
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
นอกจาก “ห้องส้วม” ที่หมายถึงสถานที่ขับถ่ายแล้ว อีกคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ “ห้องสุขา” เราอาจคิดว่าความหมายของคำนี้ครบจบในตัว คือเป็นห้องที่ใช้ถ่ายหนักและถ่ายเบา ปลดเปลื้อง “ทุกข์” ออกไป จึงเป็นห้องแห่งความสุข แต่ที่จริงคำนี้เป็นคำย่อ แล้วคำเต็มคืออะไร?
“สุขาภิบาล” การจัดการความสะอาด
เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นยุคที่สยามต้องการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมตะวันตก หนึ่งในนั้นคือแนวคิดเรื่อง “สุขาภิบาล”
แนวคิดเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2437 เห็นได้จากคำกราบบังคมทูลของพระยาอภัยราชา (โรลัง ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการทั่วไปว่า พวกชาวต่างประเทศมักจะติเตียนว่ากรุงเทพฯ โสโครก จึงกราบบังคมทูลแนะนำรัชกาลที่ 5 ให้ทรงจัด “มุนิสิเปอล” (สมัยนี้หมายถึงเทศบาล) เหมือนที่จัดในต่างประเทศ
ทว่าคำกราบบังคมทูลแนะนำนี้ไม่สัมฤทธิผล เนื่องด้วยรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ขัดกับหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีที่ทำไว้ว่า ถ้ารัฐบาลสยามจะออกกฎหมายที่มีผลบังคับถึงชาวต่างประเทศ ต้องบอกให้รัฐบาล (คือกงสุล) ทราบก่อน จึงไม่ได้จัดตั้งเป็นเทศบาล แต่จัดตั้งในลักษณะ “กรมสุขาภิบาล” แทนใน พ.ศ. 2440
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าจะมีการเสนอให้จัดตั้งเทศบาล เพื่อดูแลรักษาความสะอาดของบ้านเมือง มีแนวคิดของคนในสังคมที่ต้องการจะจัดการทำความสะอาด รวมถึงจัดการเรื่องการขับถ่ายมาก่อนแล้ว ซึ่งเป็นวิธีการที่มีผู้เสนอและรับอยากทำ
หนึ่งในนั้นคือหลักฐานที่ พระยาสโมสรสรรพการ ขอรับจัดการทำความสะอาดในพระนคร ใน พ.ศ. 2436 โดยจะรับบริการขนถ่ายสิ่งโสโครกและจัดหาถังเปลี่ยนถ่ายให้กับราษฎร แต่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งก็ไม่ปรากฏข้อมูลต่อว่าเพราะเหตุใด
ถึงอย่างนั้น ในพระนครก็น่าจะมีผู้รับทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏในรูปแบบบริษัทที่ทำอย่างจริงจัง หรือมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

เปิดคำเต็ม “ห้องสุขา”
คำว่า “ศุขาภิบาล” หรือ “สุขาภิบาล” ที่แปลว่าการบำรุงรักษาความสุขนั้น สมัยรัชกาลที่ 5 เขียนว่า กรมศุขาภิบาล เรียกสั้นๆ ว่า กรมศุขา ต่อมาใช้ “ส. เสือ” สะกดแทน กลายเป็นคำว่า สุขาภิบาล
คำว่า ศุขา หรือ สุขา ในความหมายที่เราเข้าใจว่าเป็นสถานที่สำหรับขับถ่าย จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้
ห้องสุขา ย่อมาจาก ห้องสุขาภิบาล หมายถึงห้องที่สร้างโดยสุขาภิบาล ใช้สำหรับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ซึ่งความหมายแปลงมาเป็นส้วม อย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบันนั่นเอง
เหตุที่ได้ชื่อตามนี้ เพราะหน่วยงานนี้มีหน้าที่อย่างหนึ่งในการจัดการดูแลเรื่องการขับถ่ายของประชาชน และสร้างห้องปฏิบัติกิจของสุขาภิบาลให้ประชาชนมาใช้ เวลาคนไปขับถ่ายจึงมักบอกว่า “ไปศุขา” เหมือนกับที่เคยเรียกสถานที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายในอดีต เช่น ไปทุ่ง, ไปท่า, ไปเว็จ (เว็จหรือเวจ แปลว่าอุจจาระ มาจากภาษาบาลีว่า “วจฺจ” แล้วแผลงเสียงสระอะเป็นเอให้ออกเสียงง่าย)
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ คำว่าศุขาหรือสุขา ยังไม่ใช่คำที่เราใช้แทนความหมายของสถานที่ขับถ่ายในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว เพราะยังหมายถึงชื่อหน่วยงานราชการด้วย ไม่เหมือนกับคำว่าส้วม ซึ่งใช้ในความหมายเดียวสำหรับคนทั่วไปในเมืองว่า หมายถึงสถานที่ขับถ่าย
คำว่าสุขาและคำว่าส้วม มีใช้แพร่หลายในปัจจุบัน ส่วนคำว่าเว็จกลับค่อยๆ เลือนหายไป ทั้งที่ตอนแรกยังใช้เรียกในภาษาราชการและในชีวิตประจำวัน

อ่านเพิ่มเติม :
- ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมการขับถ่าย คนสมัยก่อน “ขี้” สบายกว่าคนสมัยนี้ ?
- เผย “การขับถ่ายสไตล์ชาววัง” หรูหราและพิสดารกว่าสามัญชนอย่างไร!??
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
มนฤทัย ไชยวิเศษ. ประวัติศาสตร์สังคมว่าด้วยส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2566.
เฟซบุ๊กเพจ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “เว็จ-เวจ จริงแล้วไม่ได้แปลว่า ส้วม”. เข้าถึงเมื่อ 22 สิงหาคม 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2567