เผยแพร่ |
---|
ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย โดยเฉพาะความผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำ ซึ่งอาจกล่าวว่าน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่หล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมไทยก็ว่าได้
16 ตุลาคม 2562 ในงานเสวนาเรื่อง “ท่องนาวาหน้าน้ำนอง…ส่องวิถีชลมารค” ที่ TPBS โดย รศ.ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเข
วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันอยู่กับสายน้ำมาเนิ่นนาน อันสะท้อนให้เห็นจากวัฒนธรรมหรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือชาววัง โดยทั่วไปแล้วเรามักได้ยินคำกล่าวว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็ลี่ไหลลง” เป็นคำกล่าวที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติหรือระหว่างคนกับสายน้ำได้เป็นอย่างดี
คุณวัฒนะอธิบายว่า คำกล่าวข้างต้นนั้นเป็นบทร้องเล่นของชาวบ้านซึ่งสะท้อนวิถีของ “ชาวน้ำ” ซึ่งเชื่อมโยงกับธรรมชาติหรือวัฏจักรที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติประจำอยู่ทุกปี ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (น้ำลด-น้ำหลาก) นี้ยังเป็นสิ่งกำหนดช่วงเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวข้องกับสังคมเกษตรกรรมของคนไทยมาอย่างยาวนาน
ในอดีต ผู้คนจะเรียนรู้ที่จะอาศัยอยู่กับน้ำท่วมอย่างมีความสุข เข้าใจในวิถีแห่งธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยการสร้างบ้านแบบเรือนแพหรือสร้างเรือยกพื้นสูง ซึ่งเป็นการปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ มิใช่การปรับธรรมชาติเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของมนุษย์ดังที่เป็นอย่างปัจจุบัน เช่น เมื่อรู้ว่าบ้านของตนอยู่ที่ลุ่มต่ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะสร้างคันดินหรือทำทุกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วม
คุณวัฒนะมีความคิดเห็นว่า ความคิดของคนไทยโบราณไม่ฝืนธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ฝืนธรรมชาติ และพยายามหาวิธีต้านสิ่งเหล่านี้ คุณวัฒนะได้เปรียบเทียบกับวิถีของคนปัจจุบันว่าได้กลายเป็น “ชาวบก” ที่ไม่ได้ยึดโยงกับวัฒนธรรมน้ำท่วมเหมือนในอดีต เพราะอิทธิพลและค่านิยมของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของ “ชาวหิน” ที่ไม่ได้ผูกพันกับสายน้ำเหมือนอย่างคนไทย “คนไทยกับสายน้ำมันเป็นสิ่งซึ่งคู่กันมาโดยตลอด ไม่เคยมองว่าน้ำเป็นศัตรู…” คุณวัฒนะกล่าว
รศ.ดร. ศานติ กล่าวว่าในประเทศไทยแต่ละภูมิภาคก็มีวิถีชีวิตกับน้ำแตกต่างกันไป สำหรับในวัฒนธรรมเขมร หากนำมาเปรียบเทียบก็จะเห็นมิติทางวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมไทย ในวัฒนธรรมเขมรพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือแสดงให้เห็นถึงวิธีชีวิตของชาวเขมรกับน้ำ ดังปรากฏภาพสลักในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ที่ปราสาทหินบายน มีภาพสลักวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับน้ำ มีภาพสลักการสู้รบของกองทัพเรือเขมรโบราณกับจาม โดยเฉพาะปรากฏโขนเรือรูปสัตว์ เช่น ครุฑ นาค เหรา ซึ่งมีความใกล้เคียงกับโขนเรือรูปสัตว์ในไทย
พระราชพิธีสิบสองเดือนของเขมรก็มีความคล้ายคลึงกับของไทย ในอดีตจะมีประเพณีแต่ละเดือนจะล้อไปกับแต่ละช่วงแต่ละฤดู เช่น เดือนหกมีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เดือนเก้ามีประเพณีคล้ายคลึงกับการเล่นทุ่ง คือการออกไปเที่ยวตามบึง เก็บดอกบัว เก็บวัตถุดิบมาทำอาหารถวายพระสงฆ์ เดือนสิบต่อเดือนสิบเอ็ดซึ่งเป็นช่วงออกพรรษาก็จะมีประเพณีแข่งเรือและประเพณีทอดกฐิน
