“พระสังกัจจายน์” พระอรหันต์ชื่อดังที่คนไทยนิยมกราบไหว้ขอพร เคยมีรูปโฉมงามมาก่อน?

พระสังกัจจายน์ วัดสังข์กระจายวรวิหาร
พระสังกัจจายน์ วัดสังข์กระจายวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร (ภาพ : เพจ fb วัดสังข์กระจายวรวิหาร)

“พระสังกัจจายน์” ถือเป็นพระที่คนไทยหลายคนให้การนับถือ เพราะเชื่อกันว่าท่านจะประทานพรในเรื่อง “โชคลาภ” ให้กับผู้ที่ศรัทธา

ประวัติพระสังกัจจายน์

พระสังกัจจายน์หรือพระมหากัจจายนะเถระ มีชื่อจีนว่า “เกียกเมียงเอี๊ยง” ท่านเป็นพระอรหันต์ไม่ใช่พระโพธิสัตว์ โดยฝ่ายมหายานจัดให้ท่านอยู่ในพระเอตทัคคะมหาสาวกพระมหากัจจายนะเถระสิบองค์ (จับไต้ตี้จื๊อ) ซึ่งพระที่โดดเด่นในนิกายนี้ ได้แก่ “พระมหากัสสปะ” และ “พระอานนท์”

พระสังกัจจายน์แต่เดิมตำรงตำแหน่งปุโรหิตที่แคว้นอวันตี วันหนึ่งท่านได้รับคำสั่งให้ไปเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มาเทศนาชาวเมืองที่แคว้น แต่เมื่อท่านได้พบกับพระพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใส ขอบวช กลายเป็นพระอรหันต์ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ยกย่องให้ท่านเป็นเอตทัคคะทางการอธิบายธรรม

ในอดีตพระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้ายกย่องให้เป็นเอตทัคคะทางการอธิบายธรรมนี้มีรูปโฉมงาม ไม่ได้อ้วนท้วนสมบูรณ์เหมือนที่เราเห็นในปัจจุบัน มีตำนานกล่าวไว้ 2 เรื่องถึงเหตุที่ทำให้ท่านกลายเป็นเช่นนี้ บ้างก็เล่าว่าเป็นเพราะท่านรูปงามจนเกินไป จึงทำให้ผู้ชายอยากมีภรรยางามเช่นท่าน ท่านสลดใจ จึงอธิษฐานให้ท่านอ้วนท้วน

แต่อีกตำนานก็เล่าว่า เทวดาและมวลมนุษย์มักยกย่องท่านว่างามเทียบเท่าพระพุทธเจ้า พระสังกัจจายน์เห็นว่าไม่เหมาะไม่ควร จึงเนรมิตกลายเป็นพระรูปร่างท้วม

ด้านที่มาของชื่อ “สังกัจจายน์” ผศ. ดร. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ในบทความ “พระอ้วนไทย และพระอ้วนไทย” คือใครกัน? ว่า…

“ส่วนที่ว่า เหตุใดพระมหากัจจายนะจึงมีชื่อว่าพระสังกัจจายน์ด้วยนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อเรียกกันภายหลังในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง กล่าวคือในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการขุดพื้นเพื่อฝังรากอุโบสถวัดแห่งหนึ่งที่ฝั่งธนบุรี ปรากฏว่าครั้งนั้นมีการขุดค้นพบปฏิมกรพระมหากัจจายนะกับหอยสังข์ในบริเวณดังกล่าว 

วัดแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าวัดสังข์กระจายตั้งแต่นั้นมา (อ้างตามหนังสือพระสังกัจจายน์ พระอรหันต์ผู้สมบูรณ์ลาภผล) ปฏิมากรพระมหากัจจายนะที่ขุดพบยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดสังข์กระจายฝั่งธนบุรี จนปัจจุบัน

ชื่อ ‘สังกัจจายน์’ จึงน่าจะมาจากชื่อวัด ‘สังข์กระจาย’ โดยทีแรกคงเรียกกันว่า ‘พระวัดสังข์กระจาย’ นานเข้าก็มีการกร่อนคำ และนำมารวมกับชื่อของท่านที่มีคำว่า ‘กัจจายนะ’ ‘พระวัดสังข์กระจาย’ ก็เลยกลายเป็น ‘พระสังกัจจายน์’ ไป นอกจากนี้เท่าที่อ่านงานเขียนต่างๆ ก็จะออกนามท่านว่าพระมหากัจจายนะเสมอ 

ชื่อพระสังกัจจายน์จึงเป็นชื่อในภาษาพูดมากกว่าจะใช้ในภาษาเขียน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ศุภวิทย์ ถาวรบุตร. พระอ้วนไทย และพระอ้วนไทย ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2567