ที่มา “ดอกไม้จันทน์” ทำไม “ไม้จันทน์” มักอยู่ในงานผี พิธีศพ?

ไม้จันทน์ ดอกไม้จันทน์ ศพ พิธีศพ
ดอกไม้จันทน์ในพิธีศพ (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

“ดอกไม้จันทน์” อยู่คู่พิธีเผาศพในวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่หลายคนจำความได้ แต่เอาเข้าจริงประวัติของสิ่งนี้กับงานศพ (ระดับชาวบ้าน) อาจไม่ได้เก่าแก่มากนัก สันนิษฐานว่าเป็นที่แพร่หลายเมื่อราวครึ่งศตวรรษหรือ 40-60 ปีที่ผ่านมานี้เอง วัฒนธรรมดอกไม้จันทน์ในงานศพมาจากไหน?

ไม้จันทน์

ดอกไม้จันทน์แต่เดิมมาจาก “ไม้จันทน์” หรือต้นจันทน์หอม บ้างเรียกไม้จันทนา จันทน์ชะมด จันทน์ขาว และจันทน์พม่า เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30 เมตร พบในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง กระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาหินปูน ในจังหวัดนครราชสีมา สระบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนในต่างประเทศพบในพม่าและอินเดีย

ดอกไม้จันทน์ ดอกจันทน์หอม
ดอกไม้จันทน์ (จริงๆ) หรือดอกจันทน์หอม (ภาพจาก เว็บไซต์ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หรือ สวพส.)

ไม้จันทน์เป็นไม้เนื้อแข็ง ละเอียด กระพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไสตกแต่งง่าย เมื่อขัดเงาเนื้อไม้จะสวยงามมาก ทำให้นิยมใช้สร้างบ้านเรือนของเจ้านายสมัยก่อน

ที่สำคัญคือ ไม้จันทน์เป็นไม้เนื้อหอม เมื่อยืนต้นตายเองตามธรรมชาติเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ นิยมนำมาเป็นไม้หอม กลั่นเป็นน้ำหอม ใช้ทำเครื่องหอม ธูปหอม และทำเป็นยาสมุนไพร จึงเป็นไม้ที่มีค่าและราคาสูงมาก

คุณสมบัติข้างต้นทำให้ไม้จันทน์เป็นไม้ล้ำค่า ยิ่งต้นจันทน์ที่ยืนต้นตายเองถือว่าหาได้ยากยิ่ง จึงเป็นไม้มงคลควรคู่กับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ 

เป็นที่มาของธรรมเนียมการใช้ไม้จันทน์ในงานพระราชพิธีเกี่ยวกับพระบรมศพหรือพิธีศพของชนชั้นสูงมาแต่โบราณ นำมาทำเป็นดอกไม้จันทน์ พระโกศจันทน์ พระหีบจันทน์ ตลอดจนท่อนฟืนไม้จันทน์

ไม้จันทน์ จึงไม่ได้เป็นแค่ดอกไม้จันทน์ แต่เป็นหัวใจสำคัญในพิธีศพ (ไม่นับศพ) เลยทีเดียว

บทบาทของไม้จันทน์ในงานศพแต่โบราณ ปรากฏเป็นหลักฐานมากมาย เช่น ในบทละครรำเรื่อง อิเหนา (สมัยรัชกาลที่ 2) ตอนระตูปันจะรากันและระตูปักมาหงันทำศพระตูบุศสิหนา พระอนุชา เล่าถึงพระโกศทำด้วยไม้จันทน์และไม้กฤษณา ความว่า

“นายงานทหารในระดมกัน  ทำพระโกศด้วยจันทน์กฤษณา” และ “ให้เชิญศพองค์พระน้องนั้น  ใส่ในโกศจันทน์ทันใด”

หรือใน จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ก็เล่าถึงเชิงตะกอนเผาศพจากไม้เนื้อหอม ได้แก่ ไม้จันทน์ขาว จันทน์เหลือง และกฤษณา รวมถึง ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีเก่าแก่สมัยสุโขทัย ก็กล่าวถึงไม้จันทน์ในงานศพของชาวอุตรกุรุทวีป เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าไม้จันทน์อยู่ในงานศพมาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว

ส่วนวัตถุประสงค์ก็ไม่ใช่อื่นใด เพื่อให้กลิ่นหอมของไม้จันทน์กลบกลิ่นไม่พึงประสงค์จากศพที่ถูกเผาไหม้ในยุคที่คนโบราณยังไม่มี “ฟอร์มาลีน” ใช้นั่นเอง

