ธรรมเนียมแต่งสวยก่อนบวช

(ซ้าย) ชุดแต่งกายนาคเณร (บวชลูกแก้ว) ในงานปอยส่างลองของชาวไตชุมชนวัดกู่เต้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20-23 มีนาคม 2551,(ขวา) ชุดแต่งกายนาคมอญบ้านไผ่พระ ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราว พ.ศ. 2550

ประเทศไทยไม่เพียงแต่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ที่มีมากถึง 54 กลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น และเมื่อพิจารณาในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็พบความหลากหลายระหว่างกันอีกด้วย ไม่เว้นแม้แต่กรณีของมอญ ที่นอกจากจะมีอยู่หลายประเทศทั่วโลก ในเมืองไทยก็มีชุมชนมอญอยู่หลายสิบจังหวัดทั่วประเทศ จากวัฒนธรรมดั้งเดิมและที่เพิ่มเติมเข้ามาภายหลังอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ธรรมชาติของวัฒนธรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ก่อให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เลื่อนไหล โดยเฉพาะการบวชนาคของมอญที่แม้จะมีเป้าหมายเพื่อการเข้าถึงพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน แต่ก็ต่างในความหมายและรายละเอียด นับเป็นความสนุกในการยอมรับการมีอยู่และท้าทายการเรียนรู้ในความต่าง

ชุดแต่งกายนาคเณรของชาวมอญบ้านเกาะซั่ว แขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ มีนาคม ๒๕๔๘

คนไทยอ้างตำนานบวชนาคว่ามีในพุทธประวัติและเล่าสืบต่อกันมาว่า ด้วยมีนาคศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงแปลงกายเป็นมนุษย์มาบวช แต่ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าล่วงรู้เข้าจึงสั่งห้าม แต่เพื่อให้ระลึกถึงศรัทธาอันแรงกล้าของนาคตนนั้น จึงบัญญัติให้ผู้ที่ต้องการจะบวชพระทั้งหลายต้องผ่านพิธีการ “บวชนาค” เสียก่อน เพื่อฝากชื่อนาคตนนั้นได้มีชื่อปรากฏอยู่ในพุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ตาม พิธี “บวชนาค” มีเฉพาะในแถบสุวรรณภูมิ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าในดินแดนพุทธภูมิ เชื่อว่านัยสำคัญก็เพื่อเตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านจากผีสู่พุทธ ก่อนเข้าสู่พิธีอุปสมบทตามแบบแผนที่รับมาใหม่ ซึ่งต่างไปจากวิถีดั้งเดิม และเป็นที่น่าสังเกตว่า แบบแผนของไทยเน้นไปที่การอุปสมบทหรือบวชพระ ขณะที่ชาวอุษาคเนย์ส่วนใหญ่เน้นไปที่การบรรพชาหรือบวชเณร

เช่นเดียวกับคนมอญในเมืองมอญ ประเทศเมียนมาร์ ยังคงยึดถือคติดังกล่าวมาจนปัจจุบัน นิยมจัดพิธีบวชเณรอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยถือว่า การบวชเณรนั้นจะได้กุศลแรง เป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาแต่วัยเยาว์ ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเต็มเม็ดเต็มหน่วย และมีโอกาสที่จะเกิดปีติเลื่อมใสอุปสมบทต่อเนื่องเป็นพระภิกษุ ดังที่ปรากฏอยู่คัมภีร์พิธีรำผีมอญที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งมีการจำลองการบวชเณรและวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายไว้ในพิธีดังกล่าว แต่ในปัจจุบัน คนมอญในเมืองไทยได้รับเอาวัฒนธรรมไทยเข้าไว้จึงนิยมเน้นไปที่การบวชพระเหมือนอย่างคนไทย ส่วนคนมอญในเมืองมอญ ประเทศเมียนมาร์ ยังคงเน้นไปที่การบวชเณร และเมื่อถึงเวลาบวชพระก็จะจัดพิธีเพียงเรียบง่ายอย่างที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ

