ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ชุดประธานเหมา” ที่ “เหมา เจ๋อตง” อดีตผู้นำจีนชอบใส่ มีที่มาจากไหน?
เวลาที่ เหมา เจ๋อตง (ค.ศ. 1893-1976) อดีตประธานพรรคคคอมมูนิสต์จีนและผู้นำประเทศ ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเมื่อไหร่ ภาพที่ทุกคนคุ้นตาคือเขามักสวมเสื้อคลุมติดกระดุม 5 เม็ด คอตั้ง ปกพับลง แขนยาว มีกระเป๋า 4 ใบ จนคนทั้งโลกเรียกเครื่องแต่งกายของเขาว่า “ชุดประธานเหมา”
แม้เหมา เจ๋อตง จะสวมใส่ชุดนี้จนกลายเป็นภาพจำ แต่ที่จริงแล้ว ชุดที่ว่าคือ “ชุดจงซาน” ซึ่งตั้งขึ้นตามอีกชื่อหนึ่งของ “ซุน ยัตเซ็น” (ค.ศ. 1866-1925) ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐจีน
ซุน ยัตเซ็น (ซุน จงซาน) เป็นผู้นำคนสำคัญในการปฏิวัติซินไฮ่ ล้มล้างราชวงศ์แมนจู และก่อตั้งสาธารณรัฐจีนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1912

เขาเป็นผู้นำรูปแบบการแต่งกายประจำชาติรูปแบบใหม่ ดูทันสมัย เรียบง่าย มีประโยชน์ใช้สอย ที่สำคัญคือยังคงมีความเป็นจีน ที่ไม่ใช่แบบราชสำนักชิงหรือสังคมศักดินา
ชุดของซุน ยัตเซ็น ดัดแปลงจากชุดที่เจ้าหน้าที่องค์การคอมมิวนิสต์สากล หรือ “โคมินเทิร์น” (Comintern-Communist International) สวมใส่
จากหลักฐานภาพถ่ายพบว่า ซุน ยัตเซ็น เริ่มใส่ชุดดังกล่าวตั้งแต่ราว ค.ศ. 1923 ซึ่งเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตที่เขาแสวงหาความราวมมือกับสหภาพโซเวียต เพื่อปราบขุนศึกภาคเหนือ

ต่อมา ผู้นำระดับสูงของพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่างพากันสวมใส่ “ชุดจงซาน” สะท้อนนัยการเมืองว่า ทั้งสองพรรคต่างอ้างตนเป็นผู้สืบทอดปณิธานทางการเมืองของซุน ยัตเซ็น ถึงอย่างนั้น ภาพจำของชุดจงซานกลับอยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่า
นอกจากซุน ยัตเซ็น และเหมา เจ๋อตง ที่สวมใส่ชุดนี้แล้ว ก็ยังมีผู้นำทางการเมืองอีกหลายคนที่มักปรากฏตัวในชุดนี้อยู่เสมอ เช่น โฮจิมินห์ วีรบุรุษแห่งเวียดนาม หรืออีกคนก็คือ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน
เมื่อโลกเปลี่ยนไป ผู้นำจีนรุ่นต่อๆ มา ทั้ง เติ้ง เสี่ยวผิง, หู จิ่นเทา, สี จิ้นผิง ฯลฯ ต่างก็หันมาใส่สูทแบบสากลปรากฏตัวในที่สาธารณะมากขึ้น
แต่ในวาระสำคัญต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เราก็ยังคงเห็นผู้นำจีนสวมใส่ “ชุดประธานเหมา” อยู่นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- คุณูปการและความผิดพลาดของ “เหมาเจ๋อตง” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของจีน
- ภาพสุดท้าย “เหมา เจ๋อตง” ที่ปรากฏต่อสาธารณชนในปี 1976
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สิทธิพล เครือรัฐติกาล. ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : ชวนอ่าน, 2555
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 2 สิงหาคม 2567