หนังสือดีที่คนไทย…ควรอ่าน!?

ในยุครัชกาลที่ ๗ เป็นยุคที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่องและเป็นยุคของนิยายสมัยใหม่ที่ละครแห่งชีวิต (๒๔๗๒) ของ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ คือผู้เปิดศักราช แม้ก่อนหน้านี้จะมีนิยายไทยเรื่องแรก ชื่อ ความไม่พยาบาท ของหลวงวิลาสปริวัตร ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ และนิยายอีกจำนวนหนึ่งตามมาหลังจากนั้น แต่ก็เป็นนิยายเพื่อความบันเทิงซึ่งเลียนแบบจากนิยายผจญภัญและเรื่องรักโศกของฝรั่ง มากกว่าจะเป็นนิยายประเภทที่สะท้อนชีวิตและสังคมอย่างสมจริงและมีเนื้อหาสาระ

ละครชีวิตไม่เพียงแต่เปิดโลกทัศน์ของคนไทยให้รู้จักชาวต่างประเทศในรูปนิยายโรแมนติกที่สวยงามประทับใจเท่านั้น หากยังเปิดฉากวิจารณ์ค่านิยมเก่าของสังคมเจ้าขุนมูลนาย การที่เจ้านายและขุนนางนิยมการมีเมียมาก ความเห่อยศเห่อความมั่งคั่ง นับเป็นการวิจารณ์ที่เสียงดังที่สุด (เป็นหนังสือพิมพ์ปกแข็งราคาสูงมากคือ ๒.๕๐ บาท เทียบกับข้าวสารกระสอบละ ๓ บาท และเป็นหนังสือขายดีพิมพ์ซ้ำ ๒ หน ใน ๑-๒ ปี ขายได้หลายพันเล่ม ในยุคที่มีคนไทยทั้งประเทศเพียง ๙-๑๐ ล้านคน)

นักเขียนร่วมสมัยอีก ๒-๓ ท่านที่ผลิตงานดีมาในยุคเดียวกันคือ ดอกไม้สด ศรีบูรพา และเวทางค์ สำหรับดอกไม้สดนั้นเลือกเรื่องหนึ่งในร้อย  แทนที่จะเป็นเรื่องผู้ดี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา เพราะคุณค่าของวรรณศิลป์และความเป็นธรรมชาติตรงไปตรงมา มากกว่าเรื่องผู้ดี ที่มีลักษณะแก้ต่างชั้นผู้ดีช่วงกำลังจะก้าวสู้ยุคตกต่ำ เพราะการเข้ามาของนายทุนหรือเศรษฐกิจใหม่ซึ่งเห็นได้ชัดกว่าในเรื่องข้างหลังภาพ (๒๔๘๐) สำหรับนิยายของศรีบูรพา เลือกเรื่องแลไปข้างหน้า (๒๔๙๘) แทนที่จะเลือกเรื่องข้างหลังภาพ ที่คนอ่านส่วนใหญ่นิยม เพราะเราเห็นว่าเป็นงานที่แสดงถึงวุฒิภาวะทางความคิดและความเป็นตัวตนของศรีบูรพาได้กว้างไกลกว่าข้างหลังภาพ

เวทางค์ (ทองอิน บุณยเสนา) เป็นนักเขียนนิยายและเรื่องสั้นรุ่นแรกๆ ที่ถูกลืมไปอย่างน่าเสียดาย ดำรงประเทศ ซึ่งเขียนในปี ๒๔๗๔ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ท่วงทำนองเป็นแบบเทพนิยายแต่เนื้อหากล่าวถึงปรัชญาแห่งสันติภาพ การเป็นรัฐบาลที่ดี การให้ความสำคัญแก่บทบาทของผู้หญิง ที่มีแนวคิดที่ก้าวหน้ามากกว่านักเขียนไทยส่วนใหญ่ในยุคใกล้เคียงกัน

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ จนถึงการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ในปี ๒๕๐๑ เป็นช่วงที่คนไทยพยายามพัฒนาประชาธิปไตย และสร้างประเทศให้ทันสมัยแบบประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก เป็นยุคทองของนิยาย เรื่องสั้น บทกวี ที่สะท้อนทั้งสังคมและความงามของชีวิต นักเขียนเด่นๆ ในยุคนี้มีทั้งเชื้อพระวงศ์ ปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์และสามัญชน ที่ส่วนใหญ่เรียนแค่ชั้นมัธยมปลาย แต่เรียนรู้จากชีวิตจริงและจากการอ่านอย่างกว้างขวาง งานเขียนของพวกเขามีความหลากหลายและมีคุณภาพทั้งในเชิงวรรณศิลป์และในเชิงสะท้อนชีวิตและสังคมในยุคนั้น

ในยุคที่มหาวิทยาลัยสำหรับคนส่วนใหญ่คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพิ่งตั้งในปี ๒๔๗๗ คนที่เรียนจบมัธยมในยุคนั้นถือได้ว่ามีความรู้ระดับสูงแล้วบางทีโรงเรียนมัธยมสมัยนั้นคงจะมีคุณภาพสูงกว่าโรงเรียนมัธยมสมัยนี้ หรืออย่างน้อยนักเรียนมัธยมสมัยนั้นอ่านหนังสือกันจริงจังมากกว่านักเรียนมหาวิทยาลัยสมัยนี้ และความรักในความรู้ในหมู่พวกเขาหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นยุคของการเปิดประเทศเข้าสู่สังคมโลกเพิ่มมากขึ้น

แม้ว่าหนังสือจะมีราคาสูง เทียบค่าครองชีพ เช่น ราคาข้าวสารในยุคนั้น แต่กิจกรรมการอ่าน การเขียน การพิมพ์หนังสือก็เป็นกิจกรรมที่ผู้คนที่ใฝ่หาความรู้ในยุคนั้นเข้าร่วมอย่างคึกคัก

ช่วงหลัง ๒๔๗๕ ถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๒๔๘๕-๒๔๘๘) บรรยากาศทางการเมืองอาจจะแบ่งเป็นฝ่ายนิยมระบอบเก่ากับฝ่ายนิยมประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่งานวรรณกรรมในยุคนั้นไม่ได้สะท้อนจุดยืนแบบขาวดำอย่างสุดโต่ง วรรณกรรมในช่วงเริ่มเปิดรับความคิดเสรีประชาธิปไตยมีความหลากหลายน่าสนใจมาก นับตั้งแต่เรื่องแบบลูกทุ่งและเรื่องอิงประวัติศาสตร์ของไม้ เมืองเดิม ซึ่งเราคิดว่าบางระจันทร์ (๒๔๗๙) เป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของเขา นิยายผจญภัยโรแมนติกผู้ชนะสิบทิศ (๒๔๗๔) ของยาขอบ พล นิกร กิม หงวน เรื่องตลกล้อเลียนชีวิตและสังคมของ ป.อินทรปาลิต เรื่องโรแมนติกแฝงปรัชญาชีวิต เช่น ปักกิ่งนครแห่งความหลัง (๒๔๘๖) ของ สด กูรมะโรหิต เรื่องสะท้อนชีวิตและสังคมเมืองอย่างหญิงคนชั่ว (๒๔๘๐) ของ ก.สุรางคนางค์ โคลงกลอนที่สะท้อนชีวิตค่านิยมและสังคม ที่กำลังเปลี่ยนแปลงของครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) ปัญญาชนสำคัญคนหนึ่งของยุคนั้น


บางส่วนจากบทความ : “หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน”. โดย วิทยากร เชียงกูล. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม ๒๕๔๑