ชุดแต่งกายนาคมอญบ้านไผ่พระ ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราว พ.ศ. 2550

แบบแผนการบวชของมอญในอดีตโดยรวม ผู้ที่ต้องการบวชจะต้องอยู่วัดท่องบ่นสวดมนต์ให้ขึ้นใจ ระหว่างนั้นก็รับใช้พระสงฆ์ ปรับตัวให้เข้ากับชาววัดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อถึงกำหนดงาน ตอนเช้าวันสุกดิบ พ่อแม่ญาติพี่น้องจะแห่แหนกันไปรับว่าที่นาคมาจากวัด ถึงบ้านก็ช่วยกันอาบน้ำ ลงขมิ้น ขัดสีฉวีวรรณ แต่งตัวอย่างสวยงาม ถือเป็นการ “ปะปะยัง” หรือ “บวชนาค” จากนั้นตั้งขบวนนำนาคไปไหว้ลาบอกกล่าว “ตะละทาน” หรือเทพดาที่ดูแลวัดวาอาราม และ “ปาโน่ก” ศาลพ่อปู่ประจำหมู่บ้าน และญาติผู้ใหญ่ทั่วทั้งหมู่บ้าน ก่อนจะเข้าสู่พิธี “บะอะยัง” หรือทำขวัญนาค ในตอนค่ำ ซึ่งการทำขวัญนาคแบบมอญ ต่างจากการทำขวัญนาคแบบไทยตรงที่ใช้หมอขวัญทำพิธีพร้อมขับบทกลอนสอนนาคภาษามอญ ไม่มีบายศรี และหมอทำขวัญก็ไม่ร้องแหล่ประกอบดนตรีอย่างของไทยในปัจจุบัน

จุดเด่นของการบวชแบบมอญอยู่ที่การแต่งกายนาคที่ออกจะแปลกตาสำหรับคนไทยภาคกลาง คนที่ไม่เคยเห็นมักคิดว่า เหตุใดจึงแต่งตัวเหมือนผู้หญิง เพื่อนฝูงที่เคยไปงานบวชผู้เขียนเมื่อหลายปีก่อนยังชมกันซึ่งหน้าว่า ไม่เคยล่วงรู้มาก่อนเลยว่า ผู้เขียนแต่งหญิงได้สวยงามขนาดนี้ แต่หากเป็นคนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมเขมร มอญ พม่า ลาว ล้านนา หรือไทใหญ่ ก็จะชินตากับการบวชลูกแก้ว หรือปอยส่างลอง (ประเพณีบวชเณรของไทใหญ่) ที่มีการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงาม ดูอลังการ ราวเจ้าชายหรือเทพมาจุติก็ปานนั้น

พิธี “บะอะยัง” หรือพิธีทำขวัญนาคมอญ (ตกเบ็ด) นาคโสภณ บรรจุน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2558

ตั้งแต่เช้าวันสุกดิบ นาคจะไม่มีเวลาได้คิดตัดสินใจอะไรมากมายนัก ญาติมิตร โดยเฉพาะที่เป็นฝ่ายหญิง จะเข้ากลุ้มรุมกุมตัวนำพานาคเข้าสู่พิธีกรรมทีละขั้นทีละตอน ครอบครัวที่พอมีฐานะก็ว่าจ้างดนตรีปี่พาทย์ กลองยาว หรือแตรวงมาประโคมและนำขบวนตั้งแต่ไปรับว่าที่นาคออกมาจากวัด ให้ญาติโยมได้รำฟ้อนฉลองศรัทธา เมื่อว่าที่นาคมาถึงบ้านก็ถูกจับนั่งกลางลานบ้าน อาบน้ำ คนล้อมหน้าล้อมหลังมืดฟ้ามัวดิน นาคนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียวแต่ไม่มีเวลากระดาก ญาติมิตรเข้ามาแย่งกันอาบน้ำ ถูตัว ฟอกสบู่ ลงขมิ้นจนผิวเหลือง เพื่อให้รับกับสีไตรจีวรที่ห่มคลุมในวันรุ่งขึ้น โดยยังไม่ต้องปลงผม จากนั้นก็ช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่องให้เป็นนาค เรียบร้อยแล้วจึงแห่แหนกันไปลาศาลเจ้าที่ประจำวัด ศาลพ่อปู่ประจำหมู่บ้าน และขอขมาญาติผู้ใหญ่จนทั่วหมู่บ้าน ตกเย็นก็จะเป็นพิธี “บะอะยัง” หรือทำขวัญนาค

