วัดส่วนใหญ่ ใช้ “เซียมซี” เสี่ยงทาย แต่วัดจอมศรี ที่เชียงคาน ใช้ “พระเสี่ยง”

พระพุทธรูป พระเสี่ยง วัดจอมศรี จังหวัดเลย
พุทธลักษณะของพระพุทธรูปพระเสี่ยง วัดจอมศรี กับฉากหลังเป็นอุโบสถวัดจอมศรี ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระเสี่ยง (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560)

วัดจอมศรี บ้านนาสี ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่วัดนี้เมื่อชาวบ้านมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจมักจะไปอธิษฐานขอพรและทำเครื่องบูชาไปเสี่ยงทายกับ “พระพุทธรูป” ขณะที่วัดอื่นทั่วไปใช้ “เซียมซี” จึงเรียกพระพุทธรูปดังกล่าวว่า “พระเสี่ยง”

พระเสี่ยงเป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงรวมฐาน 45 เซนติเมตร รูปแบบพุทธศิลป์แบบล้านช้างเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย พระกรรณ (หู) ใหญ่ และกางออกด้านข้างคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ และริมพระโอษฐ์เล็ก เม็ดพระศกกลมเล็ก พระอุระนูนเล็กน้อย สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดตรง ยาวลงมาจรดพระนาภี นิ้วพระหัตถ์เรียวและปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน

ชาวบ้านเล่าว่า เดิม “พระเสี่ยง” ประดิษฐานอยู่ในถ้ำพระบนภูเขาทางทิศตะวันออกของชุมชนบ้านนาสี ต่อมาอัญเชิญลงมาประดิษฐานไว้ที่วัดจอมศรี แต่เป็นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัด เดิมพระเสี่ยงประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดจอมศรี ผู้ศรัทธาสามารถเดินทางมาอธิษฐานเสี่ยงทายได้ตลอด

หากภายหลัง เกิดความ “เสี่ยง” ขึ้นกับองค์พระ เนื่องจากคนร้ายโจรกรรมพระรัศมีของพระเสี่ยงไป จึงทำให้มีการอัญเชิญพระเสี่ยงไปเก็บรักษาในสถานที่ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ เช่น การอัญเชิญไปประดิษฐานตามบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชน และมีการหมุนเวียนที่ประดิษฐานไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการถูกโจรกรรม

ปัจจุบัน การอัญเชิญพระเสี่ยง วัดจอมศรี ออกมาให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้สักการะ และยกเสี่ยงทายจึงมีเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น คือ ในงานบุญประจำปีของวัดจอมศรี ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 3 และวันที่ 13 เมษายน เพื่อสรงน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์

โดยวิธีการเสี่ยงทายสามารถกระทำได้ด้วยการอธิษฐานแล้วยกองค์พระเสี่ยงขึ้น หากว่าการอธิษฐานนั้นจะสำเร็จผล องค์พระพุทธรูปก็จะมีน้ำหนักเบา สามารถยกขึ้นได้โดยง่าย หากมีน้ำหนักมากยกไม่ได้ เรื่องที่เสี่ยงอธิษฐานก็คงสำเร็จได้ยาก ในการอธิษฐานเสี่ยงทายครั้งหนึ่งนั้น สามารถอธิษฐานยกเสี่ยงทายได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อคน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ธีระวัฒน์ แสนคำ. “พระเสี่ยง วัดจอมศรี กับศรัทธาแห่งบ้านนาสี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2567