พระโกศจันทน์ พระศพ พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ทำจาก ไม้จันทน์
พระโกศจันทน์ สำหรับทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ดอกไม้จันทน์

พัฒนาการของดอกไม้จันทน์นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยทรงสันนิษฐานเมื่อครั้งเสด็จงานพระศพ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 ความว่า

“ในนั้นมีกำหนดให้จัดของตั้งถวายในการพระราชทานเพลิงศพ คือ ให้จัดธูปเทียน เข้าตอกดอกไม้กับท่อนจันทน์ นึกแปลเอาว่า ธูปเทียน เข้าตอกดอกไม้นั้น สำหรับทรงขมาศพ ท่อนจันทน์ (เปนฟืน) สำหรับเผาศพ ภายหลังประดิษฐ์แก้ไขเปนดอกไม้จันทน์ไปเสีย”

ว่าง่าย ๆ คือ ดอกไม้จันทน์พัฒนามาจาก “ธูปเทียน เข้า (ข้าว) ตอกดอกไม้” ที่ใช้สำหรับขอขมาศพ แต่เพราะใช่ว่าทุกงานจะหาท่อนจันทน์มาเป็นฟืนเผาศพได้ (เว้นเสียแต่เป็นพระราชพิธีพระบรมศพหรือพิธีศพของเจ้านายระดับสูง) ดอกไม้จันทน์จึงเป็นสิ่งแทนไม้จันทน์ในรูปแบบเครื่องขอขมา

แต่เดิมชาวบ้านจะถือกันว่าไม้จันทน์และดอกไม้จันทน์เป็นของสูง เป็นธรรมเนียมในหมู่เจ้านาย และไม่ได้รับคติดังกล่าวมาใช้ในงานศพทั่ว ๆ ไป

แต่เมื่อเวลาผ่านไป โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา เส้นแบ่งระหว่างพิธีของชนชั้นสูงกับชนชั้นล่างผ่อนคลายความเข้มงวดลง ธรรมเนียมหลวงบางอย่างก็กลายมาเป็นธรรมเนียมราษฎร์ ประกอบกับชาวบ้านมองว่าดอกไม้จันทน์เป็นสัญลักษณ์ของการให้เกียรติและให้ความเคารพผู้วายชนม์ ญาติ ๆ จึงจัดหามาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีเผาศพในที่สุด

กลายเป็นว่าทุกวันนี้งานศพงานใดไม่มีดอกไม้จันทน์ถือเป็นเรื่องแปลกไปเสียแล้ว

ดังนั้น ดอกไม้จันทน์ไม่ใช่ของพื้นบ้านแน่ ๆ ถามว่ามาจากไหน ก็มาจากการเลียนลอกธรรมเนียมราชสำนัก ถามว่ามีไปทำไม ก็เพื่อขอขมาผู้ตาย โดยตั้งต้นจากเชิงตะกอนฟืนไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม ช่วยกลบกลิ่นเหม็นเน่าของศพเมื่อถูกเผาไหม้ได้

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเราไม่สามารถหาไม้จันทน์หอมมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้จันทน์ได้แล้ว แต่ยังเรียกชื่อนี้ตามจารีต โดยประยุกต์ใช้ไม้อื่น ๆ เช่น ไม้โมก ไม้ตีนเป็ด หรือกระดาษ มาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ทดแทนกันไป

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

วีระพงศ์ มีสถาน. ชาวบ้าน “เผาผี” กันอย่างไร? ทำไมพก “มีดปาดหมาก” ไม่มี “ดอกไม้จันทน์”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560.

ญาดา อารัมภีร. จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ‘จันทน์’ อยู่วงจรงานศพมาแต่โบราณ ใช้ในอะไรบ้าง?. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 – 26 ตุลาคม 2566.

ญาดา อารัมภีร. จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : จากท่อนจันทน์ในอดีต สู่ “ดอกไม้จันทน์” ในปัจจุบัน. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2566.

พานิชย์ ยศปัญญา, กรมป่าไม้. เกร็ดข้อมูลเรื่อง จันทน์หอม ไม้มงคลชั้นสูง สิ่งสำคัญในการพระราชพิธี. 13 ตุลาคม พ.ศ.2560. จาก https://www.silpa-mag.com/news/article_12124


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กันยายน 2567