ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อเราเอ่ยถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีความเก่าแก่ ยาวนาน หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาเนิ่นนานมากแล้ว วลีเปรียบเปรยว่า “ครั้งสมัยพระเจ้าเหา” มักถูกยกมาใช้และน่าจะอยู่ในความทรงจำของหลาย ๆ คน แต่เอาเข้าจริงรายพระนามกษัตริย์ไทยที่เราร่ำเรียนกันก็ไม่เห็นมีพระเจ้าเหา… แท้จริงแล้ว “พระเจ้าเหา” คือใคร?
ร่องรอยสำคัญของพระเจ้าเหาคืออาคารโบราณสถานภายใน พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี นั่นคือ “ตึกพระเจ้าเหา” อาคารสถาปัตยกรรมแบบไทย ที่สันนิษฐานกันว่าเป็น “หอพระ” ประจำพระราชวัง
ที่มาของชื่ออาคารนี้มีหลายทฤษฎี ตั้งแต่ เหา ที่แผลงมาจากคำว่า House ตามที่ฝรั่งเรียกหอพระว่า “God’s House” เนื่องจากสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีการติดต่อกับชาติตะวันตกอย่างคึกคัก จึงเป็นได้ที่เราจะรับอิทธิพลทางภาษามาใช้
ต่อมาคือ เหา ในภาษาเขมร แปลว่า รวมเข้าหากัน หรือเป็นที่ประชุม เนื่องจากอาคารแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมกันของเครือข่ายพระเพทราชา ก่อนการยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์
อีกทฤษฎีที่สำคัญคือ “พระเจ้าเหา” เป็นชื่อพระพุทธรูปประธานภายในอาคาร เพราะตั้งแต่ต้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์ได้เสด็จไปทำสงครามกับล้านนา ก่อนจะมาสถาปนาเมืองลพบุรีให้มั่นคง เป็นไปได้ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงได้พระพุทธรูปจากล้านนานาม “พระเจ้าเหา” กลับมาด้วย เพราะคนล้านนามักเรียกพระพุทธรูปสำคัญโดยมี “พระเจ้า” นำหน้า เช่น พระเจ้าตนหลวง พระเจ้าเก้าตื้อ ฯลฯ
แต่ทำไมพระพุทธรูปสำคัญจึงชื่อ “เหา” ?
เพราะคำว่า “เหา” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแมลงดูดเลือดหรือเหาบนหัว แต่แผลงมาจาก “หาว” ภาษาไทยโบราณที่แปลว่า “ท้องฟ้า” หรือสวรรค์ และอาจสัมพันธ์กับ “เฮ่า” ในภาษาจีนที่หมายถึง “พระเทพบิดร” หรือบรรพกษัตริย์ผู้ล่วงลับ ตึกพระเจ้าเหาจึงไม่ใช่หอพระทั่วไป แต่เป็นปราสาทพระเทพบิดร
แต่ไม่ว่าพระเจ้าเหาจะมีอยู่จริงหรือไม่ ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้สูญหายไปแล้ว และจะเห็นว่าหากตั้งหลักกันที่ตึกพระเจ้าเหา คำนี้ไม่ได้มีเจตนาหมายถึงพระนามของพระเจ้าแผ่นดินโดยตรงแต่อย่างใด
ส่วนที่มาของการอ้างอิง “พระเจ้าเหา” ในเชิงความเก่าแก่นั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยให้ทัศนะไว้ว่า ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ทำ “รัฐประหาร” ณ ตึกพระเจ้าเหา พระเพทราชาได้ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และให้ขุนนางถวายสัตย์ปฏิญาณกันที่นี่ ราชวงศ์บ้านพลูหลวงจึงกำเนิดขึ้น ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในความทรงจำของคนกรุงเก่าฯ ที่เล่าสืบต่อกันมา
เชื่อได้ว่า หลังเหตุการณ์นั้นธรรมเนียมหรือระเบียบพิธีในราชสำนักคงเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย เมื่อมีการถามถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วจึงเกิดวลี “แต่ครั้งตึกพระเจ้าเหา” ขึ้น ก่อนที่ต่อมาคำว่า “ตึก” จะหายไป คงเหลือเพียง “แต่ครั้งพระเจ้าเหา” นัยคือผ่านมาเนิ่นนานตั้งแต่การรัฐประหารสมเด็จพระนารายณ์ และกำเนิดราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ต่อให้ไม่มีการผลัดแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มาเป็นสมเด็จพระเพทราชา การที่ “เหา” มาจาก “เฮ่า” ซึ่งเกี่ยวข้องกับปฐมวงศ์ของกษัตริย์แต่โบราณ ก็ดูจะสื่อความหมายความเก่าแก่-ดึกดำบรรพ์ได้ชัดเจนอยู่แล้ว
ดังนั้น การเปรียบเทียบอะไรสักอย่างว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา (พระเจ้าเฮ่า) จึงให้ความรู้สึก “โบร้าณ โบราณ” ได้ดีเลยทีเดียว
อ่านเพิ่มเติม :
- บทบาท “ตึกพระเจ้าเหา” อนุสรณ์สถานรัฐประหารยึดอำนาจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
- เทพนพเคราะห์ สู่เรื่องพระสี่เสาร์ กับที่มาสำนวน “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก”
- จับได้ “คาหนังคาเขา” สำนวนนี้มีที่มาอย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.matichon.co.th/columnists/news_360895
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_261123
https://www.museumsiam.org/museumcore_Hao_Idom
https://www.matichonacademy.com/content/article_10405
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2567