ความเชื่อเรื่อง “สีมงคล” ประจำวัน ในงานประพันธ์ของ “สุนทรภู่”

หุ่นขี้ผึ้ง สุนทรภู่ สีมงคล ใน สวัสดิรักษา
หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม ประกอบกับฉากหลัง เป็นภาพประกอบเนื้อหา

ความเชื่อเรื่อง “สีมงคล” ประจำวัน หรือการใส่เสื้อผ้าตาม “สีประจำวัน” ของคนไทย เป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณ ด้วยเชื่อว่า สีของเสื้อผ้าอาภรณ์มีพลังในการสร้างสิริมงคลให้กับชีวิตมนุษย์ตามวันที่สวมใส่ ร่องรอยสำคัญของความเชื่อดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทประพันธ์ สวัสดิรักษา ของ สุนทรภู่

สวัสดิรักษา หรือสวัสดิรักษาคำกลอน เป็นกลอนสุภาษิตที่ สุนทรภู่ ใช้ถวายการสอน สมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 2 ผู้เป็นศิษย์ศึกษาอักขรสมัยในสำนักสุนทรภู่ สันนิษฐานว่า แต่งเมื่อปลายรัชกาลที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2365-2367

Advertisement

สุนทรภู่ได้กล่าวถึง “สี” ของ “ภูษาผ้าทรง” ที่ควรทรงในโอกาสไปรบทัพจับศึก หรือสีของชุดออกรบ ความว่า [เน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

“อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ  ให้ครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี

วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี  เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล

เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว  จะยืนยาวชันษาสถาผล

อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน  เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี

 

เครื่องวันพุธสุดสีด้วยสีแสด  กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี

วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี  วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม

วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ  แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม

หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม  ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัยฯ”

จึงเชื่อได้ว่า สมัยนั้น (รัชกาลที่ 2) มีธรรมเนียมของสีเสื้อผ้าประจำวันแล้ว หรือ ความเชื่อเรื่อง “สีมงคล” อย่างน้อย ๆ ก็ในหมู่ชนชั้นสูง เพราะชาวบ้านธรรมดาอาจไม่มีตัวเลือกเรื่องเสื้อผ้าสีต่าง ๆ กันนัก

ส่วนการระบุสีประจำวันในสวัสดิรักษา สุนทรภู่คงไม่ได้ทึกทักกำหนดขึ้นมาเองแน่ เพราะสีเหล่านี้ตรงกับความเชื่อเรื่อง “สีประจำกาย” ของเทพนพเคราะห์ ได้แก่ พระอาทิตย์ กายสีแดง, พระจันทร์ กายสีนวล, พระอังคาร กายสีม่วงคราม, พระพุธ กายสีเขียว/เลื่อมแสด, พระพฤหัส กายสีเลื่อมเขียวเหลือง, พระศุกร์ กายสีเมฆหมอก, พระเสาร์ กายสีดำ

สีประจำกายเทพนพเคราะห์ ยังเป็นจุดตั้งต้นของสีประจำวันสมัยใหม่ที่เราคุ้นเคยกัน คือ วันอาทิตย์สีแดง วันจันทร์สีเหลือง วันอังคารสีชมพู วันพุธสีเขียว วันพฤหัสบดีสีแสด วันศุกร์สีฟ้า วันเสาร์สีม่วง จากการปรับโทนสีให้ชัดเจนและเป็นสากลยิ่งขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

ธรรมเนียมดังกล่าวเป็นที่แพร่หลายในราชสำนักเป็นลำดับแรก ภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนสุภาพชนแต่งกายด้วยสีตามวัน

เมื่อสมัยหลังเกิดโรงเรียน ประชาชนเข้าถึงการศึกษา ก็มีการสอนเรื่องสีประจำวันและให้นักเรียนท่องจำกันในโรงเรียน กลายเป็นจุดร่วมทางวัฒนธรรมและวิถีปฏิบัติของคนไทยจำนวนไม่น้อยเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พระสุนทรโวหาร (ภู่). (2510). สวัสดิรักษาคำกลอน เพลงยาวถวายโอวาท และสุภาษิตสอนสตรี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางบุญสุทธิ์ ณ นคร. กรุงเทพฯ : ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. (ออนไลน์)

สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สีประจำวัน. วันที่ 29 กันยายน 2561. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2567