“อาสยุชพิธี” แข่งเรือเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ พิธีที่เลือนหายต้นสมัยรัตนโกสินทร์

กระบวนเรือ พยุหยาตราทางชลมารค อาสยุชพิธี
ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พิธีกรรมทางน้ำที่พระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาต้องเสด็จฯ ประกอบพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร พิมพ์ใน พ.ศ. 2262 (ภาพจาก “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช, 2549)

“อาสยุชพิธี” เป็นพิธีเก่าแก่ที่เกี่ยวพันกับสภาพภูมิประเทศและความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของผู้คนในแถบนี้มานาน เรียกว่าตั้งแต่ “ยุคดึกดำบรรพ์” ก็ว่าได้ แม้จะเป็นหนึ่งในพิธีสำคัญ แต่กลับเลือนหายไปช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สาเหตุเพราะอะไร?

“อาสยุชพิธี” กับความอุดมสมบูรณ์

หนังสือ “ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา” ผลงานของ อาสา คำภา และ ทิพย์พาพร อินคุ้ม ซึ่งเป็นหนังสือเล่มใหม่ในชุด “กษัตราธิราช” ของสำนักพิมพ์มติชน เล่าถึงพิธีนี้ไว้ว่า

แต่เดิมพิธีแข่งเรือเสี่ยงทายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชนชาวบ้าน เมื่อวัฒนธรรมฮินดู-พุทธ เข้ามาผสมผสาน ก็เป็นการเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นพระราชพิธีของราชสำนัก เรียกว่า “อาสยุชพิธี” ซึ่ง “อาสยุช” แปลว่า เดือน 11

การแข่งเรือเสี่ยงทายน่าจะเป็นไปเพื่อคาดคะเนน้ำท่วมหรือน้ำนองที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้คนคลายความวิตกกังวล และให้เกิดความมั่นใจ เพราะการเสี่ยงทายนี้จะนำสู่การทำนายทายทักเรื่องที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนในสังคม

พิธีดังกล่าวมีปรากฏใน “กฎมณเฑียรบาล” ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ พระมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ จะต้องแต่งกายเต็มพระยศ ก่อนเสด็จฯ ลงเรือพระที่นั่งเพื่อแข่งเรือเสี่ยงทาย ความว่า

“เดือน 11 การอาสยุชพิทธี มีหม่งครุ่มซ้ายขวา ระบำหรทึกอินทเภรีดนตรี เช้าธรงพระมหามงกุฎราชาประโภค กลางวันธรงพระสุพรรณมาลา เย็นธรงพระมาลาสุกหร่ำสภกชมภู สมเดจ์พระอรรคมเหสีพระภรรยาธรงพระมาลา นุ่งแพรลายทองธรงเสื้อ พระอรรคชายาธรงพระมาลาราบนุ่งแพรดารากรธรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอธรงศิรเพศมวย ธรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสภักสองบ่า สมรรถไชยเรือต้น สรมุกขเรือสมเดจ์พระอรรคมเหษี สมรรถไชยไกรสรมุกขนั้นเปนเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซ้เข้าเหลือเกลืออิ่มศุกขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชำนะไซ้จะมียุข”

จากข้างต้น “สมรรถไชย” คือเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ส่วน “ไกรสรมุกข์” คือเรือพระที่นั่งของพระอัครมเหสี

หากเรือสมรรถไชยแข่งแพ้เรือไกรสรมุกข์ บ้านเมืองจะมี “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” หมายถึงบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเรือสมรรถไชยแข่งชนะเรือไกรสรมุกข์ บ้านเมือง “จะมียุข” คือบ้านเมืองอดอยากยากแค้น

นอกจากนี้ บรรยากาศพระราชพิธีแข่งเรือเสี่ยงทายน่าจะเต็มไปด้วยความคึกคักสนุกสนาน เพราะมีการละเล่น “หม่งครุ่ม” (โมงครุ่ม) มีการแสดงระบำ ดนตรี ทั้งยังสะท้อนว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญ เห็นได้จากพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ต้องเข้าร่วม

ช่วงเวลาที่จัดแข่งเรือเสี่ยงทาย “คำให้การชาวกรุงเก่า” ระบุว่า จัดตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 รวม 3 วัน แสดงให้เห็นว่า พระราชพิธีนี้กระทำสืบมาถึงช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา จึงยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนถึงขั้นระบุช่วงเวลาได้

จากพิธีเสี่ยงทายสู่ความสนุกสนาน

เมื่อเข้าสมัยกรุงธนบุรีถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีแข่งเรือเสี่ยงทายไม่ได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบเนื่องมาในแง่การเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองอีกต่อไป แต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการแข่งเรือของราษฎรที่เน้นความสนุกสนานและการพนันขันต่อแทน

การแข่งเรือเพื่อความสนุกสนานในช่วงเดือน 11 น่าจะได้รับความนิยมในหมู่เจ้านายและชนชั้นสูงยุคนั้นด้วยเช่นกัน ตามที่ “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์” เล่าถึงเหตุการณ์การแข่งเรือระหว่าง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช “วังหลวง” กับ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท “วังหน้า” ในเดือน 11 พ.ศ. 2339 ว่า

เรือวังหลวงชื่อ “ตองปลิว” และเรือวังหน้าชื่อ “มังกร” แข่งกันเปรียบฝีพาย แต่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงจัดฝีพายสำรับอื่นที่แข็งแรงไว้ เมื่อถึงเวลาแข่งจะทรงให้นำคนสำรับใหม่ลง

ข้าราชการฝ่ายวังหลวงทราบดังนั้น จึงนำความขึ้นกราบทูลรัชกาลที่ 1 เมื่อพระองค์ทรงทราบความ จึงมีพระราชดำรัสว่า เล่นดังนี้จะเล่นด้วยที่ไหนได้ ให้เลิกการแข่งเรือแต่นั้นมา

“อาสยุชพิธี” ที่มีมาแต่ครั้งโบราณ และการแข่งเรือเพื่อความสนุกสนานในหมู่เจ้านายและชนชั้นสูง จึงเลือนหายตั้งแต่นั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อาสา คำภา และทิพย์พาพร อินคุ้ม. ชลารักษ์บพิตร: การจัดการน้ำของกษัตริย์ไทยจากพิธีกรรมสู่การพัฒนา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กรกฎาคม 2567