เมื่อถึงเวลา เพื่อนฝูงญาติผู้ใหญ่จะอุ้มแหนนาคมาสู่ปะรำพิธี ให้นาคนั่งหมอบพับเพียบต่อหน้า “อาจาบะ” หรือหมอทำขวัญ ห้อมล้อมด้วยพ่อแม่พี่น้องและผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหมู่บ้าน ของใช้ในพิธีประกอบด้วย ถาดเครื่องบูชา 3 ถาด (หมอตำแย พ่อแม่ ครูบาอาจารย์) ภายในถาดประกอบด้วย มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า ขันน้ำมนต์ น้ำฟัก น้ำแฟง ขนมแป้งปั้นรูปเครื่องประดับ เช่น แหวน กำไลมือ กำไลเท้า สายสร้อย หวี ต่างหู ที่ขาดไม่ได้คือน้ำส้มป่อย สำหรับประกอบการปลงผม เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์มีแต่ความร่มเย็น

บททำขวัญนาคเริ่มด้วยการกล่าวอัญเชิญเทพดา หมอทำขวัญจะสวดบทชุมนุมเทวดา เชิญเทพเจ้าทั้งหลาย นาค ครุฑ ภูต ผี ยักษ์ และผู้มีอำนาจทั่วจักรวาล ให้มาปกป้องดูแลนาคที่จะบวช และขอพรว่าเมื่อบวชเป็นพระแล้วก็อย่ามีโรคภัยเบียดเบียน เจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาตลอดกาลนาน (แต่หากบ้านที่มีลูกชายน้อย และพระลูกชายเกิดอยากจะบวชนานขึ้นมาจริงๆ พ่อแม่ก็ต้องแสร้งเป็นกระแอมกระไอตอนที่พระลูกชายมารับบิณฑบาตหน้าบ้านตอนเช้า บ่นว่าเหนื่อย ว่าเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรงจะทำงาน อยากมีหลานไว้แก้เหงา ครั้นจะบอกให้สึกออกมาตรงๆ ก็เกรงจะบาป)

ชุดแต่งกายนาคมอญในวันลาพระอุปัชฌาย์ ครูอาจารย์ และพ่อปู่ประจำหมู่บ้าน ชุมชนวัดใหญ่นครชุมน์ ตำบลนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี (ภาพโดย www.เที่ยวราชบุรี.com)

จากนั้นจะกล่าวถึงตำนานเรื่องพระเจ้าสามันตะผู้เป็นใหญ่ในชมพูทวีป มีพระราชโอรส ๔ พระองค์ ปกครองทวีปทั้งสี่ พระอินทร์ พระพรหมทั้งหลาย เทวดา วิชาธร ยักษ์ โยคี ต่างมาอ่อนน้อม ท้าวมหาพรหม พระอินทร์ทำขวัญมอบให้เชื้อสายรามัญ (มอญ) สืบต่อมาถึงปัจจุบัน จากนั้นจะเริ่มกล่าวบททำขวัญซึ่งมีอยู่ 10 บท ว่าด้วยการขอขมาต่อพ่อแม่ เทวดาต่างๆ และสรรเสริญการบวชเพื่อศึกษาธรรมให้สำเร็จ รวมถึงคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมพิธีก็ขอให้เข้าใจในพระธรรมด้วยเช่นกัน ขอให้นาคไถ่ถามหาความรู้จากอาจารย์ ศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน รักษาศีลให้มั่น เจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนาให้ชื่อปรากฏไปไกล

