ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กาพย์เห่เรือ ผลงานเลื่องชื่อของ “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ” หรือเจ้าฟ้ากุ้ง วรรณกรรมสำคัญช่วงปลายอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แม้ได้ชื่อว่า กาพย์ (สำหรับ) เห่เรือ แต่ดูเหมือนจะไม่เคยใช้ “เห่เรือ” เลย
“เห่เรือ” คืออะไร?
เห่เรือคือทำนองการร้อง หรือใช้เสียงประกอบการให้จังหวะฝีพายในการพายเรือ ส่วนสำคัญของการพายเรือพระราชพิธี ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
กาพย์เห่เรือ ของ เจ้าฟ้ากุ้ง มีเนื้อหาสำคัญคือ การสรรเสริญกระบวนเรือพระราชพิธีเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยอยุธยา ที่พรรณนาได้อย่างละเอียด มีความพิสดาร อีกความโดดเด่นคือ การพรรณนาเชิงสังวาส ในบทคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก
เจ้าฟ้ากุ้งแต่งกาพย์เห่เรือโดยอาศัยฉันทลักษณ์ “กาพย์กลอน” เป็นกาพย์ห่อโคลง คือแต่งโคลงสี่สุภาพ แล้วแต่งกาพย์เลียนแบบพรรณนาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นระเบียบวิธีมาแต่โบราณ โดยการประยุกต์ใช้ “กลอนกล่อมเด็ก” ของชาวบ้าน กับกาพย์กลอนของราชสำนัก เรียกว่า “กาพย์เห่กล่อมพระบรรทม”
กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งไม่ได้แต่งเพื่อใช้เห่เรือพระราชพิธีเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค
ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะเราไม่พบหลักฐานว่า กาพย์เห่เรือของพระองค์ถูกใช้เห่เรือพระราชพิธีในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเลย อันที่จริง กระบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคตลอดสมัยอยุธยาก็ไม่พบหลักฐานว่ามีการเห่เรือด้วยซ้ำ
“กาพย์เห่เรือ” มาจากไหน?
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า การเห่เรือ มีต้นแบบจากอินเดีย โดยเป็นมนตร์ในตำราไสยศาสตร์เพื่อบูชาพระราม บทเห่เรือในกระบวนเรือหลวงจึงเป็นคำสวดแบบพราหมณ์ แต่ไทยเราเห่เพื่อใช้บอกจังหวะฝีพายและผ่อนแรงการพายด้วยการทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน
อย่างไรก็ตาม นิยามดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง คือสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพราะเราไม่พบคำนี้ในต้นฉบับตัวเขียนบนสมุดข่อยของกาพย์เห่เรือที่คัดลอกต่อ ๆ กันมาแต่อย่างใด
หากบอกว่าที่ไม่พบข้อมูลการเห่เรือสมัยอยุธยาเพราะหลักฐานถูกทำลายไปแล้ว แต่สมัยกรุงธนบุรีก็ไม่มีเห่เรือเช่นกัน แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะเสด็จทางชลมารคอยู่บ่อยครั้ง ก็ยังไม่พบหลักฐานใดระบุว่ามีการเห่เรือ
เช่นเดียวกับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสถาปนายังไม่พบบันทึกเกี่ยวกับการเห่เรือ น่าสังเกตว่า แม้แต่นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ วรรณกรรมสำคัญที่ประพันธ์ขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งพรรณนาถึงการเสด็จทางชลมารคอย่างละเอียด ตั้งแต่การร้องเล่นสักวา ราษฎรเล่นเพลงเรือ กระนั้นก็ไม่มีการกล่าวถึงการเห่เรือ
นิราศเดือน กวีนิพนธ์เชิงนิราศของ หมื่นพรหมสมพัตสร (เสมียนมี) กวีสมัยรัชกาลที่ 3 พรรณาถึงประเพณี 12 เดือน ไม่ได้เอ่ยถึงการเห่เรือเช่นกัน
แล้วการเห่เรือเริ่มเมื่อใด?
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการเห่เรือคือเริ่มมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) คือมี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ก่อนจะเกิด “เห่เรือละคร” ต้นแบบเห่เรือพระราชพิธี ที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างสรรค์ขึ้นจากประเพณีชาวบ้าน แล้วใช้เล่นประกอบละครในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 การเห่เรือจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายสืบมาจนปัจจุบัน
เมื่ออ้างอิงตามนี้ “กาพย์เห่เรือ” ของเจ้าฟ้ากุ้ง จึงเป็นบทเห่เรือที่ไม่เคยใช้ “เห่เรือ” อย่างน้อยก็ตั้งแต่ช่วงชีวิตของผู้ประพันธ์ถึงสมัยรัชกาลที่ 4
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของคติสัญลักษณ์ “ครุฑ” และ “นาค” ในโขนเรือพระราชพิธี
- ความผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำ วัฒนธรรมไทยในวิถีชลมารค ชีวิต เรือ และการเห่
- “นันโทปนันทสูตรคำหลวง” ผลงานอันซีน “เจ้าฟ้ากุ้ง” ที่ยูเนสโกยกเป็น “ความทรงจำแห่งโลก”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2566). อำนาจของภาษาและวรรณกรรมไทย. กรุงเทพฯ : นาตาแฮก.
หอสมุดวชิรญาณ. (2560). ประชุมกาพย์เห่เรือ. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2567. (ออนไลน์)
กรมศิลปากร. เรือพระราชพิธี : กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2567. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มิถุนายน 2567