แต่เดิมเป็นพระราชพิธีแข่งเรือจะกระทำขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นการแข่งเรือพระที่นั่ง แต่ในยุคหลัง ๆ ได้เผยแพร่และปรับเปลี่ยนมาสู่การแข่งเรือโดยชาวบ้านทั่วไป แต่กระนั้นพระมหากษัตริย์กัมพูชาก็เสด็จมาทอดพระเนตรการแข่งเรืออยู่ และยังถือเป็นพระราชพิธีอยู่
รูปแบบหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนกับสายน้ำคือ “เรือ” คุณวัฒนะอ้างถึงข้อสันนิษฐานของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศว่า เรือเป็นการเชื่อมโยงถึงแนวคิดการส่งวิญญาณ มนุษย์มีความเชื่อเกี่ยวกับนาค เป็นลูกหลานนาค หากตายไปแล้วจึงต้องส่งวิญญาณไปยังบาดาลอันเป็นภพภูมิที่เกิดมา จึงนำมาสู่ความเชื่อในการทำเรือเป็นรูปนาคหรืองู คุณวัฒนะตั้งข้อสังเกตว่า คนโบราณคิดเรื่องนี้ขึ้นมา พอมีความคิดเรื่องผีและนาคขึ้น จึงทำเรือมาใช้ในพิธีกรรมนี้ มิใช่พิธีกรรมนี้ก่อให้เกิดการสร้างเรือ คือน่าจะมีการทำเรือขึ้นมาก่อนแล้วค่อยนำเรือมาทำเป็นโลง มิใช่การทำโลงแล้วแปลงเป็นเรือ
สำหรับเรือในยุคต่อมา สามารถแบ่งออกเป็นเรือหลวงกับเรือชาวบ้าน โดยเรือหลวงก็จะมีเรือรบและเรือที่ใช้ในพระราชพิธี นาวาเอก ณัฐวัฏ อธิบายว่า เรือสำหรับรบอาจมีการตกแต่งลวดลายไม่มาก แต่สำหรับเรือในพระราชพิธีจะมีการตกแต่งลวดลายอย่างวิจิตร สำหรับการรบทางเรือนั้นจะแบ่งเป็นสองแบบคือ การรบทางทะเล และรบทางแม่น้ำลำคลอง ซึ่งการรบด้วยเรือแบบโบราณตามลำแม่น้ำก็แทบเลือนหายไปในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เรือรบโบราณก็จะกลายเป็นเรือที่ใช้ในพระราชพิธีเพียงอย่างเดียว
นาวาเอก ณัฐวัฏ อธิบายว่า โขนเรือรูปสัตว์สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมเขมร โขนเรือรูปสัตว์นั้นทำขึ้นเพื่อบ่งบอกหรือแสดงสัญลักษณ์ของแต่ละกรมแต่ละกองเพื่อง่ายต่อการบังคับบัญชา ขณะที่ รศ.ดร. ศานติ กล่าวเสริมถึงที่มาของโขนเรือรูปสัตว์ว่า มีที่มาในสมัยพระมหาจักรพรรดิ จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่าโปรดเกล้าฯ ให้แปลงเรือแซเป็นเรือชัยกับเรือศีรษะสัตว์ครอบช่องปืนใหญ่
สำหรับเรือพระที่นั่งหรือเรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่ทำเป็นรูปสัตว์นั้น ได้สะท้อนคติความเป็นเทวราชาของพระมหากษัตริย์ตามคติฮินดู เช่น เรือสุพรรณหงส์ ซึ่งหงส์เป็นพาหนะของพระพรหม, เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งเป็นรูปครุฑ อันเป็นพาหนะของพระนารายณ์ และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งอนันตนาคราชเป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่เหนือเกษียรสมุทร ดังนั้น คติการทำโขนเรือรูปสัตว์สำหรับเรือในกระบวน เช่น เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ ซึ่งเป็นทหารของพระรามจากวรรณกรรมรามเกียรติ์ ก็สะท้อนคติว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นนารายณ์อวตารจึงต้องมีทหารเหล่านี้อารักขา
รศ.ดร. ศานติ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า นอกจากคติความเชื่อดังกล่าวแล้ว โขนเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ ยังเป็นสัญลักษณ์ถึงตำแหน่งขุนนางด้วย เช่น เรือราชสีห์ใหญ่สำหรับสมุหนายก เรือราชสีห์น้อยสำหรับพระยามหาอำมาตย์ เรือคชสีห์สำหรับสมุหพระกลาโหม เรือคชสีห์น้อยของพระยานรินทรราชเสนี