หลังจากจบบททำขวัญแต่ละบทจะมีการ “ทอดแหวน” ที่คนทั่วไปเห็นว่า ตกเบ็ด โดยหมอทำขวัญจะนำแหวนที่ผูกด้วยสายสิญจน์ไว้ตรงปลายไม้ที่ยาวสัก 2 ศอก จุ่มลงในขันน้ำมนต์ แล้วนำแหวนนั้นมาวางลงบนฝ่ามือนาค เป็นความหมายว่า เมื่อปลงใจออกบวชจะต้องสละสมบัติทั้งหมดออกจากกาย

พิธีที่จะต่างออกไปอีกอย่างก็เมื่อถึงตอนเข้าโบสถ์ ที่จะขานนาคเป็นภาษามอญ เมื่อก่อนคนมอญ คนไทย คนจีน จึงแยกวัดกันบวชเพราะขานนาคข้ามภาษาไม่ได้ นอกจากจะไปเป็นเขยบ้านมอญและบวชเอาเมื่อแก่ พ่อตาแม่ยายจับบวชก็ต้องหัดขานนาคมอญ ส่วนในขณะทำพิธีภายในอุโบสถจะเข้าได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงได้แต่ส่งนาคเข้าเข้าประตู แล้วนั่งรออยู่หน้าโบสถ์ ด้วยสตรีเป็นศัตรูของเพศพรหมจรรย์ พุทธศาสนาจึงแบ่งวัดออกเป็นเขตพุทธาวาสที่คนทั่วไปเข้าได้ เช่น วิหาร ศาลาการเปรียญ ส่วนเขตสังฆาวาสนั้นห้ามผู้หญิงเข้า แม้แต่ผู้ชายถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเข้า เช่น กุฏิสงฆ์ และอุโบสถ การที่มองว่าสตรีเป็นศัตรูของเพศพรหมจรรย์นั้น น่าจะเป็นด้วยเพศชายเองที่รู้ตัวว่าตนนั้นมีจิตอ่อนก็ได้ หากเห็นอะไรวอมแวม จิตใจวอกแวก จะร้อนผ้าเหลืองสึกหาลาเพศออกมาเสียเท่านั้น

คนมอญโดยเฉพาะผู้หญิงจะเรียกงานบวชพระหรือบวชเณรว่า “ปะล็องปะยัง” หรือ “ส่งนาค (เข้าโบสถ์)” ด้วยผู้หญิงทำได้เพียงเท่านั้น ไม่อาจก้าวล่วงพ้นธรณีประตูโบสถ์ร่วมพิธีอุปสมบทในอุโบสถอย่างผู้ชายได้ เข้าใกล้พิธีได้มากที่สุดเพียงหน้าประตูอุโบสถเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ญาติฝ่ายหญิงจะได้จับต้องเนื้อตัวนาคซึ่งเป็นผู้ชายก่อนอุปสมบทเป็นพระ เป็นการร่วมบุญตามประสาที่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา ในอดีตวัดมอญหลายแห่งจะมีการเจาะรูขนาดเล็กไว้ที่ผนังด้านหน้าอุโบสถ สำหรับให้ผู้หญิงได้จับสายสิญจน์และกรวดน้ำระหว่างทำพิธีอุปสมบท

สายตาคนทั่วไปมองเห็นความแตกต่างของการบวชนาคมอญที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็น่าจะอยู่ที่การแต่งสวยก่อนบวช เท่าที่เห็นแต่ไหนแต่ไรมา จนบางคนเข้าใจผิดและเกิดคำถามว่า เหตุใดนาคมอญจึงแต่งหญิง? แต่แท้ที่จริงแล้วการแต่งกายนาคในลักษณะดังกล่าวมีรูปแบบและคติในการแต่งที่แตกต่างกันไปในชุมชนมอญแต่ละแห่ง

ชุมชนมอญรัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์ ในอดีต นาคมอญในเมืองมอญ ประเทศเมียนมาร์ นาคจะแต่งกายคล้ายเจ้าชาย นุ่งผ้าลอยชาย หากเป็นนาคเณรจะสวมผ้าแพรลักษณะคล้ายอังสะเบี่ยงไหล่ขวา ส่วนนาคพระจะสวมเบี่ยงทั้งสองไหล่ (คล้ายสังวาล) บนศีรษะสวมชฎา ประดับดอกไม้ สวมต่างหู กำไลมือ กำไลเท้า สังวาล สายสร้อย และแต่งหน้าทาปากอย่างสวยงาม แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีการลดรายละเอียดลงไป นาคเณรนิยมนุ่งโสร่งแดงแบบมอญ สวมเสื้อเชิ้ต ทับด้วยผ้าแพรลักษณะคล้ายอังสะ สวมชฎาประดับดอกไม้ ส่วนนาคพระจะไม่มีการสวมชฎา

ชุมชนมอญสมุทรสาคร นาคมอญจะนุ่งผ้าม่วง (น้ำเงิน หรือเขียวปีกแมลงทับ) คาดเข็มขัดนาค ห่มสไบมอญสองผืนสีตัดกันและเหลื่อมกันเล็กน้อย ไม่เหลือง-ชมพู ก็ส้ม-เขียว หรือน้ำเงิน-เหลือง โดยจะห่มเบี่ยงไหล่ขวาด้านเดียวคล้ายพระสวมอังสะ มีผ้าปักพาดไหล่ซ้าย สวมต่างหูและทัดดอกไม้หูซ้าย สวมสร้อยคอ กำไลมือ กำไลเท้า แต่งหน้าทาปากอย่างสวยงาม

ชุมชนมอญบางกระดี่ กรุงเทพฯ แต่งกายใกล้เคียงกับนาคทางสมุทรสาคร เนื่องจากชุมชนอยู่ใกล้ชิดติดกันและมีบรรพชนบางส่วนเป็นคนกลุ่มเดียวกัน จึงมีวัฒนธรรมไม่ต่างกัน แต่มีรายละเอียดของพิธีในวันพานาคไปตระเวนลาศาลเจ้าที่ ศาลพ่อปู่ประจำหมู่บ้าน และญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ที่จะต้องมีเพื่อนนาคแต่งตัวติดตามไปด้วยจำนวนหนึ่ง

ชุมชนมอญราชบุรี สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี ใน 3 ชุมชนนี้มีการแต่งกายใกล้เคียงกัน เนื่องจากถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ราชบุรี ก่อนจะมีการอพยพย้ายถิ่นในภายหลัง และนาคในชุมชนทั้งสามนี้มีรายละเอียดการแต่งกายค่อนข้างมาก และต่างออกไปจากชุมชนมอญแห่งอื่นๆ นั่นคือ ในวันที่นาคตระเวนลาศาลเจ้าที่ในวัด อุปัชฌาย์ ศาลพ่อปู่ประจำหมู่บ้าน และกราบขมาลาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน รวมทั้งตอนจะเข้าโบสถ์ก็จะให้นาคขี่ม้าด้วย นัยว่าเป็นม้ากัณฐกะซึ่งเป็นเทวดาแปลงกายมาพาเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จทางหน้าต่างพระราชวัง เพื่อออกป่าก่อนทรงผนวชอย่างเมื่อสมัยพุทธกาล นอกจากนี้ จะแยกชุดนาคมอญออกเป็น ๒ ชุด สำหรับการแต่งกายในพิธีที่ต่างกัน คือ ชุดสำหรับวันลา นาคจะแต่งกายคล้ายมอญทางสมุทรสาครและบางกระดี่ ส่วนวันแห่เข้าอุโบสถเพื่ออุปสมบท นาคจะแต่งกายคล้ายนาคมอญในเมืองมอญ โดยการสวมครุยยาว ทับด้วยผ้าแพรลักษณะคล้ายอังสะหรือสายสะพายเบี่ยงไหล่ทั้งสอง รวมทั้งสวมชฎาเครื่องใหญ่บนศีรษะอย่างกษัตริย์

