เกร็ดข้อมูลเรื่อง จันทน์หอม ไม้มงคลชั้นสูง สิ่งสำคัญในการพระราชพิธี

ดอกของจันทน์หอม

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ โดยวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระโกศจันทน์ พระหีบจันทน์ และท่อนฟืนไม้จันทน์ นับเป็นสิ่งสำคัญในการพระราชพิธี ซึ่งล้วนทำจากไม้จันทน์หอมทั้งสิ้น

ผู้เขียนได้ทำจดหมายขอข้อมูลไม้จันทน์หอมไปถึงอธิบดีกรมป่าไม้ นายชลธิศ สุรัสวดี ท่านอธิบดีได้ส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมทุกด้าน จึงขอนำข้อมูลทั้งหมดมาเผยแพร่ ดังนี้

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้มีค่าที่หายากชนิดหนึ่ง จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง ใช้ในพระราชประเพณีตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชประเพณีเกี่ยวกับพระบรมศพ โดยนำเอาไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเองตามธรรมชาติ ซึ่งเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มาสร้างพระลองประดับพระโกศพระบรมศพ ตลอดจนใช้ทำฟืน และดอกไม้จันทน์ในพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ (ณัฏฐภัทร, ๒๕๓๙)

ต้นจันทน์หอม

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เนื้อไม้แข็ง ละเอียด กระพี้สีน้ำตาลอ่อน แก่นสีน้ำตาลเข้ม ไสกบ ตบแต่งง่าย ขัดเป็นเงาสวยงามมาก นิยมใช้สร้างบ้านหรือตำหนักของเจ้านายสมัยก่อน ทั้งโครงสร้างบ้านทั่วไปภายในและภายนอก โดยเฉพาะพื้นบ้านจะนิยมกันมาก

นอกจากนี้แล้วไม้จันทน์หอมที่ยืนต้นตายเองตามธรรมชาติเนื้อไม้จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ จึงนิยมเก็บมาเป็นไม้หอมที่มีราคาสูงมาก เพื่อนำมากลั่นเป็นน้ำหอม ใช้ทำเครื่องหอม ธูปหอม ตลอดจนเป็นยาสมุนไพรได้อีกด้วย

ไม้จันทน์หอม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mansonia gagei Drumm. วงศ์ STERCULIACEAE และมีชื่ออื่นๆ ที่เรียกกันทั่วไปว่า จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาวหรือจันทน์พม่า (เต็ม, ๒๕๒๓)

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้คนละชนิดกับจัน หรือจันอิน-จันโอ (Diospyros decandra Lour.) และเป็นคนละชนิดกับไม้กฤษณา (Aquilaria malaccensis) ซึ่งบางท่านก็เรียกว่าไม้หอมเช่นกัน

ไม้จันทน์หอมเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๓๐ เมตร พบขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาหินปูน ในจังหวัดนครราชสีมา สระบุรี ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ ในต่างประเทศพบในพม่าและอินเดีย (เต็ม, ๒๕๒๓)

ลำต้น…มีลักษณะเปลา ตรง เปลือกสีเทาอมขาว หรือเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่อง เปลือกชั้นในเมื่อถากใหม่ๆ จะมีสีขาว ทิ้งไว้แห้งจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนประปราย

ใบ…เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดเรียงสลับ ทรงใบรูปมนแกมรูปหอก แขนงใบออกสีดำ ท้องใบมีขนสีอ่อนๆ ประปราย หลังใบเกลี้ยง ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ ขนาดใบกว้าง ๓-๖ เซนติเมตร ยาว ๘-๑๔ เซนติเมตร โคนใบตัดหรือเว้าเข้าเล็กน้อย และจะเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบสอบแหลมทู่ๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา ใบอ่อนมีขนประปราย ใบแห้งออกสีเขียวอ่อนๆ เส้นใบออกจากจุดโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบมี ๔-๖ คู่ ก้านใบยาว ๕-๑๐ มิลลิเมตร มีขนประปราย และจะออกสีดำคล้ำเมื่อใบแห้ง

ใบและผลของจันทน์หอม

ดอก…เป็นดอกขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อนๆ หรือสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบใกล้ๆ ปลายกิ่ง ช่อยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร โดยกลีบฐานดอกติดกันเป็นรูปเหยือก ปลายแยกเป็นแฉกแหลมๆ ๕ แฉก ทั้งหมดยาว ๑๐-๑๓ มิลลิเมตร เกสรตัวผู้มี ๑๐ อัน และในจำนวนนี้จะมีเกสรตัวผู้เทียมเสีย ๕ อัน รังไข่มี ๕ พู รวมเบียดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ มีขนคลุมแน่น แต่ละพูเป็นอิสระแก่กัน และต่างก็มีหลอดท่อรังไข่ ๑ หลอด ในแต่ละพูมีช่อเดียว และมีไข่อ่อน ๑ หน่วย ออกดอกระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน

ผล…เป็นผลประเภทผลแห้งแก่แล้วไม่แตก มีปีกเดียว ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่มีสีเหลืองอ่อนจนเป็นสีน้ำตาล ผลมักติดกันเป็นคู่ๆ แต่ไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกัน ทรงผลรูปกระสวยเล็กๆ กว้าง ๕-๗ มิลลิเมตร ยาว ๑๐-๑๕ มิลลิเมตร ส่วนปลายของผลมีครีบเป็นปีกรูปสามเหลี่ยม ๑ ปีก กว้าง ๑-๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๒.๕-๓ เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร มีจำนวนผลเฉลี่ยประมาณ ๒,๖๔๓ ผล/กิโลกรัม และผลจะแก่ประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม

เมล็ด…มีเปลือกบางๆ หุ้มภายในผล ผลหนึ่งมี ๑ เมล็ด จำนวนเมล็ดประมาณ ๓,๕๖๕ เมล็ด/กิโลกรัม หรือน้ำหนักของเมล็ดจำนวน ๑,๐๐๐ เมล็ด เท่ากับ ๒๘๐.๐๕ กรัม ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเมล็ดประมาณเดือนมกราคม (คงศักดิ์, ๒๕๕๐)

ลักษณะเนื้อไม้ มีสีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เป็นไม้เนื้อแข็ง เลื่อย ไสกบ ตบแต่งง่าย ส่วนแก่นสีน้ำตาลเข้ม มีความถ่วงจำเพาะประมาณ ๐.๙๓ (กรมป่าไม้, ๒๕๒๖)

ประโยชน์ ปรากฏหลักฐานการใช้ประโยชน์จากไม้จันทน์หอมมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือ มักจะใช้จตุชาติสุคนธ์ คือ ของหอมธรรมชาติ ๔ อย่าง ได้แก่ กลิ่นของกฤษณา กะลำภัก จันทน์หอม และดอกไม้หอม ประพรมในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีมงคลถวายพระนามเจ้าชายสิทธัตถะในปฐมวัย นอกจากนี้ยังพบประวัติการใช้ไม้หอมในประเทศไทยยาวนานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นสินค้าหลักแล้วยังใช้เป็นเครื่องบรรณาการอีกด้วย

ไม้จันทน์หอมที่แปรรูปแล้ว

เนื้อไม้นิยมใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า ทำเครื่องกลึง แกะสลักทำเสาหลักเมือง ทำหวี ธูป น้ำหอม เครื่องหอม เครื่องสำอางต่างๆ น้ำอบไทย และใช้ทำยาสมุนไพร น้ำมันที่กลั่นจากเนื้อไม้ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ เนื้อไม้ใช้เป็นยาบำรุงประสาท เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย แก้ดี แก้กระหายน้ำ อ่อนเพลีย

นอกจากนี้แล้ว ขี้เลื่อยยังใช้ทำธูปหอม และที่สำคัญ คือ ดอกไม้จันทน์ที่นิยมใช้ในการเคารพศพในพิธีเผาศพทั่วๆ ไป ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ในปัจจุบันนั้นไม่สามารถหาไม้จันทน์หอมมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้จันทน์ได้ แต่ยังคงเรียกดอกไม้จันทน์ โดยการประยุกต์มาใช้ไม้อื่นๆ เช่น ไม้โมก หรือไม้ตีนเป็ดแทนไม้จันทน์หอม หรือบางครั้งอาจใช้กระดาษเป็นกลีบดอกแทนก็มีให้เห็นในปัจจุบัน

สถานการณ์ไม้จันทน์หอมในป่าธรรมชาติปัจจุบัน จากการสำรวจชนิดพรรณไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับความสูงเพียงอกมากกว่า ๔.๕ เซนติเมตรขึ้นไปของป่าที่มีไม้จันทน์หอมขึ้นอยู่ทั้ง ๓ พื้นที่พบว่า

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพรรณไม้ในแปลงตัวอย่างจำนวน ๒๘ ชนิด มีความหนาแน่นรวมของไม้ใหญ่ ไม้รุ่น และกล้าไม้ เท่ากับ ๑,๖๖๙, ๘,๔๓๗ และ ๒๕๓,๐๐๐ ต้นต่อเฮกตาร์ โดยที่ไม้จันทน์หอมมีความหนาแน่นของไม้ใหญ่ ไม้รุ่น และกล้าไม้ เท่ากับ ๒๗, ๑๕๖ และ ๑๐๕,๕๐๐ ต้นต่อเฮกตาร์ พื้นที่หน้าตัด ๕.๖๓๔ ตารางเมตร และดรรชนีความสำคัญ ๒๘.๕๒๓ เป็นลำดับที่ ๓ โดยมีค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ ๑.๖๑๘ ความถี่สัมพัทธ์ ๕.๙๑๓ และความเด่นสัมพัทธ์ ๒๐.๙๙๓

อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง มีพรรณไม้ในแปลงตัวอย่างจำนวน ๖๓ ชนิด มีความหนาแน่นรวมของไม้ใหญ่ ไม้รุ่น และกล้าไม้ เท่ากับ ๑,๒๕๒, ๙,๙๖๘ และ ๖๐,๐๐๐ ต้นต่อเฮกตาร์ โดยที่ไม้จันทน์หอมมีความหนาแน่นของไม้ใหญ่ ไม้รุ่น และกล้าไม้ เท่ากับ ๓๒, ๖๓ และ ๑๐,๕๐๐ ต้นต่อเฮกตาร์ พื้นที่หน้าตัด ๑.๓๒๕ ตารางเมตร และดรรชนีความสำคัญ ๑๓.๒๗๐ เป็นลำดับที่ ๗ โดยมีค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ ๒.๕๕๖ ความถี่สัมพัทธ์ ๓.๙๘๘ และความเด่นสัมพัทธ์ ๖.๗๒๖

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีพรรณไม้ในแปลงตัวอย่างจำนวน ๒๗ ชนิด มีความหนาแน่นรวมของไม้ใหญ่ ไม้รุ่น และกล้าไม้ เท่ากับ ๑,๑๗๕, ๔๐๖ และ ๓๐๐ ต้นต่อเฮกตาร์ โดยที่ไม้จันทน์หอมมีความหนาแน่นของไม้ใหญ่ และไม้รุ่น เท่ากับ ๓๕ และ ๙๔ ต้นต่อเฮกตาร์ ซึ่งไม่มีกล้าไม้ขึ้นอยู่เลย พื้นที่หน้าตัด ๐.๒๘๕ ตารางเมตร และดรรชนีความสำคัญ ๑๓.๑๐๘ เป็นลำดับที่ ๖ โดยมีค่าความหนาแน่นสัมพัทธ์ ๒.๙๗๙ ความถี่สัมพัทธ์ ๕.๙๘๑ และความเด่นสัมพัทธ์ ๔.๑๔๘

ความหนาแน่นของกล้าไม้จันทน์หอมในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีจำนวนมากที่สุดถึง ๑๐๕,๕๐๐ ต้นต่อเฮกตาร์ หรือประมาณ ๑๐.๕๕ ต้นต่อตารางเมตร แต่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง มีเพียง ๑๐,๕๐๐ ต้นต่อเฮกตาร์ หรือประมาณ ๑.๐๕ ต้นต่อตารางเมตร

ส่วนในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ไม่พบกล้าไม้จันทน์หอมจากการวางแปลงศึกษาการกระจายพันธุ์ของไม้จันทน์หอมในบริเวณอุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง และอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พบว่าไม้จันทน์หอมมีค่าดรรชนีความสำคัญเท่ากับ ๒๘.๕๒๓, ๑๓.๒๗๐ และ ๑๓.๑๐๘ ตามลำดับ โดยมีระดับความสำคัญอยู่ที่ระดับ ๓, ๗ และ ๖ ตามลำดับ (คงศักดิ์, ๒๕๕๐)

(ซ้าย) ไม้จันทน์หอมที่ปลูกขึ้นใหม่
(ขวา) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ บอกว่า ในป่าธรรมชาติในทุกพื้นที่มีการพัฒนาของกล้าไม้ไปสู่ระยะไม้รุ่นและไม้ใหญ่ในอัตราส่วนที่น้อยมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแม่ไม้ และนำไปสู่การสูญหายของไม้จันทน์หอมจากพื้นที่ในอนาคต ดังนั้นการช่วยเหลือและส่งเสริมให้ไม้ชนิดนี้ยังคงอยู่วิธีการหนึ่ง คือการขยายพันธุ์ โดยการเพาะกล้าไม้และนำมาปลูกเสริมป่าและการจัดการดูแลรักษาให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาเป็นไม้ใหญ่ต่อไปในพื้นที่ถิ่นป่าธรรมชาติ

ดังนั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ไม้จันทน์หอมไว้ในป่าตามธรรมชาติ เพื่อความหลากหลายทางพันธุกรรม รวมถึงควรมีการส่งเสริมให้ปลูกไม้จันทน์หอมในรูปแบบของสวนป่าเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

กรมป่าไม้ได้ตระหนักถึงความสำคัญของไม้จันทน์หอมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยและจัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในถิ่น-นอกถิ่น (Ex-situ และ In-situ) ของไม้จันทน์หอมที่สถานีวนวัฒนวิจัยประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้น เพื่อจะได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาให้มีไม้จันทน์หอมอยู่คู่แผ่นดินไทยสืบต่อไป