ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ชีช้ำ” หรือบ้างที่พูดกันว่า “ชีช้ำกะหล่ำปลี” ศัพท์/สำนวน ที่หน้าตาก็ดูไท้ยไทย แต่เป็นคำไทย ไม่ได้มาจากการร่วมกันคำไทยอย่าง ชี-นักบวช กับ ช้ำ-น่วมระบมเพราะถูกกระทบกระแทกอย่างแรง หากเป็นคำยืมจากภาษาจีน ที่แหกกฎง่ายๆ หนึ่งที่ใช้สังเกตคำยืมจากภาษาจีน คือ มักใช้ไม้ตรี ( -๊ ) ไม้จัตวา ( -๋ ) สะกดออกเสียง
พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ไม่ได้เก็บศัพท์คำนี้ หาก พจนานุกรมฉบับมติชน เก็บคำและอธิบายว่า “ก.เสียใจ, เจ็บใจเงียบอยู่, ชีช้ำกะหล่ำปลี ก็ว่า. (จ.)” ทั้งยืนยันว่า ชีช้ำมาจากภาษาจีน
ชีช้ำเป็นการคำยืมจากมาภาษาแต้จิ๋วที่ว่า “ชีช่ำ” ที่สำเนียงคงไม่คุ้นหู จึงเพี้ยนเป็น “ชีช้ำ”
ภูมิหลังของชีช้ำคำนี้ ต่างจากภาษาแต้จิ๋วบางคำที่เป็นภาษาพูดไม่มีตัวอักษร หรือในภาษาจีนกลางและภาษาถิ่นอื่นๆ อาจไม่ใช้ความหมายไม่ตรงกัน หรือเขียนด้วยตัวอักษรอื่น ขอยกตัวอย่างที่คำคุ้นเคยสำหรับสังคมไทย เช่น บ่มิไก๊-ไม่มีอะไร, แต๊ะอั๋ง-การฉวยโอกาส ถูกเนื้อต้องตัวผู้หญิง ในภาษาจีนกลางหรือภาษาถิ่นอื่น ใช้ศัพท์คำอื่น หรือเขียนด้วยตัวอักษรอื่นๆ
ในประเทศจีน ชีช้ำรู้จักกันทั่วไปใช้กันแพร่หลายในความหมายที่ตรงกัน เพียงแค่แต่ละถิ่นออกเสียงต่างกันไป ในภาษาจีนกลางซึ่งเป็นภาษาทางการอ่านว่า “ชีฉ่าน (淒慘)” มีความหมายว่า ทุกข์ระทม, เศร้าเสียใจ, เจ็บปวดรวดร้าวทางใจ ฯลฯ
แต่ถ้าถอยกลับไปดูอักษรแต่ละตัว “ชี (淒)” แปลว่า หนาวยะเยือก, เงียบเหงาวังเวง, เศร้ารันทด ส่วน “ฉ่าน/ช้ำ (慘)” แปลว่า ยากลำบาก, โหดร้าย, รุนแรงอย่างยิ่ง ซึ่งคงสรุปเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากว่ารวมแล้วชีช้ำจริงๆ
แล้วทำไมต้อง “ชีช้ำกะหล่ำปลี”
เรื่องนี้เป็นการเล่นคำ เป็นความเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย เหมือนอีกหลายคำที่คุ้นหู เช่น “กุ้งแห้ง” ที่ใช้เรียกคนผอมๆ แล้วต่อท้ายว่า “กุ้งแห้งเยอรมัน” ทั้งที่เยอรมันไม่มีกุ้งแห้ง, “อึ้ง” ก็ต้องเป็น “อึ้งกิมกี่” (ที่ไม่อะไรกับร้านอึ้งกิมกี่ี่มีอยู่จริง) , “ดี” เป็น “ดีเลิศประเสริฐศรี” ฯลฯ
แต่ที่ทำให้ “ชีช้ำกะหล่ำปลี” เป็นคำพูดติดปาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศิลปินหลายคนใช้คำพูดนี้เป็นชื่อเพลง หรือเนื้อร้อง
เริ่มจาก เพลง “ชีช้ำกะหล่ำปลี” ของชาย เมืองสิงห์ นักร้องลูกทุ่งอมตะ แม้จะไม่มีคำว่าชีช้ำกะหล่ำปลีในเนื้อร้อง แต่ฟังแล้วก็ชีช้ำเอาการอยู่
“เธอเป็นแฟนใครที่ไหนมาก่อน รอยร่อนรักสำส่อน ขวัญอ่อนเกินไป ชวนชมเชยชิมเหมือนพิลาไล อยากเป็นวันทองสองใจ หรือไรเล่าแม่คุณ เคยกินเคยนอนเคยอ้อนเคยออด เคยแค่นแคะค่อนขอด อ้อนออดอกอุ่นอุ่น เรามีพยานรักกันแล้วนะแม่คุณ ยอมเสื่อมยอมเสียเพราะหมกมุ่นยอมขาดทุนหรือเนื้อทอง