ชุมชนมอญพระประแดง สมุทรปราการ มีลักษณะการแต่งกายนาคต่างไปจากชุมชนมอญทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด โดยออกจะกระเดียดไปทางผู้หญิงมากกว่า ผ้านุ่งจะเป็นผ้าม่วงหรือผ้ายกดอกปักเลื่อมอย่างดี นุ่งแบบจีบหน้านาง มีชายพก ส่วนผ้าห่มนิยมใช้สไบจีบของผู้หญิงและห่มแบบผู้หญิง ทิ้งชายด้านหนึ่งไปข้างหลัง ดูรวมๆ แล้วจึงเหมือนชุดไทยจักรี น่าเชื่อได้ว่า การแต่งนาคในลักษณะดังกล่าวนี้ เกิดจากการที่ผู้หญิงเข้าทำหน้าที่จัดหาเครื่องแต่งกายและแต่งกายให้นาค ข้าวของผ้านุ่งผ้าห่มเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์จึงเป็นแบบผู้หญิงดังกล่าวข้างต้น บางคนเชื่อว่า เป็นการแต่งกายนาคที่จงใจให้คล้ายพุทธลักษณะของพระพุทธรูป ที่มีความงามละม้ายผู้หญิง พักตร์อิ่ม คิ้วก่ง อกผาย เอวกิ่ว แขนขาเรียว ดังนั้นความงามของนาคจึงทับซ้อนกับพระพุทธรูปที่มีความงามแบบผู้หญิง

ชุดแต่งกายนาคเณร (บวชลูกแก้ว) ในงานปอยส่างลองของชาวไตชุมชนวัดกู่เต้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 20-23 มีนาคม 2551

ขณะที่บางคนให้คำอธิบายใหม่ว่า เป็นเพราะผู้หญิงไม่สามารถอุปสมบทและเข้าร่วมพิธีในอุโบสถได้ โดยเฉพาะอุโบสถของวัดมอญนั้นห้ามผู้หญิงเข้าอย่างเด็ดขาด (ปัจจุบันวัดมอญในเมืองไทยยังคงธรรมเนียมปฏิบัตินี้ไว้เป็นเพียงบางวัด ขณะที่วัดมอญในเมืองมอญ ประเทศเมียนมาร์ ทุกวัดยังคงห้ามผู้หญิงเข้าอย่างเด็ดขาด ซึ่งความเป็นจริงแล้วทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็แทบไม่มีธุระอะไรที่จะต้องเข้าโบสถ์ เพราะเป็นเรื่องของสงฆ์ล้วนๆ สิ่งที่ฆราวาสต้องใช้สอยประจำคือวิหาร ที่ต้องไหว้พระสวดมนต์และนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ) และด้วยเหตุที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าอุโบสถเพื่อร่วมพิธีกรรมได้นี้เอง ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจึงจงใจแต่งกายให้นาคเป็นผู้หญิง เหมือนเป็นตัวแทนของฝ่ายหญิงในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาเพื่อพบนิพพานเช่นเดียวกับฝ่ายชาย

