นสาเหตุของโรคร้ายสำหรับมนุษย์เช่นกัน รวมถึงการกำหนดเขตและพื้นที่ด้วย
จากยมบาศ สู่ “เฉลว”
รูปลักษณ์ของเฉลวมาจากความเชื่อเรื่องพระยม หรือท้าวมัจจุราช เทพเจ้าแห่งความตาย ผู้เป็นที่หวั่นเกรงของภูตผีทั้งหลาย พระยมมีบ่วงบาศสำหรับคล้องมัดผีร้ายและสัตว์โลกมีบาปที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว เรียกว่า “ยมบาศ”
พระเกจิอาจารย์สมัยโบราณจึงจำลองยมบาศมาผูกด้วยอักขระเลขยันต์ เพื่อเป็นเครื่องรางป้องกันสิ่งอัปมงคลทั้งหลาย เรียกว่า “ยันต์เฉลวเพชร” มีลักษณะคล้ายดาว และพัฒนามาเป็นเฉลว
ตำนานเมืองเชียงตุง
อีกหนึ่งตำนานการเกิดเฉลวอยู่ในคำบอกเล่าเก่าแก่เกี่ยวกับตำนานการเกิดเมืองเชียงตุง เริ่มจากพระเจ้าเทิง กษัตริย์แห่งเงินยวง เสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ในป่าลึกแล้วได้พบกับนางไม้ พระองค์เกิดพึงพอใจในความงามของนาง จึงตัดสินใจอยู่กินร่วมกัน ณ ถ้ำกลางป่านั้น
ผ่านไปเป็นเวลานาน พระเจ้าเทิงคิดถึงบ้านเมือง จึงขอลานางไม้กลับออกจากป่า นางได้สำรอกทารกเป็นโอรสที่เกิดกับพระพระองค์มอบให้ไปด้วย ชื่อว่า เจ้าชายตุง
เมื่อเจ้าชายตุงเติบใหญ่ก็ชอบเที่ยวป่าเช่นเดียวกับพระราชบิดา วันหนึ่งจึงได้พบกับมารดาในป่านั้น เมื่อพบว่าป่าแถบนั้นอุดมสมบูรณ์นัก จึงมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่นั่นเรียกว่า “เชียงตุง”
ด้วยความรักที่มีต่อมารดาและผืนป่า พระองค์สั่งห้ามการล่าสัตว์ในป่ารอบเมือง แต่ต้องแลกมาด้วยความเดือดร้อนของชาวเมืองที่ทำไร่อย่างยากลำบาก เพราะมีสัตว์ป่าเข้ามารุกที่ดินทำกินจนพืชผลได้รับความเสียหาย พระองค์จึงใช้เหยี่ยวบินตรวจตรารักษาไร่นา ก็ไม่วายถูกสัตว์ป่าทำร้ายจนเหยี่ยวเป็นอันตรายไปหลายตัว จึงเปลี่ยนมาสร้างรั้วป้องกันสัตว์ พร้อมเอาไม้ไผ่มาขัดกันเป็นรูปตาเหยี่ยวเรียกว่า “ตาเหลว” หรือเฉลวนั่นเอง
การใช้เฉลวเป็นสัญลักษณ์แสดงเขตหรือพื้นที่ต้องห้าม ยังปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงโปแถบแม่สะเรียง ที่จะปักเฉลวไว้เวลานวดข้าว เพื่อเตือนไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามารบกวนในเขตบ้านของตน เพราะงานนวดข้าวเป็นกิจสำคัญ หากใครรบกวนมีโทษคือต้องมาช่วยนวดข้าว หรือจ่ายค่าเสียหายเป็นไก่หรือไข่ให้เจ้าบ้าน
แม้ทุกวันนี้ความเชื่อเรื่องเฉลวในสังคมเมืองเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ในสังคมชนบทยังพบร่องรอยความเชื่อนี้ได้อยู่ และบางพื้นที่เรียกได้ว่ายังมีอิทธิพลต่อผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ พอสมควร
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนานการสร้างพระกริ่งในไทย “กริ่ง” คำนี้มาจากไหนกัน
- “งั่ง” เครื่องรางสายเสน่ห์ฤทธิ์เหลือร้าย และที่มาของคำด่า “ไอ้งั่ง”
- ทำไมยุคหนึ่ง “จตุคามรามเทพ” เครื่องรางของขลัง ถึงมีมูลค่านับหมื่นล้าน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. เฉลวและขุนเพ็ด จิตรกรรมสีฝุ่นบนตู้พระธรรม. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2567. (ออนไลน์)
จรัญ ทองวิไล. เฉลว : กฎ กติกา หรือมายาคติของบรรพชน. นิตยสาร ศิลปากร ฉบับพฤษภาคม-มิถุนายน 2559. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2567