จะมีจะจนพี่ก็ทนเลี้ยงได้ เพียงน้องอย่านอกใจ ให้อายคนมอง มิใช่ตัวเปล่าจงนึกว่าเรานั้นมีเจ้าของ แล้วจะให้ชายอื่นมาครอง พี่จะมองหน้าใครได้ จะเป็นคนดีหรือเลวมาก็ช่าง เมื่อมาเป็นฝาเป็นฝั่งร้อยชั่งควรภูมิใจ ยามจนควรเจียมรักเทียมหรือยังไง ผัวใครเมียใครจำไว้ให้แม่นยำ
จะเป็นเมียใครรักใครกันแน่ ชายชอกช้ำย่ำแย่ได้แต่ชีช้ำ รักเดียวใจเดียวสายเกลียวมัดจองจำ ต้องขื่นขมจนหน้าดำ ต้องนอนชีช้ำขาดคู่ชม”
เพลง “รักโกหก” ของ ดอน สอนระเบียบ แห่ง วง P.M. 5 ที่ผลงานสร้างชื่อ เช่น เก้าล้านหยดน้ำตา, สวรรค์ปิด, ไม่รักแกล้งหลอก ฯลฯ ที่เนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า “ชีช้ำ ชีช้ำกระหล่ำปลี”
“ฉันรักเธอ ฉันรักยิ่ง ฉันรักเธอเหนือสิ่งทั้งปวง แต่เธอกลับมาหลอกมาลวง ว่าเธอคู่ควงไม่มี ชีช้ำ ชีช้ำกระหล่ำปลี รักของเธอฉันหลงเชื่อ โถแท้จริงรักเพื่อสำรอง หากรู้ก่อนคงไม่ใฝ่ปอง ให้ใจหม่นหมองอย่างนี้ ชีช้ำ ชีช้ำกระหล่ำปลี
เธอรักใคร ทำไมไม่เคยบอกฉันสักคำ ทำเหมือนมีเยื่อใยต่อฉัน ให้ฝันให้ฝันละเมอ ฉันเลยตั้งความหวังเลิศเลอ เพ้อทั้งปี เธอมีอีกกี่คนเพิ่งรู้นับดูที
เจ็กหนอซาสองสามสี่ วันทูรทรีสามสี่ห้าหก กี่คนนี่ที่ได้หยิกยกโกหกว่ายังไม่มี ชีช้ำ ชีช้ำกระหล่ำปลี เจ็กหนอซาสองสามสี่ วันทูรทรีสามสี่ห้าหก กี่คนนี่ที่ได้หยิกยกโกหกว่ายังไม่มี ชีช้ำ ชีช้ำกระหล่ำปลี ”
ตัวอย่างสุดท้าย เพลง “กะหล่ำปลี” ของโจอี้ บอย แร็ปเปอร์ชื่อดัง ก็มี “ชีช้ำกะหล่ำปลี” ในเนื้อเพลงเช่นกัน
“ท่องไปในยามราตรี สะดวกสบายสิ้นดี ขาดไปเพียงอย่างไม่มี คือขาดคู่ชมสมฤดี ก็ใครต่อใครน่ะเขาคู่กัน บอกรักสัมพันธ์ทุกที ส่วนฉันต้องอยู่เพียงคนเดียว ไม่มีตัวเธอมาเจ๊าเจี๊ยว เงียบเหงาสิ้นดี
โธ่ เธอเดินมาแล้วเดินจากไป กี่ทีกี่หนไม่เคยสนใจ จะให้ทำใจยังไง เดินมาแล้วก็เดินจากไป แค่อยากมีใครที่ใจ ไปเที่ยวกันไหม ถ้าเธอโอเคฉันก็ดี ถ้าเธอว่าไม่คงชีช้ำกะหล่ำปลี
ท่องไปในยามราตรี บรรยากาศแสนดี หากมีหน้ามลยิ่งดี จะพาไปกินเกี๊ยมอี๋ ก็ใครต่อใครน่ะเขาคู่กัน บอกรักสัมพันธ์ทุกที ส่วนฉันต้องอยู่เพียงคนเดียว ไม่มีตัวเธอมาเจ๊าเจี๊ยว เงียบเหงาสิ้นดี
โธ่เธอเดินมาแล้วเดินจากไป กี่ทีกี่หนไม่เคยสนใจ จะให้ทำใจยังไง เดินมาแล้วก็เดินจากไป แค่อยากมีใครที่ใจ ไปเที่ยวกันไหม ถ้าเธอโอเคฉันก็ดี ถ้าเธอว่าไม่คงชีช้ำกะหล่ำปลี”
ส่วน “กะหล่ำปลี” เปลี่ยนเป็น กวางตุ้ง, คะน้า, โหระพา ฯลฯ ได้ไหม นี่ก็ต้องลองดู
อ่านเพิ่มเติม :
- เจียว (焦) ไข่ เมื่อคำจีนกลายเป็นคำไทย คำ “เจียวไข่” มาจากไหน?
- เฉ่ง คำจีนที่ไม่ได้เกิดจากการด่าแต่มาจากการเก็บภาษีช่วงต้นรัตนโกสินทร์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก วรศักดิ์ มหัทธโนบล. คำจีนสยาม ภาพสะท้อนปฏิสัมพันธ์ไทย-จีน, สำนักพิมพ์อัมรินทร์, กันยายน 2555.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2567