ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“สารทไทย” คือ เทศกาลสารท หรือประเพณีสารท เป็นประเพณีหนึ่งของเดือน 10 (ตามปฏิทินจันทรคติ) วันสารทตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งปี 2567 นี้ “วันสารทไทย” ตรงกับวันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567
สารทไทย
เหตุที่ต้องเรียกว่า “วันสารทไทย” เพื่อจะได้ไม่ปะปนสับสนกับวันสารทของศาสนาอื่นๆ เช่น วันสารท (จีน) ของชาวจีนในไทย
คำว่า “สารท” หมายถึงฤดูที่คาบเกี่ยวระหว่างฤดูฝน-ฤดูหนาว วันสารทไทย ถือเป็นการทำบุญหลังจากที่วันเวลาล่วงเลยมาครึ่งปี เดิมเข้าใจว่าเป็นพิธีกรรมอย่างพราหมณ์และศาสนาพุทธที่ปะปนกัน มีการทำอาหารไปถวายพระ และทำอาหารเพื่อเซ่นวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
อาหารที่นิยมทำกันในงานบุญวันสารท ได้แก่ ข้าวยาคู, ข้าวมธุปายาส, ข้าวทิพย์ และกระยาสารท ซึ่ง 3 รายการแรกมีขั้นตอนการทำที่ละเอียดมาก เช่น การกวนข้าวทิพย์ต้องใช้สาวพรหมจารี ปัจจุบันจึงนิยมใช้ “กระยาสารท” ที่มีกระบวนการทำง่ายกว่า นำไปทำบุญมากกว่าอาหารอย่างอื่น
ชื่อที่แตกต่าง บนหลักการเดียวกัน
สารทไทย เป็นการเรียกแบบภาคกลาง แต่ในภาคอื่นๆ ของไทย มีเรียกชื่อแตกต่างกันไป และวันเวลาอาจเหลื่อมกันบ้าง แต่มีสาระสำคัญเหมือนกันคือการทำบุญ “อุทิศ” ให้ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ
ภาคอีสาน เรียก “บุญข้าวสาก” คือบุญเดือน 10 เป็นฮีต 1 ในฮีต 12 ของชาวอีสาน นิยมทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 นอกจากอาหารคาวหวานต่างๆ แล้ว ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่า, ข้าวพอง, ข้าวตอก, น้ำอ้อย, ถั่ว, งา และมะพร้าว มาทำเป็นของหวาน เรียกว่า “ข้าวสาก” (ที่ภาคกลางเรียกว่า “ข้าวกระยาสารท” หรือกระยาสารท) ส่งให้ญาติพี่น้องก่อนวันทำบุญ และอีกส่วนก็กันไว้สำหรับไปทำบุญ
ภาคใต้ เรียก “ชิงเปรต” หรือ “บุญเดือน 10” เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ จนถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งช่วง 2-3 วันสุดท้ายจะปลูกร้านยกสูง แล้วนำอาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไปวางเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้เปรต (บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว) หลังจากนั้นพวกลูกหลานที่ยังมีชีวิตก็จะเข้าไปแย่งชิงของดังกล่าว เชื่อกันว่า ถ้าลูกหลานเปรตตนใดชิงได้ถือว่าเป็นบุญ เปรตตนนั้นจะได้รับส่วนกุศลไปด้วย
อาหารที่ใช้ในพิธีชิงเปรต ที่เป็นเอกลักษณ์ของงาน คือ ขนมลา, ขนมพอง, ขนมบ้า, ขนมเจาะหู (ขนมเมซฎ เบซำ หรือดีซำ) ขนมไข่ปลา
ภาคเหนือ เรียก “ตานก๋วยสลาก” หรือ “สลากภัต” มักทำกันประมาณวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือเดือน 10 ของภาคกลาง เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยถวายภัตตาหารและเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์อย่างไม่จำเพาะเจาะจงพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง แต่ใช้การจับ “สลาก” เพื่อไม่ให้โยมและพระมีการลำเอียงหรืออคติ
ปัจจุบัน “วันสารทไทย” ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีการระบุในปฏิทินส่วนใหญ่ คงรู้จักแต่ขนมในงานบุญดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น กระยาสารท, ขนมลา ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติม :
- ประเพณีปอยส่างลอง งานบุญบวชเณรสุดอลังการ “ไทใหญ่” แม่ฮ่องสอน
- พระธาตุศรีสองรัก คือใครรักกับใคร? ค้นต้นตอที่นำมาสู่ความศรัทธาและประเพณีพื้นถิ่น
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. “ประเพณีสารทไทย” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 14, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ 2542.
สาร สาระทัศนานันท์. “ข้าวสาก” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 2, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ 2542.
ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. “ชิงเปรต” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 5, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ 2542.
ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. “สลากภัต หรือตานก๋วยสลาก” ใน, https://www.finearts.go.th/nanmuseum
เผยแพร่ในระบบอนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2567