ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระพิมพ์หรือพระเครื่องซึ่งเป็นพระกรุโบราณของจังหวัดกาญจนบุรี เป็นที่เลื่องชื่อยิ่งสำหรับนักสะสมพระเครื่อง และเป็นพระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งของเมืองกาญจน์ คือ “พระท่ากระดาน”
เหตุที่เรียกขานพระเครื่องทรงปางมารวิชัยองค์นี้ว่า “พระท่ากระดาน” เพราะขุดพบครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2460 ที่วัดท่ากระดานกลาง บริเวณเนินดินข้างวิหารร้าง ก่อนจะขุดพบเพิ่มที่วัดท่ากระดานเหนือและวัดท่ากระดานใต้ในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อทั้ง 3 วัดอยู่ในพื้นที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ (จังหวัดกาญจนบุรี) จึงเรียกรวมกันว่า “กรุศรีสวัสดิ์”
มีเรื่องเล่าที่แพร่หลายว่าพระกรุศรีสวัสดิ์เป็นพระเครื่องที่สร้างขึ้นโดยพระฤๅษีมีวิชา แล้วนำมาบรรจุกรุไว้ในวัดสำคัญ ๆ ของเมืองท่ากระดาน
ในอักขรานุกรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวถึงประวัติเมืองท่ากระดานไว้ว่า “ท่ากระดานเป็นเมืองเก่า ยุบเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2438 ลดเป็นหมู่บ้านและตำบลในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี”
“ท่ากระดาน” เป็นพระเครื่องเนื้อตะกั่ว ซึ่งมีคุณสมบัติโดดเด่นประการหนึ่งคือ สนิมที่เกิดจากการออกไซด์จะมีสีแดง เรียกว่า สนิมแดง และมีไขขาวแซม
นักสะสมพระเครื่องรุ่นเก่าเรียกขานพระเครื่องนี้อีกชื่อด้วย นั่นคือ “พระเกศบิดตาแดง” เพราะพระเกศ (ผม, มวยผม) ขององค์พระมักบิดจากลักษณะที่ยาวเด่น ส่วนพระเนตรมีสีแดง เพราะสนิมแดงที่ติดองค์พระ
ต่อมา พ.ศ. 2459 มีการค้นพบ “ท่ากระดาน” ที่วัดท่ากระดานกลางอีกครั้ง โดยพบที่ใต้ต้นลั่นทม จึงเรียกชื่อกรุว่า “กรุลั่นทม”
นอกจากนั้นยังพบเพิ่มในจังหวัดกาญจนบุรีอีกมากมายหลายกรุ เช่น กรุงวัดนาสวย (วัดต้นโพธิ์) กรุวัดหนองบัว กรุวัดเทวสังฆาราม กรุวัดท่าเสา กรุวัดเขาชนไก่
สันนิษฐานว่า พระจากกรุเหล่านี้สร้างขึ้นเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เพราะเป็นพระเครื่องที่มีพุทธศิลป์แบบศิลปะอู่ทองยุคต้น ขนาดกว้างประมาณ 2.6 เซนติเมตร ส่วนความสูงอาจต่างกันบ้างเล็กน้อยแล้วแต่ความยาวของพระเกศ เพราะมีทั้งแบบเกศตุ้ม เกศตรง และเกศคด (คดมากคดน้อยต่างกันไปอีก)
“ท่ากระดาน” ยังมีแบบพิมพ์พิเศษ มีปีกกว้าง คือส่วนเนื้อที่เกิดแต่ไม่ได้ตัดออก เรียกกันว่า พิมพ์รัศมี
พุทธลักษณะ “พระท่ากระดาน”
“ท่ากระดาน” เป็นพระพิมพ์ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ประทับบนฐานสำเภา พระเศียรมีเมาลีซ้อน 2 ชั้น พระเกตุมาลาแหลมยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร แต่เพราะการบรรจุลงกรุ ทำให้เกิดการทับถมกันจนพระเกศบิดโค้งงอไป
พระพักตร์องค์พระค่อนข้างเครียด พระขนงเป็นเส้นคม พระเนตรโปน พระนาสิกงุ้ม พระกรรณด้านซ้ายตัดชิด ส่วนข้างขวาปรากฏเห็นชัดเจน พระอุระตอนบนผาย ตอนล่างคอดลงเป็นส่วนพระอุทร ปรากฏผ้าสังฆาฏิเป็นแผ่นหนานูนชัดเจน พระบาทซ้อนกันชัด
ด้านหลังองค์พระเรียบ แต่จะปรากฏรอยบุ๋มเล็กน้อย เป็นพระเครื่องที่ปิดทองมาแต่ในกรุ ทองที่ปิดจึงแนบสนิมจนเป็นเนื้อเดียวกันกับองค์พระ
“ท่ากระดาน” ถูกขนานนามจากเหล่านักสะสมพระเครื่องว่าเป็น “ยอดขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง” เพราะเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนับถือกันว่ามีพุทธคุณด้านคงกระพันชาตรี และเป็นพระเครื่องยอดนิยมในระดับต้น ๆ ของนักสะสมเลยทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม :
- พระสมเด็จเกษไชโย พระเครื่องชื่อดัง ที่ทำให้คนจำชื่อวัดผิด
- กำเนิด “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” พระเครื่องดังหนึ่งในเบญจภาคี
- “พระรอด ลำพูน” พระเครื่องอายุกว่า 1,000 ปีในชุด “เบญจภาคี” มีที่มาอย่างไร ทำไมจึงเป็นที่ศรัทธา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความจาก “‘ท่ากระดาน’ กาญจนบุรี ยอดขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง” เขียนโดยสรพล โศภิตกุล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2539 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2567