โดยสรุปแล้ว เหตุที่นาคมอญแต่งกายอย่างวิจิตรพิสดารนั้น สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่คนมอญอิงอยู่กับพุทธประวัติ กล่าวคือ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกทรงผนวช ฉลองพระองค์หน่อกษัตริย์ ทรงเครื่องมงกุฎ ประดับเพชรนิลจินดา ทรงมาบนหลังม้ากัณฐกะ เช่นเดียวกับปุถุชนในขณะที่ครองเพศฆราวาสแม้จะมีทรัพย์สินศฤงคารมากมายเพียงใด แต่เมื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็จำต้องสละสิ่งเหล่านั้นไปสู่เพศอันบริสุทธิ์ คนมอญจึงนำเอาพุทธประวัติมาเล่าผ่านพิธีบวชนาค ถือเป็นคติในการบวชนาค นาคมอญจึงถูกแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างวิจิตรพิสดาร จงใจให้งามราวรูปกษัตริย์หรือเทพดามาจุติ

ส่วนสาเหตุที่นาคมอญแต่งกายคล้ายผู้หญิง ก็น่าเชื่อได้ว่า เป็นเพราะส่วนหนึ่งมาจากการที่หน้าที่การแต่งตัวนาคมักจะเป็นของญาติฝ่ายหญิง ทั้งผ้านุ่ง ผ้าสไบ และเครื่องแต่งตัวก็หาหยิบยืมเอาจากบรรดาญาติพี่น้องที่เป็นผู้หญิงทั้งหลายเท่าที่มี ส่วนเครื่องประดับจำพวกแหวนกำไลสร้อยทองนั้นมีคนถอดให้ใส่ บางครั้งมากจนใส่ไม่ไหว (ให้ใส่เอาบุญเสร็จงานแล้วขอคืน) จะว่าแต่งให้สวยพิเศษสำหรับให้คนเจริญตานั้นก็น่าจะใช่ แต่หลักใหญ่ใจความแล้ว เป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพ ให้คนมองเห็น เข้าถึงพุทธศาสนาและคติที่แฝงให้คิด ชุดแต่งกายนาคมอญจึงกระเดียดไปทางผู้หญิงอย่างที่ว่ามา

ดังจะเห็นว่า พื้นที่ในการเข้าถึงพุทธศาสนาโดยตรงผ่านการปฏิบัตินั้นเป็นของเพศชาย ทุกวันนี้แม้จะมีความพยายามรื้อฟื้นภิกษุณีขึ้นใหม่ แต่ภิกษุชายก็ไม่ยอมรับ อ้างว่าศูนย์วงศ์ไปแล้ว พื้นที่ของเพศหญิงจึงจำกัดเฉพาะเรื่องศาสนาผี อันเป็นศาสนาดั้งเดิม พิธีกรรมตลอดรวมในขณะเป็นนาค รวมทั้งการแต่งกายนาคอย่างวิจิตรพิสดารด้วยมือผู้หญิงก่อนส่งต่อสู่พิธีอุปสมบท ซึ่งเป็นพิธีกรรมช่วงเปลี่ยนผ่านจากนาคสู่ร่มกาสาวพัสตร์ จึงถูกครอบครองโดยเพศหญิง

เพราะเป็นช่องทางที่เพศหญิงสามารถเข้าถึงพุทธศาสนาเช่นเดียวกับเพศชาย ที่ปรากฏร่องรอยในธรรมเนียมการแต่งสวยของนาคมอญและชาวอุษาคเนย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี


รายการอ้างอิง :

โครงการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์และวัฒนธรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2551. ไทใหญ่ : ความเป็นใหญ่ในชาติพันธุ์. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

สมัย สุทธิธรรม. 2531. ปอยส่างลอง. กรุงเทพฯ : คุรุสภา.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์, และคณะ. 2547 แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย Ethnolinguistic Maps of Thailand. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.

องค์ บรรจุน. 2558. “สืบตำนาน ‘พระทองนางนาค’ ในพิธีบวชนาคเขมร,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 37 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม).

______. 2560. “ปอยส่างลอง : บุญทานบารมีอเนกประสงค์ของชาวไต,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 38 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม) .


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2560