และเมื่อมีกระบวนเรือพระราชพิธีหรือพยุหยาตราทางชลมารค สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการเห่เรือ เรื่องนี้คุณวัฒนะอธิบายว่า ในอดีต กระบวนเรือแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ กระบวนเรือพระราชพิธี และกระบวนเรือพยุหยาตรา ซึ่งมีการถกเถียงกันว่า พยุหยาตรา นั้นควรมีเห่เรือหรือไม่ เพราะแต่เดิมพยุหยาตรานั้นหมายถึงกระบวนเรือไปรบหรือซ้อมรบ อาจมีการเปล่งเสียงเพื่อเรียกขวัญกำลังใจมากกว่าการเห่เรืออย่างไพเราะเสนาะหู แต่ในปัจจุบันนั้น กระบวนเรือพระราชพิธีเรียกรวมกับพยุหยาตราไปแล้วจึงต้องมีการเห่
สำหรับการเห่นั้นมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือเห่แบบกองทัพเรือและเห่แบบกรมศิลปากร ซึ่งมีจุดแตกต่างกันตรงการเน้นคำ เน้นเสียง เพื่อสร้างอรรถรส ในแบบของกรมศิลปากรจะเป็นการเห่เพื่อการละคร จะอ่อนช้อยมากกว่า ขณะที่การเห่แบบกองทัพเรือจะเป็นการเห่เพื่อให้จังหวะ สร้างความฮึกเหิม จะต้องกระชับ ชัดถ้อยชัดคำ
นาวาเอก ณัฐวัฏ เสริมว่า การเห่เรือแบบกองทัพเรือจะมีความหนักแน่น เข้มแข็ง ขึงขัง เพื่อให้จังหวะฝีพาย และที่แตกต่างจากการเห่แบบกรมศิลปากรเนื่องจากวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้นั้นแตกต่างกัน นาวาเอก ณัฐวัฏ อธิบายว่า กาพย์เห่เรือประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพและกาพย์ยานี 11 โดยการเห่เรือมี 4 ทำนองคือ เกริ่นโคลง ช้าละวะเห่ มูลเห่ และสวะเห่ นอกจากนี้ยังมีเต่าเห่ พม่าเห่ เวสสุกรรมเห่ ซึ่งเป็นการเห่เรือเล่น ทำนองเป็นเพลงไทยเดิมผสมกับลิเกเพื่อสร้างความสนุกสนาน
ส่วนเนื้อหาของกาพย์เห่เรือนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้ในงานใด เหตุการณ์อะไร หรือพระราชพิธีใด เช่น งานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีบทความงดงาม บทเล่าพัฒนาการ บทสรรเสริญพระบารมี งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จะมีบทประวัติของพระพุทธเจ้า บทพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ซึ่งทุกงานจะต้องแต่งบทเห่ขึ้นใหม่ หรืออาจมีการนำของเก่ามาปรับแต่งเปลี่ยนแปลงก็ได้
รศ.ดร. ศานติ อธิบายว่า กาพย์ห่เรือที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบคือกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ก็เป็นกาพย์ส่วนพระองค์ มิได้ใช้ในการพระราชพิธี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือ แต่ก็เป็นกาพย์ส่วนพระองค์เช่นกัน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงจะเริ่มมีการเห่ในกระบวนเรือพระราชพิธี ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงได้มีการแต่งกาพย์เห่เรือขึ้นมาโดยเฉพาะตามแต่โอกาศ
นาวาเอก ณัฐวัฏ อธิบายว่า การเห่เรือนั้นบางครั้งเห่ไปแล้วหลายบท กระบวนเรือพึ่งไปถึงครึ่งทาง บางครั้งเห่ไปเพียงไม่กี่บทก็ถึงที่หมายแล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะ ระดับน้ำ กระแสน้ำ และกระแสลม คุณวัฒนะกล่าวเสริมว่า บทเห่เรือที่ให้คนเห่เรือแต่งกับกวีแต่งนั้นแตกต่างกัน เพราะกวีแต่งจะใช้คำที่สละสลวย ใช้คำเกินบ้าง คำขาดบ้าง หรือมีการเล่นคำเยอะ หากให้คนเห่เรือแต่งเองจะสอดคล้องกับการเห่เรือจริง ๆ นาวาเอก ณัฐวัฏ ระบุว่า มักจะขอให้ อ.ทองย้อย ผู้ประพันธ์บทเห่เรือ ตัดคำบางคำออกเพื่อให้ร้องง่ายขึ้น แต่ยังคงความหมายอยู่ และได้อธิบายว่า การกระชากเสียงเพื่อให้ฝีพายกระตุกน้ำนั้นทำได้ยาก
ความผูกพันระหว่างคนไทยกับสายน้ำ ที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรมและประเพณีไม่ว่าจะในระดับของชาวบ้านหรือชาววัง ล้วนแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติอย่างแยกไม่ได้ ในพระราชพิธีเสด็จเลียบพระนครด้วยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่จะถึงอีกไม่นานนี้ จึงเป็นพระราชพิธีที่สะท้อนวัฒนธรรมและประเพณีไทยที่ผูกพันกับสายน้ำได้อย่างยิ่งใหญ่และงดงามมากที่สุด