ผู้เขียน | พัชรเวช สุขทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
ที่มาของการ “ปิดทองพระสงฆ์” เรื่องแปลกเกี่ยวกับ หลวงพ่อแช่ม สังฆปาโมกข์ พระเกจิดังในภูเก็ต
หลวงพ่อแช่ม สังฆปาโมกข์ หรือ พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี เป็นพระเกจิชื่อดังแห่งวัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) จังหวัดภูเก็ต จนปรากฏชื่อในคำขวัญประจำจังหวัดภูเก็ต “ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม” ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ที่ต่างให้ความเคารพและนับถือ และด้วยความเลื่อมใส จึงมีผู้คนมาขอปิดทองบนร่างกายของท่านทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่
เหตุที่ผู้คนได้ขอปิดทองกับหลวงพ่อนั้น เกิดจากชาวเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ประมาณสี่ถึงห้าคนออกหาปลาในทะเล และเจอพายุลูกใหญ่ จนเรือใกล้จะล่ม จึงมีคนหนึ่งออกปากบนว่า “ถ้ารอดชีวิตได้จะปิดทองขรัวพ่อวัดฉลอง” ลมพายุได้สงบลงทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ใจ
คนกลุ่มนั้นจึงมาขออนุญาตแก้บนด้วยวิธีการปิดทอง กิตติศัพท์ของ “หลวงพ่อแช่ม” จึงได้กระจายออกไปว่ามีชาวเรือรอดตายเพราะการบนด้วยวิธีนี้ จึงมีผู้อื่นทำตาม ถ้าเกิดเหตุเดือดร้อนหรือเจ็บไข้ ก็จะบนถึงเรื่องการปิดทอง เพื่อที่จะให้ตนสมหวังในเรื่องต่างๆ จึงเกิดการปิดทองหลวงพ่อแช่มตั้งแต่นั้นมา
การที่หลวงพ่อแช่มยอมให้ปิดทอง เพียงเพราะว่าท่านเชื่อเรื่องการบนบานศาลกล่าว และเกรงว่าจะเกิดเหตุร้ายแก่ผู้ที่บน บาปก็จะตกอยู่กับตัวท่าน การปิดทองจะปิดทองคำเปลวที่หน้าแข้ง ปิดแค่แผ่นเล็กๆเท่านั้น พอคนกลับจึงล้างออก
แม้หลวงพ่อแช่มท่านมรณภาพไปนานแล้ว ก็ยังมีผู้ที่เชื่อในเรื่องอภินิหาร จึงมีการบนบาลศาลกล่าวอยู่เรื่อยมา เมื่อสมหวังก็จะปิดทองบนภาพถ่ายของหลวงพ่อจนเต็มไปทั่วทั้งแผ่น เว้นไว้เพียงแต่บริเวณหน้าของหลวงพ่อเท่านั้น…
อ่านเพิ่มเติม :
- “หลวงพ่อนวม” บุกเบิกการศึกษา กำเนิดโรงเรียนดัง “ศึกษานารี-มัธยมบ้านสมเด็จฯ”
- “หลวงพ่อคูณ” กับ “วัตถุมงคล” สิ่งบำรุงศาสนา เครื่องกระตุ้นเตือนใจ หรือช่วยให้รอดปลอดภัย?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หนังสือ “นิทานโบราณคดี”. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ดอกหญ้า. 2543
หนังสือ “เหรียญมงคล 77 จังหวัด”. กองบรรณาธิการข่าวสด. มติชน. 2553
เผนแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2560